นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาฝุ่นที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ AirVisual รายงานสถานการณ์ฝุ่นรอบโลกฉบับเรียลไทม์ (ช่วงเวลา 08.00 น.) พบว่า ผลการจัดอันดับค่าฝุ่นรอบโลกของประเทศไทย เฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณฝุ่นแบบภาพรวมที่ 177 US AQI ส่วนปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยที่ 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ด้วยปริมาณฝุ่นที่มากขนาดนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 6 ประเทศที่มีฝุ่นเยอะที่สุดในโลก!
นี่คือการตอกย้ำว่าปัญหาเราสัมผัสได้ในทุกวัน ตั้งแต่ออกจากประตูบ้านตอนเช้าจนกระทั่งเข้านอนอยู่ในวิกฤตต่อเนื่องมานานหลายปี
เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร ทำไมเราเพิ่งรู้ตัว ในขณะที่ต่างประเทศ ค่า PM2.5 ถ้าขึ้นสูงเพียงระดับ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะมีประกาศการควบคุมทันที ต่างกับประเทศไทย รัฐบาลกำหนดค่าเฝ้าระวังไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับชาวโลก
เรื่องเก่าปล่อยไป ย้อนกลับมาดูที่ปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนรู้กันอยู่แล้วว่าสาเหตุของฝุ่นพิษคืออะไร แต่สิ่งที่เราอยากรู้มากกว่านั้นคือ เมื่อไรฝุ่นพิษจะหายไป ซึ่งจะตอบคำถามนี้ได้ก็คงต้องมาดูว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีรีแอ็กชันอย่างไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ก่อนอื่นคงต้องดูที่มาตรการจากรัฐบาลกันก่อน ซึ่งในช่วงวิกฤตฝุ่นเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศมาตรการฉุกเฉินรับมือฝุ่น PM2.5 ออกมา 12 ข้อ
โดยสรุปมาตรการนี้มองถึงการควบคุมแก้ไขปัญหาทั้ง 4 จุด ประกอบด้วย
- ควบคุมสาเหตุจากการจราจร ควันท่อไอเสียจากรถเครื่องยนต์ดีเซล
- ควบคุมการเผาไหม้ในที่โล่ง โดยเฉพาะจากภาคเกษตรกรรม เช่น ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด
- ควบคุมภาคอุตสาหกรรมโรงงาน
- กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้แก้ปัญหาตามสถานการณ์เร่งด่วน
ซึ่ง 3 ประเด็นแรกถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอของฝุ่นพิษที่เกิดขึ้น แม้ข้อมูลจากฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสาเหตุใหญ่มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากภาคการเกษตรมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่สำคัญว่าฝุ่น PM2.5 จะมาจากสาเหตุใดมากกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญกว่าคือต้องแก้ทุกด้าน แก้ทุกสาเหตุไปพร้อมๆ กัน จึงจะเป็นการแก้อย่างยั่งยืนที่สุด
แก้ปัญหาฝุ่นจากรถยนต์
ตัวเลขที่น่าสนใจจากงาน Bus & Truck ซึ่งเป็นงานแสดงรถเพื่อการพาณิชย์และกิจการพิเศษชี้ว่า ในปี 2562 มียอดขายรถในประเทศไทยรวม 281,572 คัน แบ่งเป็นรถขนาดกลาง 10,911 คัน และกลุ่มรถขนาดใหญ่ 12,286 คัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ซึ่งเติบโตกว่า 8% ขณะที่ยอดประมาณการจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตันในปี 2562 มีจำนวนเกือบ 400,000 คัน แสดงให้เห็นว่าจำนวนกลุ่มรถขนาดกลางและใหญ่มีปริมาณมากขึ้น และที่ต้องจับตาจริงๆ คือรถยนต์ที่เข้าข่ายรถยนต์เก่า ซึ่งมีโอกาสที่จะปล่อยมลพิษควันไอเสียในประเทศไทย ซึ่งมีสูงถึงประมาณ 5 ล้านคัน และคาดว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน ซึ่งนี่เป็นจุดที่รัฐบาลต้อง ‘เฝ้าระวัง’ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยฝุ่นนั้น มีสาเหตุมาจากรถยนต์เป็นหลัก
มาตรการที่ออกมาควบคุมรถ ตรวจสอบรถ จำเป็นที่จะต้องลงรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้างานจริงอย่างเคร่งครัด แผนมาตรการระยะสั้นที่เข็นออกมาจึงจะได้ผลมากที่สุด
ในส่วนของระยะยาว ถ้าดูต้นแบบประเทศที่จัดการปัญหาฝุ่นได้ดีจะเห็นความพยายามผลักดันการเดินทางด้วยรถสาธารณะให้มากที่สุด และรถยนต์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานบริสุทธิ์อย่างไฟฟ้าแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นระบบไฟฟ้าแล้ว หากรัฐบาลไทยไม่ยอมเหยียบคันเร่งผลักดันรถ EV ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ปัญหาฝุ่นในเมืองเท่านั้น แต่ปัญหาจะกระทบชิ่งไปถึงภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะยาวด้วย
