×

นายกฯ กำชับกระทรวงเกษตรฯ วิจัยข้าวต้องใช้ได้จริง หลังราคาข้าวเปลือกไทยรั้งท้ายชาติเอเชีย เตรียมแก้กฎหมายเอาผิดซื้อ-ขายข้อมูลคอมฯ

โดย THE STANDARD TEAM
21.11.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

วันนี้ (21 พฤศจิกายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีข้อสั่งการให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ให้อำนวยความสะดวกให้กับโครงการนำร่องที่จะทำให้การค้าชายแดนสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพขึ้น ด้วยนโยบาย One stop Service ที่ด่านศุลกากร จังหวัดหนองคาย โดยขอให้โครงการต้นแบบดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะจะทำให้ต้นทุนต่ำลง การค้าชายแดนคึกคักยิ่งขึ้น 

 

พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังได้เชิญชวนให้รัฐมนตรีทุกคนให้หาเวลาไปเยี่ยมชมงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 จังหวัดเชียงราย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นเทศกาลที่ได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก 

 

สั่ง รมว.ยุติธรรม เร่งดีเอสไอ แก้ปัญหา ‘หมูเถื่อน’ 

ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้กำชับให้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไปกำกับเร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เร่งดำเนินคดีเอาผิดกับตัวการรายใหญ่ ไม่ใช่แค่คดีหมูเถื่อน แต่รวมถึงคดีหุ้น STARK และหุ้น MORE ด้วย โดยภายในกลางสัปดาห์หน้าต้องการเห็นตัวใหญ่ของการทำผิดเรื่องหมูเถื่อน ให้เอามาให้ได้  

 

ราคาข้าวเปลือกไทยรั้งท้ายชาติเอเชีย 

ชัยระบุอีกว่า นายกฯ กำชับถึงราคาข้าวเปลือกของประเทศไทยที่รั้งท้ายในเอเชีย รวมถึงอาเซียนที่รั้งท้าย แทบจะบ๊วย แพ้แม้กระทั่งผลผลิตต่อไร่ของกัมพูชา ลาว เวียดนาม รวมถึงจีนที่ทิ้งห่างหลายชั้น โดยได้สะท้อนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีกรมการข้าววิจัยพันธุ์ข้าวมีคุณภาพหลายสายพันธุ์ทำไมไม่นำมาเผยแพร่แนะนำเกษตรกร 

 

ดังนั้น จึงขอให้เร่งมือเมื่อพัฒนาสายพันธุ์แล้วก็ต้องใช้ได้จริง เพราะดูตัวเลขแล้วผลผลิตต่อไร่ต่ำเหลือเกิน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่า ฤดูหน้าจะมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่จะตอบสนองผลผลิตต่อไร่และคุณภาพของข้าวมาแนะนำให้ชาวนา

 

เตรียมแก้กฎหมายเอาผิดซื้อ-ขายข้อมูลคอมฯ 

ขณะที่ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกฯ สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หามาตรการป้องกันการซื้อ-ขายข้อมูลส่วนบุคคล และหาแนวทางคุ้มครอง โดยสาเหตุเกิดจากหน่วยงานรัฐขาดการเฝ้าระวังตรวจสอบความปลอดภัยทางข้อมูลไซเบอร์นั้น กระทรวงดีอีได้ให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตั้งศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการดำเนินการตรวจสอบระหว่างวันที่ 9-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตรวจสอบหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนไปกว่า 3,119 หน่วยงาน 

 

“พบข้อมูลรั่วไหล 1,158 เรื่อง แก้ไขแล้ว 781 เรื่อง มีการซื้อ-ขายข้อมูล 3 เรื่อง ซึ่งกระทรวงได้ส่งเรื่องให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดำเนินการแล้ว” คารมกล่าว 

 

คารมระบุว่า ตั้งเป้าดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จใน 30 วัน 9,000 หน่วยงาน และในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้จะเร่งผิดการซื้อ-ขายข้อมูลส่วนบุคคลและเร่งสืบสวนคดี จากเดิมที่การจัดเก็บข้อมูลกระจัดกระจายกระทรวงดีอีจะให้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ที่ที่จัดเก็บข้อมูลของภาครัฐเพื่อความปลอดภัย และในระยะเวลา 1 ปีจะปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสามารถฟ้องร้องคดีได้เอง ป้องกันการซื้อ-ขายข้อมูล ให้มีการเพิ่มบทลงโทษ อีกทั้งจะแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้มีความผิดฐานซื้อ-ขายข้อมูล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X