วานนี้ (1 พฤศจิกายน) เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ ซึ่งตรงกับเวลา 23.00 น. ของไทย) ณ ศูนย์การประชุม The Scottish Event Campus พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสาระสำคัญในการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม ยืนยันไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกและเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 เพราะไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงอยู่ในกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีส และไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องและแข็งขัน
ในส่วนของไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ไทยสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงกว่า 2 เท่า ก่อนกำหนดเวลาถึง 1 ปี เพราะในปี 2019 ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วถึงร้อยละ 17
นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) และได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC รวมถึงได้จัดทำแผนงานต่างๆ ในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกของไทยในปี 2022 ว่า ไทยได้กำหนดให้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นวาระหลักในการประชุม
ซึ่งในตอนท้ายของการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแล รักษาโลก เพราะ “เราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องการรักษาและเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเรา เหมือนโลกนี้อีกแล้ว”
ทั้งนี้ ภายหลังนายกรัฐมนตรีร่วมการประชุม เวลา 19.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ ซึ่งตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 02.00 น. ของไทย) ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kelvingrove นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองสำหรับผู้นำที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ของสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าวด้วย