รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ออกมายอมรับเมื่อวันอังคาร (5 กรกฎาคม) ว่า ศรีลังกาอยู่ในภาวะล้มละลายแล้ว หลังจากที่เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งรุนแรงสุดในรอบหลายสิบปี
เศรษฐกิจของศรีลังกาเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลกล่าวโทษว่าเป็นเพราะโควิดระบาดจนทำให้ขาดรายได้จากภาคการท่องเที่ยว แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่พาให้ศรีลังกามาอยู่จุดนี้ได้หลักๆ คือปัญหาจากการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของรัฐบาล รวมถึงหนี้สินต่างประเทศ โดยเฉพาะการก่อหนี้กับจีน
วิกรมสิงเหกล่าวว่า การเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อกู้ยืมเงินฉุกเฉินมาชำระหนี้ และอุ้มเศรษฐกิจที่ล่มสลายนั้นอาจเป็นไปได้ยาก เพราะในครั้งนี้ศรีลังกาจะขอไปเจรจาในฐานะประเทศที่ล้มละลาย ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาเหมือนในอดีต
“ขณะนี้เรากำลังจะเข้าเจรจาในฐานะประเทศที่ล้มละลาย ดังนั้น เราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากและซับซ้อนกว่าการเจรจาครั้งก่อน” วิกรมสิงเหกล่าวต่อรัฐสภา “เนื่องจากภาวะล้มละลายในประเทศของเรา เราต้องยื่นแผนความยั่งยืนของหนี้ (Fiscal Sustainability) ต่อ IMF เสริมด้วย และเมื่อ IMF พอใจกับแผนดังกล่าว เราจึงจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ นี่ไม่ใช่กระบวนการที่ตรงไปตรงมา”
อนึ่ง ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และหลังจากนั้นก็ขาดแคลนเงินสำรองต่างประเทศที่จะใช้จ่ายเพื่อนำเข้าน้ำมัน จนนำไปสู่การขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงทั่วประเทศ
เมื่อวานนี้ (6 กรกฎาคม) ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า เขาพยายามขอความช่วยเหลือจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยขอให้ผู้นำรัสเซียมอบเครดิตการนำเข้าเชื้อเพลิงให้กับศรีลังกา
นอกเหนือจากวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานครั้งรุนแรงในรอบกว่า 70 ปีแล้ว ศรีลังกายังมีความเสี่ยงเผชิญกับวิกฤตอาหารด้วย เพราะราคาอาหารได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
วิกรมสิงเหระบุว่า ภายในสิ้นปีนี้ เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 60% ส่วนการเจรจากับ IMF คาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึงเดือนสิงหาคม
“นี่จะเป็นการเดินทางที่ยากลำบากและขมขื่น” วิกรมสิงเหกล่าว “แต่ท้ายที่สุดแล้วปัญหาจะบรรเทา ความคืบหน้าจะเกิดขึ้น”
แฟ้มภาพ: Tharaka Basnayaka / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: