วันนี้ (4 กมภาพันธ์) นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ส่งผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง อาจเสียชีวิตได้หากไม่รู้จักป้องกันตนเอง
โดยผู้ที่ได้รับฝุ่น PM2.5 มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง และถ้าหากได้รับในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด
ทั้งนี้ อันตรายของฝุ่น PM2.5 เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น 0.38% สมรรถภาพของปอดลดลงประมาณ 3.5 มิลลิลิตร และการเจริญเติบโตของปอดลดลง 1.4 มิลลิลิตรต่อปี เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคปอด 6% เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็ง 8% และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ 4%
นพ.เอนกกล่าวอีกว่า หากผู้ที่ตั้งครรภ์สูดดมฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย ควรป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากาก N95 หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ซึ่งสามารถกรองฝุ่นละอองได้บางส่วน หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านเมื่ออากาศปิด ไม่มีลมพัดผ่าน ควรปลูกต้นไม้ เช่น ต้นจั๋ง ต้นเดหลี และต้นวาสนา เพื่อช่วยกรองอากาศและดูดสารพิษ หมั่นดื่มน้ำสะอาด ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดควันดำจากการเผาไม้เครื่องยนต์ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีเมื่อออกไปทำธุระนอกบ้าน ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน หากพบอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์