วันนี้ (31 พฤษภาคม) ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวิสัยทัศน์และแนวทางเพื่อขับเคลื่อน IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม
เศรษฐากล่าวว่า นโยบายเรื่องการเกษตรเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยประชากรไทยกว่าร้อยละ 40 ล้วนเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลพร้อมมุ่งมั่นยกระดับภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี และดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิต ไปจนถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลกตลอดห่วงโซ่ ด้วยนโยบายและมาตรการสำคัญมุ่งสู่ผลสำเร็จที่ตามมาคือ ภาคเกษตรเติบโต นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล
“เกษตร ดิน น้ำ ปุ๋ย พันธุ์พืช เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการสำรวจดิน ไม่ใช่มาใส่ปุ๋ยมั่วๆ ไป น้ำหากไม่ท่วม ไม่แล้ง เชื่อว่ารายได้ของประเทศนี้จะพุ่งขึ้นมหาศาล เราต้องดูแลบริหารจัดการน้ำให้ดี ทำให้เขาสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง เมื่อราคาข้าวดี เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไป ผลตอบแทนจะตกอยู่ที่ประเทศและคนไทย จึงต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดี จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด” เศรษฐากล่าว
เศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เชิญนักธุรกิจมาลงทุนอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร รวมไปถึงการห้ามสินค้าเถื่อน เน้นมาตรการการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันการทำเกษตรแม่นยำ แนวโน้มตลาด รวมถึงมุ่งให้เกิดการปฏิบัติจริงในเรื่องของความยั่งยืน ไม่เผา รวมถึงลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันได้ในเรื่องของ Carbon Emission
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ทั้งนี้ ยังมีมาตรการต่างๆ อีกมากมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และพร้อมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกฝ่าย ที่ร่วมบูรณาการจนเกิดเป็นผลสำเร็จ เพื่อนำพาภาคการเกษตรไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก และเชื่อมั่นว่าผลสำเร็จจากการพัฒนาภาคการเกษตรจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และทำให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ดี ปลดหนี้ มีภูมิคุ้มกัน และสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้าน ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ผ่านการขับเคลื่อนด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน และ 2. มาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้
โดยมาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 สินค้าที่มีการผลิตมากกว่าความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบด้วย ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ไก่ และกุ้ง มุ่งเน้นนโยบายสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตกับความต้องการใช้ การควบคุมปริมาณการผลิต พร้อมสินค้าทางเลือก การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างตลาดใหม่ และการส่งเสริมการตลาด
กลุ่มที่ 2 สินค้าที่ตลาดมีความต้องการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และทุเรียน มุ่งเน้นนโยบายการเพิ่มผลผลิตในประเทศ ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการขยายพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ตลอดจนการผลิตด้วยพันธุ์ดีคุณภาพสูง การเพิ่มช่องทาง และการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ
กลุ่มที่ 3 สินค้าศักยภาพ ได้แก่ ถั่วเหลือง กาแฟ ชา โคเนื้อ และโคนม มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทดแทนการนำเข้า จะสนับสนุนทั้งพันธุ์ดี เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม และการเข้าถึงตลาด