วันนี้ (5 พฤศจิกายน) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พบว่า มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยมีค่าสูงสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 85.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สีแดง) รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด เท่ากับ 49.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวได้ และคาดการณ์ว่าปริมาณ PM2.5 บริเวณพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ต่อเนื่องไปอีกสักระยะ
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย จึงให้เจ้าหน้าที่กรมอนามัยเตรียมความพร้อมรับมือสั่งการให้เปิดศูนย์เฝ้าระวังและประสานงานด้านการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และซักซ้อมความพร้อมในการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่ได้รับผลกระทบคือ พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง เร่งเฝ้าระวังสถานการณ์และสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ทราบถึงสถานการณ์และการปฏิบัติตนในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในสถานที่สำคัญที่มีกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเตรียมยกระดับการปฏิบัติการตามความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละวัน ภายใต้มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 เพื่อดูแลสุขภาพและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ในช่วงนี้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้าง ทั้งรถจักรยานยนต์และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงควรดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดปราศจากฝุ่น