วันนี้ (24 พฤษภาคม) มีการเผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 151/ 2567 ที่ลงนามโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาการเสริมสร้างหลักนิติธรรมแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดระบุว่า ด้วยหลักนิติธรรม (Rule of Law) อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน ถือเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนของประเทศ ประกอบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goal: SDG) เป้าหมายที่ 16 ยังได้แสดงให้เห็นว่า หลักนิติธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง
ทั้งนี้ จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลจะได้ขับเคลื่อนและพัฒนาการเสริมสร้างหลักนิติธรรมแห่งชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาการเสริมสร้างหลักนิติธรรมแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า ‘กขนช.’ ประกอบด้วย
ที่ปรึกษา 3 ตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
- ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
คณะกรรมการ 19 ตำแหน่ง
- ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ (ประธานกรรมการ)
- เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กรรมการ)
- เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กรรมการ)
- ปลัดกระทรวงยุติธรรม (กรรมการ)
- อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (กรรมการ)
- ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (กรรมการ)
- ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ (กรรมการ)
- พล.อ. กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ (กรรมการ)
- ธนา เวสโกสิทธิ์ (กรรมการ)
- นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (กรรมการ)
- นัยนา สุภาพึ่ง (กรรมการ)
- ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย (กรรมการ)
- ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล (กรรมการ)
- เสรี นนทสูติ (กรรมการ)
- ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี (กรรมการ)
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเห็นสมควร เชิญเข้าร่วมประชุมเฉพาะคราว คราวละไม่เกิน 2 คน
- ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (กรรมการและเลขานุการ)
- ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)
- รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)
ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
- วิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรค ที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องระหว่างหลักนิติธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 16 ของ SDG
- เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนาหลักนิติธรรมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ยกระดับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ติดตามประเมินผลและรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณามีมติเกี่ยวกับการดำเนินการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย มาตรการ และแนวทางที่ กขนช. กำหนด
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของ กขนช.
- ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ 3 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือแก่ กขนช. ในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนการดำเนินการอื่นๆ ตามที่ กขนช. กำหนด
ข้อ 4 การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของ กขนช. คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา หรือบุคคลภายนอกที่ได้รับเชิญจาก กขนช. ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราว ตามที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ ปี 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานกิจการยุติธรรม