วันนี้ (4 พฤษภาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร’ ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT กล่าวถึงการรับมือการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นภาษีทั่วโลกว่า ภายหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้น เขย่าทั้งโลก ไม่ใช่เขย่าแค่ประเทศไทย เราได้ปรึกษากับทีมคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มีความเก่งทางกฎหมาย ทางเศรษฐกิจ ทางระหว่างประเทศ ของเรื่องของสหรัฐอเมริกา จะบอกว่ากลุ่มที่คุยมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่มาตั้งกลุ่มที่มารับเรื่องสหรัฐฯ เสร็จก่อนเดือนมกราคม 2568 ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่ง เราเตรียมมาตลอด แม้กระทั่งเรื่องสินค้าเกษตร ที่เราส่งออกหรือเรานำเข้าจากสหรัฐฯว่าเป็นอย่างไร เราเก็บภาษีเราเท่าไร เขาเก็บภาษีเราเท่าไร เรามีกฎและข้ออะไรบ้างที่ช่วยเรื่องนี้ได้บ้าง ซัพพอร์ตผู้ประกอบการอย่างไร
แพทองธารกล่าวต่อว่า ส่วนภาคอุตสาหกรรมเรานำเข้าและส่งออกอะไรบ้าง และดูว่าสินค้าไหนจำเป็น รวมทั้งดูเรื่องภาษีทั้งหมดเรา ไทยเก็บภาษีเขาแพงมาก ขณะที่ไปเก็บประเทศอื่นถูกกว่า ซึ่งตนเห็นว่าพอเราไม่ได้เซ็น FTA ก็จะมีสินค้าที่แพงเกิน ไม่มีมาตรฐานจึงคิดว่าอะไรที่ปรับได้บ้าง ซึ่งได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนด้วยว่าถ้ารัฐบาลจะปรับแบบนี้เอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ ตกลงหรือไม่ รวมทั้งได้พูดคุยกับประเทศอาเซียนทั้งผู้นำมาเลเซียหรือผู้นำกัมพูชาว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง รวมพลังอาเซียนขายความยูนีค ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรคน ว่าจะสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ซึ่งจะให้เรามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเป็นมิตรกันมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงมองไปถึงอนาคต รวมทั้งเราได้พูดคุยกับตัวแทนการค้าของสหรัฐฯว่า สหรัฐฯต้องการอะไรจากประเทศไทย โดยเราพยายามปรับโหมดการเจรจาต่อรองให้มีความคุ้มค่าเกิดการวิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย
ในบางครั้งให้สัมภาษณ์ไม่ชัดเจนหรือพูดอะไรออกไปไม่ได้ ต้องขอทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า สมมติเรากำลังดีลการอยู่ อย่างที่คนไทยชอบพูดว่าดีลลับ อันนี้ก็ประมาณนั้นก็ได้ เหมือนว่าคุยเรื่องของดีเทลอยู่ว่าดีลลับทำอะไรได้บ้าง มีความยืดหยุ่นอะไรได้บ้าง ซึ่งอันนี้ไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ว่าเรากำลังดีลสินค้าตัวนี้อยู่ เราดีลเรื่องนั้นอยู่ ไม่อย่างนั้นประเทศอื่นเขาก็ได้ยินหมด สหรัฐฯมีทุกประเทศทั่วโลกมาต่อรองกับเขา ถ้าเขาเปิดเผยหรือเฉลยว่าประเทศนั้นประเทศนี้จะทำอะไรได้บ้าง แน่นอนว่าต้องถูกเปรียบเทียบแน่นอน ว่าประเทศฉันไม่ได้หรือ โควตายังไง มันจะเกิดความวุ่นวายแน่นอน
เพราะฉะนั้นทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยต้องมีการดีลลับอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นการมีมารยาทให้กับทุกประเทศ ให้เกียรติทุกประเทศว่าเราคุยของเราไปก่อน เพื่อที่จะต่อรองอะไรได้บ้าง อนาคตเรามีอะไรแลกเปลี่ยนกับเขาได้บ้าง อันนี้คือสิ่งสำคัญว่าเราต้องดีลแบบนี้ ทุกประเทศก็ดีลแบบนี้ ไม่มีใครออกมาพูดเสียงดังเกินไป อย่างที่บอกความรวดเร็ว มันไม่ใช่ตัวกำหนดว่าต้องรวดเร็ว แต่เราต้องแม่นยำในการต่อรองในการพูดคุย ความรวดเร็ว ดูแท็กของเวลาว่าเราอยู่ในแท็กเวลา เราไม่หลุดออกจากกรอบแน่นอน เราจะเห็นได้ว่าเวลาที่คุยเรื่องภาษีมีการเปลี่ยนแปลง สหรัฐอเมริกามีการปรับกับประเทศนั้นประเทศนี้มีตลอด
ฉะนั้นเรารอดูอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในกระเป๋าเราตุนไว้มากมายแล้ว ขอให้สบายใจเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้การเจรจาแบบไม่เป็นทางการมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยขาดหายไปเลยดิฉันเองอัปเดตกับ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง อยู่สม่ำเสมอ ขอให้ประชาชนสบายใจว่าเรื่องนี้รัฐบาลคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากและต้องเตรียมความพร้อมอย่างหนักแน่น จนถึงวันที่เราได้สามารถเจรจาต่อรอง
ส่วนกรณีบริษัทจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่เชิงลบ(Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลง แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 นั้นแพทองธารกล่าวว่า เป็นมุมมองทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย แต่ไม่ใช่เครดิตของประเทศไทย ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยจะลดลง เพราะมีตัวแปรที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นกำแพงภาษี ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีประเทศใดการตกลงเป็นคำตอบสุดท้าย ไม่ได้หมายความว่าเครดิตของประเทศไทยลดน้อยลง
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นรัฐบาลเราก็รับฟัง การผลักดันทางด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน ไม่มีการพัก ซึ่งมีการหาเม็ดเงินเพิ่มไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือการลงทุนด้านดิจิทัลทั้ง Google, TikTok, Microsoft เริ่มมีการเซ็นสัญญา ตั้งบริษัท ซึ่งทั่วโลกเห็นโอกาสของการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ส่วนเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นั้น แพทองธารกล่าวว่า เงินใหม่ที่เข้ามา เงินนี้ไม่ใช้เงินจากรัฐบาล ไม่ใช่เงินจากภาษีประชาชน แต่เป็นเงินของเอกชนที่จะมาลงทุนก้อนใหญ่ในประเทศเรา ซึ่งเงินลงทุนของต่างชาติที่จะมาลงทุนเหล่านี้ จะทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้เพิ่ม และเงินเหล่านี้ที่เข้ามาจะเอามาหมุนเวียนการเก็บภาษีคนที่เล่นคาสิโน
การสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เราจะทำตามโมเดลสิงคโปร์ เราไม่อยากมองเป็นมุมว่าเราจะทำเป็นสถานที่คาสิโน โดยเน้นย้ำเฉพาะคาสิโนเท่านั้น เราอยากทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ให้มีสถานที่จัดงาน จัดคอนเสิร์ต มีโรงแรม และคาสิโนมีมาตรฐานสากลโลกอยู่แล้ว มันต้องเป็น Gamble responsibly (การพนันอย่างมีความรับผิดชอบ) มีกฎเกณฑ์ มีขั้นตอน ไม่ใช่ใครคิดว่าวันนี้ฉันอยากถูกรางวัลที่ 1 เดินเข้าไปแล้วได้ 30 ล้านบาท เดินออกมา ต้องเข้าไปอย่างที่เราสามารถเช็กประวัติได้ รู้ว่าใครเป็นใคร มีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ เราต้องทราบหมดของทุกประเทศทั่วโลก
“คนที่เข้ามาประวัติต้องมี ทรัพย์สินต้องมี แต่ต้องสื่อสารกัน บางทีประเด็นการเมืองมันเข้มข้น แล้วอยากจะตีเรื่องนี้ให้ฉ่ำๆ ไปเลย ให้มันถูกเข้าใจผิดไปเลยว่าต้องเกิดอบายมุขสุดๆ แน่ที่ประเทศไทย ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างประเทศที่เขาพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เขาเข้าเทรนด์โลกตรงนี้หมดแล้ว เพราะเขาต้องการ Man-made (สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น) ต่อต้องเกิดขึ้น เราไม่อยากมานั่งเสียดายทีหลังว่าประเทศไทยช้าไปอีกแล้ว คิดว่าคนไทยหลายคนน่าจะได้ไปงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เกาะนั้นที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ หลังจากเวิลด์เอ็กซ์โปจบเขาก็เคลียร์หมดแล้วทำตรงนั้นเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นี่คือ Man-made ที่จะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ในปี 2030 ที่เราไปเห็นของเมืองนอกแล้วบอกว่าเมื่อไหร่ประเทศเราจะมีทำไมบ้านเราไม่เห็นมีบ้างเลย นี่คือโอกาสของเรา คือสิ่งที่เราจะสร้างให้เกิดขึ้น ทั้งหมดคือการจ้างงานคนไทยทั้งหมด การท่องเที่ยวประเทศไทยจะไม่มีคำว่าโลว์ซีซันเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว