นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กวันนี้ (26 มีนาคม) ณ เวลา 11.00 น. พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงถึง 480 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 32 เท่า
นอกจากนี้ยังพบอีก 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, น่าน, พะเยา, แพร่, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, บึงกาฬ, หนองคาย และนครพนม ยังมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (> 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
สัปดาห์นี้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีแนวโน้มการสะสมของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้งการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อนสะสมในเดือนมีนาคมสูงถึง 25,209 จุด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ระดับค่าฝุ่นละอองดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้มีอาการต่างๆ เช่น แสบตา, คันตา, ตาแดง, ระคายเคืองผิวหนัง, ไอ, หายใจลำบาก และแน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่มีโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และหากได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปริมาณมากในระยะยาว จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย เข้าไปทำลายระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอด ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็ง ในระยะยาว
สำหรับข้อมูลจากการเฝ้าระวังอาการตนเองของประชาชนผ่านระบบ 4HealthPM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม 2566 พบว่า ประชาชนมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นถึงร้อยละ 73.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 5-14 ปี และผู้สูงอายุ
กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้
- ลดระยะเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
- งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ
- อยู่ในบ้าน ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้อง
ปลอดฝุ่น
- ดูแลสุขภาพเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว สังเกตอาการ หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอกหรือหายใจไม่ออก ให้รีบไปพบแพทย์
- งดการเผา และช่วยสอดส่อง ป้องกัน ไม่ให้มีการเผาในชุมชน