×

มีอะไรซ่อนอยู่ในมวลฝุ่น PM2.5 มองปัญหามลพิษขนาดจิ๋วจากสายตาของกรีนพีซ ประเทศไทย

14.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • หนึ่งในแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่ไม่มีใครโฟกัสคือแหล่งกำเนิดทุติยภูมิที่เกิดขึ้นจากการที่ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ถูกปล่อยสู่อากาศ ก่อนจะไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแสงแดดและโอโซน และเกิดเป็น PM2.5 ตัวร้ายที่ทำลายสุขภาพของคนไทย
  • ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่าสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด PM2.5 ได้มากที่สุด
  • หนึ่งในมายาคติเรื่อง PM2.5 คือการที่หลายหน่วยงานพยายามจะอธิบายว่า ‘เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทุกปี ไม่ต้องตื่นตกใจ’ แต่ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า PM2.5 กำลังจะกลายเป็น New Normal ที่เมื่อคนรับรู้เกี่ยวกับ PM2.5 มากขึ้น สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และหายไปเองโดยไม่ต้องทำอะไรมากมาย

หลายวันมานี้คนกรุงเทพฯ นับล้านต้องตื่นมาพร้อมกับฝุ่นควันหนาตาที่ปกคลุมท้องฟ้าในหลายบริเวณ จนวิวทิวทัศน์ที่เคยมองเห็นชัดแจ๋วกลายเป็นภาพเลือนรางที่มีฝุ่น PM2.5 เป็นฟิลเตอร์เบลอๆ พร้อมกับตัวเลขสถานการณ์ PM2.5 สีส้มจากกรมควบคุมมลพิษ และสีแดงจาก Air Quality Index ที่แสดงผ่านเว็บไซต์

 

นอกจากจะประเมินสถานการณ์ไปแบบวันต่อวันว่าควรจะหยิบหน้ากากกันฝุ่น N95 มาคาดหน้าก่อนออกจากบ้านหรือไม่ หลายคนอาจไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าแท้จริงแล้ว PM2.5 มีที่มาจากไหน

 

 

ในทุกๆ เช้า กรมควบคุมมลพิษจะให้ข้อมูลไม่ต่างกันราวกับ Copy & Paste ด้วยข้อความเดิมๆ ว่า “ขอความร่วมมือประชาชนในการช่วยลดฝุ่นละอองอย่างเข้มงวดด้วยการห้ามใช้รถยนต์ควันดำอย่างเด็ดขาด ห้ามการเผาในที่โล่งทุกประเภทอย่างเด็ดขาด รวมถึงขอความร่วมมือในการลดการใช้รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลด้วย และหากประชาชนพบเห็นรถยนต์ควันดำจากรถยนต์ สามารถแจ้งได้ที่… ฯลฯ”

 

แต่ในมวลฝุ่น PM2.5 ที่หนาตาในช่วงเวลานี้มีความจริงบางอย่างที่กรมควบคุมมลพิษไม่ได้บอก แต่กลับกลายเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งอาจจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ในระยะยาวจากมุมมองของ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD

 

 

‘ไนโตรเจนไดออกไซด์’ มลพิษตัวร้าย ต้นตอของ PM2.5 ที่ไม่มีใครโฟกัส

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า PM2.5 มีที่มาจากแหล่งกำเนิดที่หลากหลาย และส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้แทบทั้งสิ้น

 

แหล่งกำเนิดทางตรงของ PM2.5 เป็นเรื่องที่หลายคนรู้กันเป็นอย่างดีจากความพยายามสื่อสารของหลายๆ หน่วยงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง และอุตสาหกรรมการผลิต

 

อีกแหล่งกำเนิดสำคัญไม่แพ้กันก็คือแหล่งกำเนิดทุติยภูมิที่เกิดขึ้นจากการที่ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ถูกปล่อยสู่อากาศ ก่อนจะไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแสงแดดและโอโซน และเกิดเป็น PM2.5 ตัวร้ายที่ทำลายสุขภาพของคนไทย

 

แล้วไนโตรเจนไดออกไซด์มาจากไหน

 

 

จากฐานข้อมูลของแหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยมีการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์รวมกว่า 810,000 ตัน โดยแบ่งตามแหล่งกำเนิดคือ

 

1. การคมนาคมขนส่ง 246,000 ตันต่อปี

2. การผลิตไฟฟ้า 227,000 ตันต่อปี

3. อุตสาหกรรมการผลิต 222,000 ตันต่อปี

4. การเผาในที่โล่ง 84,346 ตันต่อปี

5. ที่อยู่อาศัย 31,000 ตันต่อปี

 

“พอเราไปพูดว่าในกรุงเทพฯ นอกจากฝุ่นจากรถยนต์ก็ยังมีฝุ่นจากการก่อสร้างที่ทำให้เกิด PM2.5 แบบนี้จบเลยครับ เพราะเราโฟกัสไม่ถูกจุด เพราะฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างไม่มีการเผาไหม้ ถึงจะมี PM2.5 ก็อาจจะน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับสัดส่วนอื่นๆ ขณะที่ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่กลายมาเป็น PM2.5 กลับมีบทบาทสำคัญต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถ้าเราไม่มองหรือวิเคราะห์ถึงแหล่งกำเนิดเหล่านี้ ทั้งแหล่งกำเนิดทางตรงและแหล่งกำเนิดขั้นที่สอง ปีหน้าก็จะมีวิกฤตเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด”

 

ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่าสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด PM2.5 ได้มากที่สุด จะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศของสหภาพยุโรปหรือในบางรัฐของสหรัฐอเมริกามีความพยายามที่จะจำกัดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลลง เพราะเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ รองลงมาคือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดการใช้ในระยะยาว

 

“นี่คือกุญแจสำคัญของการลดมลพิษ PM2.5 ทั้งในเมืองและเขตอุตสาหกรรม เราต้องโฟกัสไปที่การจำกัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดต่างๆ จะไปห้ามไม่ให้ปล่อยคงยาก แต่ต้องเข้มงวดมากกว่านี้ และระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในอากาศก็จะไม่มากจนถึงขั้นวิกฤตอย่างที่เราเจออยู่”

 

 

ข้อมูลไม่พอ ชะล่าใจ การจัดการปัญหามลพิษตามสไตล์ภาครัฐ

นอกจากการโฟกัสปัญหาไม่ถูกจุดแล้ว หนึ่งในสิ่งที่หน่วยงานรัฐกำลังขาดแคลนอย่างหนักก็คือการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาว

 

“ถ้าพรุ่งนี้เรารู้ว่ามันจะมีวิกฤตแบบนี้อีก เมื่อดูจากการพยากรณ์คุณภาพอากาศ ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมจะสั่งให้ปิดโรงเรียนไปเลย 1 วัน เพื่อลดการเดินทางของพ่อแม่ผู้ปกครอง แล้วดูว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของระดับมลพิษที่ลดลงจากทุกวันหรือไม่ แล้วความแตกต่างมันมากน้อยแค่ไหน นั่นคือต้องมีกุศโลบายในการที่จะทำให้คนเห็นว่าในวิกฤตแบบนี้ ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการลดการใช้รถยนต์ มันจะแก้ปัญหาได้เท่านี้ แล้วถ้าช่วงอื่นๆ ที่มีวิกฤต เราควรจะช่วยกันอย่างไร แต่ตอนนี้มันคล้ายๆ กับพูดไปเรื่อยๆ ขอความร่วมมือกันไปเรื่อย แต่ไม่มีใครทำ ในเมื่อมันไม่มีแรงจูงใจให้คนอยากจะทิ้งรถไว้ที่บ้าน การแก้ปัญหาในระยะยาวก็ไม่เกิด”

 

เมื่อถามถึงมาตรการจัดการกับ PM2.5 ของภาครัฐที่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการฉีดน้ำขึ้นสู่อากาศ การกวาดถนน หรือแม้กระทั่งทำฝนเทียม ธารามองว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจของหน่วยงานภาครัฐ

 

