×

รู้จัก PMK POLOMAKER จากธุรกิจ OTOP สู่แบรนด์ตัวท็อปของวงการผู้ผลิตยูนิฟอร์ม [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2024
  • LOADING...
PMK POLOMAKER

ก่อนที่ ‘PMK POLOMAKER’ จะส่งมอบสินค้ากว่า 1,000,000 ตัวให้กับ 10,000 องค์กรต่อปี จนได้รับความไว้วางใจในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสร้างแบรนด์ เสื้อโปโล ยูนิฟอร์ม แบบครบวงจรอันดับต้นๆ ของไทย ธุรกิจของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นจาก ‘จักรเย็บผ้าของคุณแม่’ 

 

“ถ้านับจริงๆ ก็ปี 2534 ที่คุณแม่เริ่มรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าโหลจากที่บ้าน อีกส่วนหนึ่งก็ส่งงานให้กับคนในชุมชน” สุรศักดิ์ จิตรบวรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ PMK POLOMAKER ทายาทรุ่นสอง เริ่มเท้าความ 

 

“งานทั้งหมดเราส่งไปที่โบ๊เบ๊ พอธุรกิจเริ่มไปได้ดีก็เปิดหน้าร้านที่โบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ เมื่อปี 2546 ใช้ชื่อ POLO OTOP” 

 

สุนิสา จิตรบวรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ PMK POLOMAKER เล่าเสริมว่า “พอรุ่นเราเข้ามาดูธุรกิจเต็มตัวก็เริ่มมองเรื่องการขยายตลาด เพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจเสื้อโปโล ยูนิฟอร์ม กำลังได้รับความนิยม เข้ามาแทนที่เสื้อเชิ้ตยูนิฟอร์มที่เป็นทางการ เราอยากให้ลูกค้าจดจำว่าเราคือผู้เชี่ยวชาญในการทำเสื้อโปโล ยูนิฟอร์ม จึงรีแบรนด์เป็น ‘POLOMAKER’” 

 

 

Omni-Channel ผู้มาก่อนกาล 

 

ถ้า Omni-Channel หมายถึงการทำการตลาดที่รวมช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน POLOMAKER ในยุคนั้นก็น่าจะเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ทำ Omni-Channel ก่อนใคร 

 

“เมื่อก่อนเวลาใครจะสั่งผลิตเสื้อโปโลหรือเสื้อยูนิฟอร์มก็จะต้องไปโบ๊เบ๊ แต่ก็มีลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่สะดวกเดินทางมา เรามองจุดนี้เป็นโอกาส ประกอบกับช่วงนั้นการตลาดออนไลน์เริ่มเข้ามา จึงตัดสินใจปรับดีไซน์เว็บพร้อมปรับภาพลักษณ์ทั้งหมด ใส่ข้อมูลที่ลูกค้าอยากรู้ บอกว่าเรามีสินค้าอะไรและมีบริการอะไรบ้าง ภาพทุกภาพบนเว็บไซต์ก็เป็นภาพที่ถ่ายจากสินค้าจริง และเริ่มลงโฆษณาใน Pantip, Sanook และ Google

 

“ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะลูกค้ารู้จักแบรนด์มากขึ้น กลายเป็นว่าลูกค้าเป็นฝ่ายติดต่อมาเอง ด้วยความที่ธุรกิจเราเป็นสินค้าบวกบริการ หรือจะพูดว่าบริการนำตัวสินค้าก็ได้ เพราะเป็นการสั่งผลิตที่ต้อง Customize ไปตามโจทย์ของลูกค้า การให้คำปรึกษากับลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากๆ” สุนิสาบอก 

 

ปัจจุบันพนักงานขายกว่า 30 คนจะต้องได้รับการเทรนก่อนทำงานจริง เพื่อซัพพอร์ตลูกค้าได้ทุกเรื่องและตอบได้ทุกคำถาม สุรศักดิ์เล่าต่อว่า กลยุทธ์คือใช้ออนไลน์เป็นตัวเปิด ทำให้ลูกค้าเห็นและรู้จัก แล้วค่อยดึงลูกค้ากลับมาออฟไลน์ 

 

“เราเรียกโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายสินค้าทั่วประเทศในตอนนั้น”

 

สุนิสาเสริมว่า การใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในยุคที่คนยังมีกำแพงกับการซื้อขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต “ต่อให้ลูกค้ารู้ข้อมูลทั้งหมดผ่านเว็บไซต์แต่เขาก็ยังอยากจับเนื้อผ้าอยู่ดี ถ้าใครไม่สะดวกมาหน้าร้านเราก็มีบริการส่งตัวอย่างผ้าไปให้ถึงที่ แม้กระทั่งการทำกราฟิกส่งให้ลูกค้าดูก่อนผลิตจริง ทุกวันนี้กลายเป็นมาตรฐานของธุรกิจนี้ไปแล้ว” 

 

 

การมาถึงของคู่แข่ง 

 

“บางคนคิดว่าการเข้ามาในธุรกิจนี้มันง่าย ถ้าเข้ามาเพื่อหวังกำไรมันไม่ยั่งยืน ถ้าจะยืนระยะได้นานต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและหาตลาดของตัวเองให้เจอ” 

 

สุรศักดิ์บอกว่า กลุ่มลูกค้ากว่า 70% ของแบรนด์เป็นกลุ่มลูกค้า SMEs และสตาร์ทอัพ มีแค่ 20% ที่เป็นลูกค้าองค์กรใหญ่ ที่เหลือคือลูกค้าซื้อปลีก 

 

“เป็นเรื่องดีที่กลุ่มลูกค้า SMEs และสตาร์ทอัพให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการก่อน ประกอบกับจุดแข็งของเราคือความยืดหยุ่นของระยะเวลาการผลิต และจำนวนออร์เดอร์ที่สามารถเริ่มต้นขั้นต่ำ 20 ตัวได้ ที่สำคัญเราสามารถทำราคาที่จับต้องได้ จึงตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้อย่างมาก” 

 

สุนิสาเล่าเสริมว่า “เมื่อก่อนถ้าใครจะสั่งผลิตเสื้อโปโลในตลาดขั้นต่ำคือ 300 ตัว เราเป็นแบรนด์แรกๆ ที่รับผลิตขั้นต่ำ 60 ตัว จนปัจจุบันเริ่มต้น 10-20 ตัวก็มี” 

“นโยบายที่เรายึดถือมาตลอดคือ สินค้าต้องส่งมอบตรงเวลา คุณภาพต้องได้มาตรฐาน ราคาสมเหตุสมผล และตอบสนองลูกค้าด้วยความรวดเร็ว” สุรศักดิ์กล่าว 

 

แต่พอทำธุรกิจมาสักระยะ โจทย์ใหม่ก็เข้ามาทำให้สองผู้บริหารต้องทบทวนกลยุทธ์ใหม่ 

 

PMK POLOMAKER

 

“โจทย์แรกคือ พอตลาดขยาย ลูกค้าเพิ่ม เราก็เริ่มขยายไปสินค้ากลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด หมวก เสื้อช็อป แจ็กเก็ต ถ้ายังใช้แบรนด์ POLOMAKER เราจะสลัดภาพธุรกิจที่รับผลิตแต่เสื้อโปโลไม่ได้ จึงตัดสินใจรีแบรนด์อีกครั้งเป็น PMK POLOMAKER พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้า”

 

สุนิสาเล่าต่อว่า ช่วงแรกๆ สินค้าบางอย่างที่ยังไม่ได้ขึ้นไลน์ผลิต ถ้าลูกค้าต้องการจะรับหน้าที่หาให้ โดยใช้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์เป็นตัวการันตีคุณภาพ “ตอนนี้สินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาดในไทยเยอะมาก แต่ถึงราคาจะถูกบางทีคุณภาพก็ไม่ได้ วิธีของเราคือนำเข้าสินค้าจากจีนเลย เช่น หมวก แจ็กเก็ต เพื่อเป็นทางเลือกเรื่องราคาให้กับลูกค้า แล้วเพิ่มการ QC เข้าไป พร้อมทั้งรับประกันสินค้าเหมือนกับสินค้าที่เราผลิต แต่ถ้าอยากได้หมวกหรือแจ็กเก็ตที่แบรนด์ผลิตราคาก็จะต่างกันไป” 

 

จุดเริ่มต้นของ PMK PROMPT พร้อมสั่งได้ในสไตล์คุณ 


“ปัญหาต่อมาคือ ลูกค้าต้องการสินค้าเร็วกว่าที่เราจะผลิตทัน” สุรศักดิ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโมเดล ‘PMK PROMPT’ ว่าเคยมีลูกค้าต้องการยูนิฟอร์ม 1,000 ตัวใน 7 วัน ซึ่งเราก็ไม่อยากเร่งผลิตจนลดคุณภาพ เป็นที่มาของการแตกไลน์ผลิตสินค้าสต็อกเสื้อสำเร็จรูปพร้อมขาย พร้อมแผนกย่อยรับปัก-สกรีน เพื่อรองรับงานจำนวนน้อย งานด่วน และงานที่หลากหลาย เพิ่มความคล่องตัวในการผลิตและจำหน่ายสินค้า หากมีออร์เดอร์สั่งผลิตจำนวนมากก็ไม่ส่งผลกระทบ” 

 

 

สุรศักดิ์ยังมองว่า PMK PROMPT จะมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าและแบรนด์ให้เข้าถึงกันง่ายขึ้น ทั้งในแง่ของการเข้าถึงสินค้าที่ง่ายด้วยการขยายกลุ่มไปยังค้าปลีก และยังง่ายในการต่อยอดธุรกิจ

 

“เราได้ออร์เดอร์จากลูกค้าที่เข้าช็อป PMK PROMPT เป็นจำนวนมาก เพราะอย่างที่บอกว่าเราเทรนพนักงานขายให้ซัพพอร์ตลูกค้าได้ทุกความต้องการ แต่ถ้าความต้องการเริ่มซับซ้อนจะมีพนักงานออนไลน์ที่พร้อมให้ข้อมูลด้วยเช่นกัน” 

 

ปี 2567 นอกจาก PMK POLOMAKER จะเปิดศูนย์กระจายสินค้าและผลิตงานด่วนที่เมืองทองธานี ยังเปิด PMK PROMPT 2 สาขา คือที่สาขาศรีราชาและสาขาชลบุรี 2 

 

ผู้มาก่อนกาลด้าน ‘นวัตกรรมผ้า’

นอกจากจะเป็นผู้มาก่อนกาลในการทำตลาดแบบ Omni-Channel แล้วอาจเรียกได้ว่า PMK POLOMAKER เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมผ้า เพราะเป็นเจ้าแรกที่นำเข้านวัตกรรมผ้า Coolplus ใส่สบายและระบายอากาศดี ไม่ขึ้นขุยตลอดการใช้งาน 

 

PMK POLOMAKER

 

“อย่างนวัตกรรมผ้าแนวกีฬา (Flexplus Antibac) เรานำเข้ามาก่อนโควิด เนื้อผ้าแห้งเร็วกว่าเสื้อกีฬาปกติถึง 4 เท่า ใส่สบาย ระบายอากาศดี น้ำหนักเบา ที่สำคัญเป็นผ้าที่เคลือบสารต้านแบคทีเรียที่เกิดจากเหงื่อ (Bact Shield)” 

 

สุนิสาบอกว่า หน้าที่ของ PMK คือการคัดสรรนวัตกรรมผ้าที่ดีและตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งบางครั้งลูกค้าก็เป็นคนที่ทำให้แบรนด์รู้ว่าจะต้องจับเทรนด์ไหน 

 

“อย่างตอนนี้ เทรนด์นวัตกรรมผ้าที่ลูกค้าสนใจมากคือผ้าแนวกีฬา สวมใส่สบาย แห้งไว ซับเหงื่อดี ไม่ต้องรีดยิ่งดี แต่พอมาเป็นยูนิฟอร์มผ้าแนวเสื้อกีฬาอาจไม่ตอบโจทย์ นี่ก็เป็นโจทย์ของแบรนด์ที่จะต้องคัดสรรวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ความต้องการ อีกเทรนด์ที่มาสักพักคือนวัตกรรมผ้ารักษ์โลก จริงๆ เราเริ่มมีเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้ารีไซเคิลมาสักพักแล้ว แต่ปีนี้เริ่มมีมากขึ้น” สุนิสากล่าว  

 

‘ดูดีแล้วต้องดูแลโลก’ ที่มาของ PMK Green Project 


สุรศักดิ์บอกว่า PMK POLOMAKER ในฐานะผู้ผลิตให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาสักระยะ ทั้งการรีไซเคิล ลดการใช้พลังงาน ติดโซลาร์รูฟท็อป ไปจนถึงการนำนวัตกรรมผ้ารีไซเคิลมาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่สนใจ

 

“เราเริ่มหันกลับมามองตัวเองในฐานะผู้ผลิตเสื้อผ้า ว่าจะสามารถรับผิดชอบหรือลงมือเรื่องความยั่งยืนอย่างไรได้บ้าง ก็มีการคุยกับทีมการตลาดว่าควรมีนโยบายขับเคลื่อนชัดเจน เป็นที่มาของโปรเจกต์ ‘PMK Green’ โดยเริ่มจากบริหารจัดการทรัพยากรและกระบวนการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในองค์กรก่อนด้วยหลัก 5R เพื่อให้คนในองค์กรเข้าใจและตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืน” 

 

หลัก 5R ที่ว่า ประกอบไปด้วย 

 

  • Reuse นำทรัพยากรที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า กระสอบ หรือกล่อง
  • Refurbishment เสียก็ซ่อมนำกลับมาใช้ใหม่ สินค้าเกรด B หรือการซ่อมแซมเก้าอี้สำนักงานที่ชำรุด 
  • Reduce ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ผลพลอยได้คือของเสียลดลง รวมไปถึงต้นทุนในการผลิต 
  • Recycle นำทรัพยากรเหลือใช้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล นำกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จับมือกับพาร์ตเนอร์ 
  • Rethink เป็นตัวผลักดัน 4R เราเริ่มจากสร้างความตระหนักรู้ให้กับทีมบริหารก่อนเพื่อผลักดันนโยบายนี้ออกไป รวมถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อเป็นพลังงานสะอาดทดแทนพลังงานที่เกิดจากฟอสซิล สามารถลดค่าใช้ไฟได้มากกว่า 50% 

 

“เราเองก็มีความตั้งใจที่จะลงมือทำเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการบริหารจัดการภายในองค์กร ยิ่งตอนนี้ลูกค้าถามหาสินค้ากรีนมากขึ้น ซึ่งน่ายินดีที่เสียงส่วนใหญ่มาจากลูกค้ากลุ่ม SMEs ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเรา หลายเจ้ามีความคิดเรื่องความยั่งยืนที่คิดแบบจริงจังและจริงใจเยอะมาก เพียงแต่เขาเข้าไม่ถึงสินค้าเหล่านี้ เราเองก็มองตรงนี้เป็นโอกาส”

 

 

สุรศักดิ์ยังบอกด้วยว่า หลัก 5R ต้องผสมผสานไปกับการทำธุรกิจ ‘เพราะธุรกิจต้องมีกำไรถึงจะยั่งยืนอย่างแท้จริง’

  

การเลือกพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้แผนการขับเคลื่อนธุรกิจได้ทั้งกำไรและได้ใจผู้บริโภคสายกรีน สุนิสาบอกว่า ตอนนี้จับมือกับ ‘SC Grand’ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสิ่งทอรีไซเคิล รวมถึง ‘นันยาง เท็กซ์ไทล์’ พาร์ตเนอร์เก่าแก่ ว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรที่นำมาพัฒนาร่วมกันได้

 

“เวลาเรานำเสนออะไรให้กับลูกค้า เราอยากให้เขาเชื่อมั่น ดังนั้นเราจึงหาพันธมิตรที่เชื่อถือได้และตรวจสอบได้ อย่าง SC Grand เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้ว เรานำผ้ารีไซเคิลของเขามาผลิตเสื้อให้กับลูกค้า แต่ในอนาคตเราอยากร่วมมือกับลูกค้าของเราเองในเรื่องการรณรงค์นำสินค้าใช้แล้วกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ ‘Closed Loop’ หรือมองในลักษณะของการทำคอลเล็กชันกรีนร่วมกัน”  

สุรศักดิ์คาดหวังว่า ในฐานะแบรนด์ที่ผลิตเสื้อผ้ามากกว่าล้านตัวต่อปี การลงมือทำเรื่องความยั่งยืนจริงจังจะสร้างอิมแพ็กต์ที่ดีให้กับลูกค้าและสังคม “อันดับแรกคือ เราช่วยให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึง Green Product ได้ง่าย ทำให้เขามีส่วนช่วยโลกได้เช่นกัน

 

“ในภาพใหญ่เราหวังว่าจะให้นวัตกรรมด้านความยั่งยืนแพร่หลายไปในวงกว้าง อยากเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างอิมแพ็กต์ไปยังธุรกิจเดียวกันหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น” 

 

สุนิสาเสริมว่า “ไม่แต่เฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศได้ ธุรกิจไซส์เล็กที่มีจำนวนมหาศาลก็ช่วยขับเคลื่อนได้เช่นกัน ปัจจุบันเรามีลูกค้า SMEs อยู่ในมือกว่า 20,000 องค์กร ถ้ากลุ่มนี้เข้าถึงได้ง่าย รับรู้ และขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็สามารถสร้างอิมแพ็กต์ในระดับประเทศได้เช่นกัน”  

 

เป้าหมายต่อจากนี้ 

 

ถ้าไม่นับเป้าหมายที่จะได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2015 ภายในปี 2568 ทายาททั้งสองบอกว่า ต้องการที่จะทำให้ PMK POLOMAKER เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อยูนิฟอร์ม ด้วยการบริหารงานที่ยึดหลักความยั่งยืน โดยจะต้องพาลูกค้าและชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

“ทุกวันนี้การผลิตเราแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งผลิตในโรงงาน กับอีกส่วนยังคงกระจายงานให้กับชุมชน โดยที่เราควบคุมเรื่องคุณภาพตลอดกระบวนการผลิต ก่อนจะทำงานจะต้องเข้ารับการเทรนนิ่ง เพราะเราต้องการเติบโตไปพร้อมกับชุมชน ถ้าเราสามารถขยายตลาดได้ กำลังการผลิตเราก็จะไปหาชุมชนมากขึ้น 

 

“ส่วนเรื่องการขยายตลาดก็ยังคงทำต่อเนื่อง ตอนนี้จะโฟกัสไปที่โมเดล PMK PROMPT มีการวางแผนขยายสาขามากขึ้น โดยโฟกัสภาคตะวันออกก่อนแล้วค่อยขยายไปยังภาคอื่นๆ นอกจากนี้เราจะพัฒนาเรื่องระบบขนส่งที่รวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น จากเดิมสต็อกสินค้าอยู่ที่กาญจนบุรีก็ย้ายมาอยู่ที่เมืองทองธานี เพื่อให้ง่ายต่อการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ

 

“สิ่งสำคัญคือ เรายังคงดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยการรักษามาตรฐานและคุณภาพ เพื่อให้เรายังเป็น Top of Mind ของลูกค้าตลอดไป” สุรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

FYI

สามารถดูรายละเอียดสินค้าได้ที่ : https://pmkpolomaker.com/

หรือสอบถามเพิ่มเติม @pmkpolomaker

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising