วันนี้ (8 เมษายน) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการต่างๆ รัฐบาลจึงเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้ปิดสถานประกอบการนั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
2. กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้ปิดสถานประกอบการในพื้นที่นั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
3. กรณีมีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
อนุชาเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจกำกับดูแลให้สถานประกอบการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่กำหนด ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มยังเปิดดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานประกอบการใด ให้ปิดสถานที่นั้นๆ เพื่อจัดระเบียบและระบบป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือหากพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครพิจารณาเพิ่มการปิดร้านอาหารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สถานประกอบการที่เป็นห้องแอร์ สถานประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน
อนุชายังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 ที่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด ไว้เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย/โรคระบาด หยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย