×

นายกฯ เผย วงประชุม ‘ASEAN-Japan’ เตรียมถกปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ยืนยันโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่แย่งธุรกิจเพื่อนบ้าน

โดย THE STANDARD TEAM
16.12.2023
  • LOADING...
ASEAN-Japan

วันนี้ (16 ธันวาคม) เวลา 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) เพื่อฉลองวันวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในพรุ่งนี้ (17 ธันวาคม) ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนจะเสนออะไรเป็นพิเศษว่า เราเป็นหนึ่งในสมาชิก ปัจจุบันมีประเทศอินโดนีเซียเป็นประธาน โดยประธานคนต่อไปจะเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงทุนสูงมากในอาเซียน และประเทศไทยจะได้มีการพูดคุยถึงความต้องการของเขา 

 

นอกจากนี้อีกเรื่องจะเป็นเรื่องของปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ที่ยังมีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ เรายืนยันว่าต้องเคารพเอกราชของทุกประเทศ ต้องระวังอย่าให้มีปัญหา เพราะถ้ามีปัญหาระบบขนส่งทางทะเลก็จะเป็นปัญหา โดยเฉพาะประเทศไต้หวันเรามีแรงงานอยู่ 60,000 คน จึงไม่อยากให้ความขัดแย้งมันไปไกล ซึ่งเรื่องของประเทศเมียนมาก็ต้องพูดคุยกันต่อไป เพราะเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน และมีชายแดนติดกับประเทศไทยกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งเราได้รับการมอบหมายอย่างไม่เป็นทางการให้ไปพูดคุยดู และเมื่อสิบวันที่ผ่านมา ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปพูดคุยกับคู่เจรจาที่ประเทศเมียนมา และได้ตกลงจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หากมีปัญหาเกิดขึ้นจะดูแลผู้บริสุทธิ์อย่างไร

 

โครงการแลนด์บริดจ์ไม่แย่งธุรกิจเพื่อนบ้าน

 

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ว่า วานนี้ (15 ธันวาคม) ได้พูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายในงานสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากนี้ BOI และกระทรวงคมนาคมจะต้องตามเรื่องดังกล่าวต่อกับนักลงทุน  และในเรื่องนี้บริษัทในอาเซียนเอง เช่น ประเทศอินโดนีเซียก็ให้ความสนใจ ซึ่งก่อนเดินทางมาญี่ปุ่นก็มีเอกชนกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มาเจอตน โดยแสดงความสนใจอย่างมากที่จะร่วมลงทุนด้วย ซึ่งก็ต้องพูดคุยกัน เพราะผลประโยชน์ของภูมิภาคนี้ขึ้นอยู่กับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยเช่นกัน 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ จะมีการนำเสนออะไร เศรษฐากล่าวว่า เราจะบอกความตั้งใจในการดำเนินโครงการ เพราะปริมาณสินค้าที่ขนถ่ายผ่านช่องแคบมะละกา เช่น น้ำมัน ที่ทั่วโลกใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนส่งถึง 60% ซึ่งช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นอาจเกิดอุบัติเหตุได้และทำให้การขนส่งล่าช้า ส่งผลต่อต้นทุนที่อาจสูงขึ้น

 

“การที่เราสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ใช่การแย่งธุรกิจ เพราะกว่าจะเสร็จประมาณ 10 ปี ปริมาณการค้าทางทะเลทั่วโลกก็จะสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อนบ้านเราทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ ที่คาดว่ารายได้ตรงนี้จะหายไป เพราะผลสำรวจเบื้องต้นการค้าขายทางเรือจะสูงขึ้น แต่หากไม่มีจะเป็นปัญหา และช่องแคบมะละกาในปัจจุบันมีความหนาแน่น หากเราสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้จะช่วยด้านการขนส่งของทั้งโลก” เศรษฐากล่าว 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising