วันนี้ (4 พฤศจิกายน) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงภายหลังการหารือว่า การประชุมในวันนี้พูดคุยกันถึงเรื่อง MOU 44 โดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทยและเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งกัมพูชาก็รับรู้เช่นเดียวกัน รวมถึงทั้งไทยและกัมพูชา ก็รับรู้กันเช่นนั้นว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส
“รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดกับกัมพูชาเองเราไม่เคยมีปัญหาและไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย เพราะฉะนั้นอาจเกิดความเข้าใจผิดกันเองในประเทศไทย มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับเรื่องของ MOU นั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ยังมีอยู่ ไม่สามารถยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้การตกลงของทั้ง 2 ประเทศ ถ้ายกเลิกเองจะถูกฟ้องร้อง พร้อมย้ำว่า MOU 44 ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เพราะตีเส้นไว้อยู่แล้วและจะเห็นได้ว่าเว้นเกาะกูดไว้ให้ประเทศไทย ซึ่งการพูดคุยกันไม่ได้พูดถึงเรื่องพื้นที่ที่ดิน แต่คุยกันเรื่องพื้นที่ทางทะเล
ดังนั้นจะตกลงกันอย่างไรต้องมีคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงกลาโหม เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เมื่อตั้งคณะกรรมการเสร็จแล้วก็จะศึกษาและพูดคุยกันว่า ระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง
ในขณะเดียวกันการไม่ยกเลิก MOU ทำให้ถูกมองว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นั่นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับ MOU ฉบับนี้ แต่ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เนื่องจากตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน จากนั้นปี 2516 ไทยก็ขีดเส้น แต่ข้อตกลงไม่เหมือนกันจึงทำ MOU ขึ้นมา และเปิดให้เจรจาว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้คนไทยทุกคนสบายใจได้ว่าจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาไม่ได้สนใจเกาะกูดของไทย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้
ไม่เคยยกเลิก MOU
ส่วนที่มีการอ้างว่า มีการยกเลิก MOU ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่มี เพราะตามข้อเท็จจริง MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศซึ่งตามกฎหมายต้องเข้าสู่สภา และในปี 2552 เรื่องนี้ก็ไม่ได้เข้าสภา ในปี 2557 สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยัน และทุกคนยืนยันตรงกันว่า มีมติ ครม. ว่าไม่มีการยกเลิก
สำหรับข้อเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 นั้น นายกรัฐมนตรีถามกลับว่า ยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ แต่ต้องมีข้อตกลงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ MOU นี้เปิดให้ทั้ง 2 ประเทศคุยกัน
เมื่อถามว่า การแถลงในวันนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีอาจถูกมองว่าเดินหน้าลุยต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกรัฐมนตรีตอบทันทีว่า ไม่จริง การมาในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดายและเข้าใจในหลักการเดียวกัน ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน ไม่มีอะไรข้างหลัง อีกทั้งเป็นไปตามกฎหมาย ไม่คิดว่านี่คือเผือกร้อน และเรายังไม่เสียเปรียบในเรื่องการตกลงนี้ ขออย่าเอาเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ต้องทำความเข้าใจให้ตรงตามหลัก ทั้งนี้ การพูดคุยกันในวันนี้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันในการเดินหน้าต่อเรื่อง MOU
รอหารือระหว่างประเทศก่อนแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม
ส่วนข้อตกลงในเรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียมใต้ทะเล รัฐบาลมีแนวทางหรือจุดยืนอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องพูดคุยกันระหว่างประเทศก่อน และต้องศึกษารายละเอียดว่าจะแบ่งอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศได้ผลประโยชน์ที่ยุติธรรม รัฐบาลทราบดีว่ามีแหล่งพลังงานและก๊าซธรรมชาติที่สามารถลดต้นทุนได้ จึงต้องส่งคณะกรรมการที่รู้รายละเอียดไปศึกษาร่วมกับกัมพูชา เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนต่อประชาชน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการตั้งคณะกรรมการ
ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับกัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเน็กชันที่ดีได้ แต่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศต้องใช้คณะกรรมการคุยกันเพื่อไม่ให้มีอคติ เกิดความรู้จริง รู้ครบ และยุติธรรม นี่เป็นสิ่งสำคัญ โดยแพทองธารยืนยันว่า ตนเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยและคนไทยต้องมาก่อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ
อนุทินยืนยันเกาะกูดเป็นอำเภอของไทย
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมพูดถึงพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล MOU 2544 บริเวณเกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจงเชิงเทคนิคให้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้ฟัง ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า เกาะกูดเป็นอำเภอที่ถูกยกระดับจากกิ่งอำเภอ และไม่มีช่วงใดที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของแผ่นดินอื่น เกาะกูดเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย
ไชยชนกชี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องดูความถูกต้อง-เสียงประชามติเกินครึ่งเห็นชอบ
ขณะที่ ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่ทันการเลือกตั้งที่ถึงนี้ว่า ทันหรือไม่ทันทุกคนก็จะขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ แต่กระบวนการต้องที่ถูกต้องและวิธีการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายของคนทั้งประเทศ ถ้าเรามัวแต่จะเร่งรีบเพื่อให้มันเสร็จ หากพลาดขึ้นมาไม่มีใครรับผิดชอบได้
ไชยชนกกล่าวอีกว่า ทุกคนต้องมาคุยกันว่าตรงไหนที่เป็นปัญหา จริงๆ ในการพัฒนาประเทศและดูแลประชาชนถ้ามีความชัดเจน ไม่มีใครติดขัดที่จะเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีแต่คนพูดว่าแก้ไข แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขตรงไหน และเมื่อบอกว่า ไม่แก้มาตรา 112 แล้วจะแก้ตรงไหน จึงเป็นเหตุที่พรรคภูมิใจไทยมองว่าการทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าประชาชนเห็นด้วยมากพอสมควร เกินครึ่งหรืออย่างน้อยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ เราสบายใจไม่ว่าจะเดินอย่างไร หรือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลชุดต่อไป เพราะเรื่องบางเรื่องใช้เวลามากกว่ารัฐบาล 1 ชุด