ภาคเกษตรอุตสาหกรรมกับปัญหาฝุ่น PM2.5
อีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดฝุ่นคือการเผาในที่โล่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเผาพืชผลทางการเกษตร เช่น เผาตอซังข้าว เผาอ้อย เผาข้าวโพด โดยการเผาอ้อยถูกจัดว่าเป็นหนึ่งสาเหตุของการเกิดฝุ่น โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด
ทำไมถึงต้องเผา? หลายคนไม่เข้าใจและตั้งคำถามนี้กับเกษตรกร ซึ่งจริงๆ แล้วหากจะหาคำอธิบายให้ชัดเจน คงต้องมองลึกลงไปถึงแรงจูงใจเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง
ด้วยปัจจัยดังกล่าว พอข้อหนึ่งแก้ได้ ก็จะมีอีกข้อหนึ่งเพิ่มเข้ามา กลายเป็นปัญหาวนลูป การเผาอ้อยก็เลยคาราคาซังเป็นปัญหาฝุ่นที่ต่างจังหวัดมานาน ซึ่งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมถึงโรงงานน้ำตาลเองต่างตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ในแง่ของการปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลนั้นกลับเป็นเรื่องยาก
แม้จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็เป็นทางออกเดียว นั่นคือต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายประกอบกัน ทั้งรัฐบาลที่ต้องช่วยเหลือทั้งกฎหมายและอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้เกษตรกรจับต้องเครื่องจักรกลการเกษตรได้ (ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล หรือ สอน. มีงบประมาณสนับสนุนผ่านการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (2%) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ปีละ 2,000 ล้านบาท)
ส่วนทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลควรเข้าไปให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ชาวไร่ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ และรณรงค์ให้เห็นถึงประโยชน์ของการตัดอ้อยสด ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐอย่างเคร่งครัดในการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และหักเงินสำหรับผู้ที่นำอ้อยไฟไหม้มาขายแล้วนำมาสนับสนุนผู้ที่ตัดอ้อยสดแทน ที่สำคัญตัวเกษตรกรเองต้องเข้าใจและปฏิบัติตามข้อกำหนด ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ชาวไร่เองนั้นได้รับประโยชน์สูงสุด
การดำเนินงานของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย
ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมหรือ สอน. ได้ตั้งเป้าหมายคุมให้อ้อยไฟไหม้ในปี 2563 มีปริมาณไม่เกิน 50% และตั้งเป้าให้หมดไปในปี 2565 โดยออกมาตรการดังนี้
- มาตรการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อ ส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร และช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต
- ขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลทรายรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% หรือถ้ารับอ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนด ทางโรงงานจะต้องเสียค่าปรับ
ในส่วนของโรงงานน้ำตาล เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามเรื่องนี้คงได้เห็นความเคลื่อนไหวฝั่งโรงงานน้ำตาลที่ออกมารณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้มากขึ้น THE STANDARD สอบถามข้อมูลกับแหล่งข่าวผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศมาเพิ่มเติมพบว่า ที่ผ่านมาได้เพิ่มมาตรการ 4 ข้อสำคัญในการจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน ประกอบไปด้วย
- ร่วมกับภาครัฐช่วยเข้าไปค้ำประกันให้ชาวไร่อ้อยเพื่อการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัด รถสางใบอ้อย รถอัดใบอ้อย เป็นต้น
- หักค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน และนำไปเฉลี่ยเพิ่มให้กับชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดทุกตัน ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยต่างกันเฉลี่ยประมาณ 60 บาทต่อตัน เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ตัดอ้อยสด พื้นที่ที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเป็นปริมาณมาก ก็จะหักเงินได้มากขึ้น และนำไปเฉลี่ยให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดได้มากขึ้น ทำให้สามารถสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่หันมาตัดอ้อยสด (ยกตัวอย่างเช่น กรณีราคาอ้อย 750 บาทต่อตัน อ้อยไฟไหม้ 750-30 = 720 บาทต่อตัน อ้อยสด 750+30 = 780 บาทต่อตัน (โดยประมาณ) จะได้รับเงินต่างกัน 60 บาท)
- รณรงค์ประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด หน่วยงานระดับท้องถิ่นจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่ให้ความรู้ชาวไร่เกี่ยวกับประโยชน์และวิธีการตัดอ้อยสด สะอาด งดการเผาอ้อย และมีการตั้งเงินรางวัลนำจับผู้ที่ลักลอบเผาถึง 100,000 บาท
- รับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวราคาตันละ 1000 บาท
ที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลได้รับซื้อใบอ้อย เป็นการเพิ่มมูลค่าให้เศษชีวมวลที่เหลือใช้ในภาคเกษตร และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น การรับซื้อใบอ้อย ฟางข้าว แกลบ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเสริมในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล (นอกจากชานอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลที่เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่แล้ว) โดยในโครงการนี้รับซื้อใบอ้อยที่ 1,000 บาทต่อตัน ชาวไร่จะได้รายได้เพิ่มประมาณ 500 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่าอัดใบ ค่าคีบ ค่าขนส่ง ประมาณ 500 บาท
ซึ่งได้เริ่มมีการรับซื้อใบอ้อยมาตั้งแต่ปี 2551/2552 แต่ด้วยช่วงนั้นยังไม่มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเยอะ ทำให้ยังมีปริมาณการรับซื้อไม่มากนัก แต่ก็ได้ดำเนินการอย่างมาต่อเนื่อง จนมีการเปิดรับซื้ออย่างเป็นทางการ
ในปี 2560/2561 รับซื้อใบอ้อยเป็นจำนวน 96,158 ตัน
ในปี 2561/2562 รับซื้อใบอ้อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 138,162 ตัน
ในปี 2562/2563 เป้าหมายการรับซื้อประมาณที่ 400,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยภัยแล้งแล้ว ปีนี้คาดว่าจะได้ประมาณ 200,000 ตัน
ใบอ้อยที่รับซื้อมานั้นสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลนำวัตถุดิบที่เหลือจากการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดที่ได้จากการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของไทยอย่างคุ้มค่า ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งทางในการช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เพราะเป็นพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศเอง นำเงินมากระจายเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น เพิ่มการสร้างรายได้ในประเทศ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ
จากสถิติพบว่า ในปี 2562 มีปริมาณอ้อยสดคิดเป็น 42.9% ของอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เทียบกับปี 2563 มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบ 50.8% จะเห็นได้ว่ามีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบ 8%
ซึ่งด้วยตัวเลขจำนวนอ้อยสดมากขึ้น อ้อยไหม้น้อยลง หมายความว่าเรายังมีความหวังจากการจัดการอย่างจริงจังของผู้เกี่ยวข้อง
โครงการนี้ก็ถือเป็นการกระตุ้นให้เห็นถึงประโยชน์และจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนั้นจะต้องใช้เวลา ทั้งทางภาคเกษตร ชาวไร่ และโรงงานน้ำตาล ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือช่วยกันปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด การที่จะลดการเผาเพื่อไม่ให้เกิดอ้อยไฟไหม้ตามแผนถึงจะเกิดขึ้นจริงได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/394419
- https://www.car250.com/11-62-392085.html
- https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/98171
- http://www.ocsb.go.th