“ผมว่าเขาชะล่าใจไปหน่อย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองที่เราน่าจะชี้วัดข้อมูลบางอย่างได้อย่างชัดเจน เพราะรถยนต์ออกจากกรุงเทพฯ เยอะ ซึ่งถ้าดูสถิติตอนนั้น PM2.5 ก็ลดลงจริงๆ แต่ปีใหม่ก็ไม่ได้มีทุกวัน สุดท้ายก็ต้องมีรถไหลเวียนเข้ามาในกรุงเทพฯ ตามปกติ แต่ประเด็นคือเราต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะเริ่มจากมาตรการไหนได้บ้าง อาจจะใช้มาตรการวันคู่-วันคี่ ทะเบียนคู่-ทะเบียนคี่ เพื่อลดปริมาณรถยนต์ หรือช่วงเวลาวิกฤต ค่าโดยสารรถไฟฟ้าอาจจะถูกลงเพื่อจูงใจให้คนหันมาโดยสารมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย”

 

ธารามองว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจำเป็นต้องใช้มาตรการที่หลากหลาย ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการระดมสมองเพื่อหามาตรการที่จริงจังกว่าที่เป็นอยู่ ค่อยๆ ทดลองทีละมาตรการ และใช้ข้อมูลเป็นตัวนำร่อง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้

 

 

PM2.5 New Normal ที่คนไทยกำลังจะต้องคุ้นชิน

หนึ่งในมายาคติเรื่อง PM2.5 คือการที่หลายหน่วยงานพยายามจะอธิบายว่า ‘เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทุกปี ไม่ต้องตื่นตกใจ’

 

“ถ้าเราเริ่มต้นมองปัญหาด้วยมายด์เซตแบบนี้ เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะทุกปีเราก็จะบอกว่าปีที่แล้วก็เป็นแบบนี้ ทำไมต้องกระโตกกระตาก สุดท้ายปัญหาก็วนกลับมาใหม่”

 

ธารามองว่า PM2.5 กำลังจะกลายเป็น New Normal หรือเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ดูเหมือนเป็นปกติ แต่เมื่อมีการรับรู้ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น มันคือปรากฏการณ์ที่เป็นวิกฤตที่ต้องมีวิธีคิดที่แตกต่างออกไปในการจัดการกับปัญหา

 

ข้อเสนอของกรีนพีซต่อการแก้ปัญหานี้ในระยะยาวคือการขยับค่ามาตรฐาน PM2.5 ให้ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่าค่า PM2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ไทยตั้งค่ามาตรฐานไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

“ต้องบอกว่าไม่มีประเทศไหนที่ทำตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างในสหรัฐอเมริกาเขาก็ตั้งไว้ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไทยก็ควรขยับให้เหลืออย่างน้อย 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา เมื่อเป้าหมายชัด มาตรการต่างๆ ก็จะมีความชัดเจนขึ้น”

 

ในระยะสั้น ผู้อำนวยการกรีนพีซให้คำแนะนำในการอยู่ร่วมกับ PM2.5 ว่า หากเป็นคนชอบออกกำลังกายกลางแจ้ง ทั้งเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ควรตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ถ้าพบว่าเป็นสีเหลืองหรืออยู่ในระดับคุณภาพอากาศปานกลาง ไปจนถึงสีส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรต้องคิดหนักหน่อยว่าจะออกไปทำกิจกรรมตามปกติหรือไม่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ตรวจสอบสถานการณ์ค่า PM2.5 ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษที่จะแสดงผลแบบรายชั่วโมง ดีกว่าข้อมูลที่แสดงผลแบบเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่ได้ช่วยในการตัดสินใจมากนัก

 

ไม่มีใครฟันธงหรือชี้ชัดได้ว่าคนไทยจะต้องอยู่กับ PM2.5 ไปนานแค่ไหน นอกจากจะต้องมีหน้ากาก N95 เป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ต่อเนื่องไปอีกสักระยะแล้ว เราเชื่อว่าลึกๆ แล้วทุกคนรู้ว่าปัญหานี้เกิดจากพวกเราทุกๆ คนที่มีส่วนกันคนละเล็กละน้อย เช่นเดียวกับวิธีแก้ปัญหาที่ต้องเกิดจากทุกๆ คนเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X