วันที่ 22 กันยายน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสเข้าร่วมและกล่าวคำแถลงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) สมัยที่ 78 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ในถ้อยคำแถลง นายกฯ กล่าวว่า ยุคใหม่ของประชาธิปไตยไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว ผมในฐานะนายกฯ ของประชาชน จะทำหน้าเพื่อสร้างรากฐานของประชาธิปไตยให้แข็งแรง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย แก้ปัญหาความยากลำบากที่ประชาชนพบเจอตลอดหลายปีที่ผ่านมา
จากความสัมพันธ์ของไทยและนานาประเทศ รัฐบาลไทยมีเป้าหมายที่จะสานสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ทั่วโลกให้ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าขาย การลงทุน และข้อตกลงการค้า
ณ วันนี้ โลกกำลังเจอกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งความสงบสุข พัฒนาการของประชากรที่ถดถอยลง รวมถึงความยั่งยืนด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และไทยก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกประเทศเพื่อแก้ไขมัน
ณ เวลานี้ การสร้างฐานที่แข็งแรงสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีและสงบสุขมีความจำเป็นและสำคัญมากกว่าช่วงเวลาไหนๆ ที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำจุดประสงค์ของการก่อตั้งสหประชาชาติ นั่นคือการนำมาซึ่งความสงบสุข
วิสัยทัศน์ของการร่วมมือระหว่างประเทศในมุมมองของไทย จะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว ยืดหยุ่น และมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์
แม้โลกกำลังเจอกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความรุนแรงและการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ประเทศไทยขอยืนยันที่จะรักษาความสงบสุขและความร่วมมือของกันและกันต่อไปกับทุกๆ ประเทศ “เราเชื่อว่าความสงบที่ยืนยาวจะเป็นไปได้ เมื่อความสัมพันธ์ของต่างฝ่ายเป็นไปด้วยความเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกัน”
การพัฒนาความสงบสุขและความยั่งยืนนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เกียรติยศ และเสรีภาพ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาความเท่าเทียมและความยุติธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เปราะบางที่มักจะไม่เคยได้รับความเป็นธรรม
“เราจะทำให้กฎหมายและความโปร่งใสของรัฐบาลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เราจะทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่ากฎหมายจะถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมและจริงจัง”
ประเทศไทยได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนของ Human Rights Council ในปี 2025-2027 ประจำภูมิภาคอาเซียน สิ่งนี้เป็นการย้ำชัดต่อความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ โดยไทยจะทำให้มั่นใจว่า Human Rights Council มีเครื่องมือครบครันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้
ตั้งแต่ที่การก่อตั้งของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2002 เพื่อให้บริการสุขภาพเข้าถึงคนไทยทุกคน รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพการบริการและตัวเลือกแก่ผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนต่อไป
“หากจะถอดบทเรียนการเกิดขึ้นของโควิดที่ผ่านมา ผมมองว่าความสามารถในการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลจะให้แก่ประชาชนของพวกเขาได้”
การจะรับมือกับโรคระบาดนั้นไม่ใช่ปัญหาของชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน รัฐบาลไทยจึงหวังว่าจะมีการกำหนดสนธิสัญญาด้านโรคระบาด เพื่อให้โครงสร้างการแพทย์ของนานาประเทศสามารถตอบสนองและมีความพร้อมในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยเปิดรับ SDG Summit หรือการประชุมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจเรื่องความยั่งยืนที่เป็นทางออกเดียวในการรักษาโลกและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงมีให้เห็นได้น้อย เนื่องจากมีแค่ 12% ของเป้าหมายที่เป็นไปตามแผน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเร่งเพื่อให้เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 เกิดขึ้นให้ได้
“เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมาย เราต้องใส่ใจประชาชนของเราก่อน” รัฐบาลไทยจึงมีแผนที่จะออกนโยบายเพื่อสร้างงาน สนับสนุนการเงินสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งจะทำให้การเกิดสังคมที่เท่าเทียมยิ่งขึ้น
หลายปีมาแล้วที่ประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน มีความสมดุลที่ผู้คนเป็นศูนย์กลาง โดยเราใช้ปรัชญาท้องถิ่นจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเสริมสร้างความสมดุลในทุกๆ ด้าน
การสร้างสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง คือการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่รักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่มโนคติ แต่หลักคิดนี้ถูกนำไปใช้จริงในภาคการเกษตร ที่ช่วยแนะแนวทางแก่เกษตรกรในการรักษาผืนดินและบริหารจัดการน้ำ
การทำเช่นนี้จะไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นด้วย ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา หรือเรียกว่า ใต้-ใต้ และไตรภาคี
ในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยยืนหยัดที่จะสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรชาติอาเซียนและชาติอื่นๆ ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
เดือนกรกฎาคม 2023 นับเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ภาวะโลกร้อนจึงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามเร่งด่วนที่ต้องให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยพร้อมต้อนรับการประชุมผู้นำการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยดังกล่าวให้ได้โดยเร็วที่สุด
ภาวะโลกร้อนยังนำมาซึ่งปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยที่เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายหลักได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ไทยจึงกำลังหาทุกวิถีทางในการสร้างระบบบริหารจัดการน้ำและการเกษตรให้ดีขึ้น เพื่อลดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
ประเทศไทยยังได้มีการปรับใช้กลไกทางการเงินที่เป็นสีเขียว ที่รวมถึงการออกพันธบัตรความยั่งยืนและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งการเติบโตและการลงทุนในโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของที่ไทยทำได้คือการยืนหยัดเป้าหมายลดคาร์บอน 40% ภายในปี 2040 ตามด้วยความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ด้วยการทำให้กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจต้องใส่ใจเรื่องนี้
โดยแผนการด้านพลังงานของไทยได้คำนึงถึงเป้าหมายเหล่านี้ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน เพิ่มการใช้งานพลังงานทดแทน และเปลี่ยนผ่านด้วยการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ
“องค์การสหประชาชาติคือตัวแทนของผู้คนบนโลก พวกเราจำเป็นต้องพยายามให้มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าองค์การคือตัวแทนที่ดีที่สุดของมวลมนุษย์และความสามัคคี”
ประเทศไทยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งถัดๆ ไปที่นำโดยองค์การสหประชาชาติและถูกสนับสนุนด้วยประเทศต่างๆ จะช่วยให้อนาคตดียิ่งขึ้นด้วยความสันติและพัฒนาการที่ยั่งยืน
“เราเชื่อว่านี่ถึงเวลาแล้วที่จะทำงานร่วมกัน เราขอเชื้อเชิญทุกๆ ประเทศให้ทำงานร่วมอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะทางเดียวที่จะสร้างอนาคตที่ดีคือสร้างด้วยกัน”