วันนี้ (15 มกราคม) รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (16 มกราคม) ว่าต้องจับตาและติดตามการลงพื้นที่ชายแดนใต้ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เพราะเป็นการเดินทางลงพื้นที่ในช่วงเวลาที่ความรุนแรงกำลังกลับมาและอยู่ในความสนใจของสาธารณะเท่านั้น แต่เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 4 เดือนก่อน และหากนับเฉพาะผู้นำทางการเมืองในระดับนายกรัฐมนตรี ก็ต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน
“ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา เราแทบจะรับรู้ได้น้อยมากว่านายกฯ และรัฐบาลชุดนี้จะเอาอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่รู้สึกผิดหวังกับกรณีที่คดีตากใบขาดอายุความไป โดยที่รัฐบาลน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ยังมีคำถามด้วยว่า ตกลงแล้วรัฐบาลจะสานต่อการพูดคุยสันติภาพที่หยุดชะงักอยู่อีกหรือไม่ หรือเห็นว่าเป็นปัญหาและจะยกเลิกไป หรือรัฐบาลจะเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบอื่น จะเน้นใช้กำลังและกฎหมายต่อไป หรือจะมุ่งเพียงแค่การพัฒนาเศรษฐกิจ การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงอยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะหัวใจคือเรื่องความยุติธรรมและการสร้างสันติภาพ เราจึงต้องจับสัญญาณที่จะสื่อสารออกมาให้ดี” รอมฎอนกล่าว
รอมฎอนระบุว่า เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงของการทบทวนทิศทางและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้นายกฯ สัมผัสกับผู้คนในพื้นที่และภูมิประเทศ ซึ่งน่าจะมีส่วนในการทบทวนข้างต้น แม้ว่ากำหนดการเดินทางจะค่อนข้างแน่น เพราะต้องเดินทางไปทั้ง 3 จังหวัดภายใน 1 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากกำหนดการข้างต้นจะพบว่ามีจุดเน้นที่ไม่แตกต่างมากนักกับเมื่อครั้งที่อดีตนายกฯ ลงพื้นที่ไปเมื่อปีที่แล้ว กล่าวคือ เน้นไปติดตามงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ริเริ่มดำเนินการไปก่อนหน้านี้
“สิ่งที่หายไปคือภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงและการสร้างสันติภาพ แม้ว่าการเดินทางไปเยือนโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจะมีความหมายสำคัญ เนื่องจากเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่และมีบทบาทมากในพื้นที่ แต่คงต้องจับตาดูว่านายกฯ จะสื่อสารอะไรบ้างระหว่างการลงพื้นที่”
รอมฎอนกล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีคำแถลงการณ์ร่วมกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย ว่าจะส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงการเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่มีทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
และยังเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกหลังการพบปะกันระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับอิบราฮิม โดยเชื่อว่าวาระการสร้างสันติภาพเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดคุยหารือกัน ความเคลื่อนไหวนี้นำมาซึ่งการประกาศทบทวนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่ต้องจับตาก็คือนอกจากกิจกรรมพบปะกับหน่วยงานราชการและประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้ว นายกฯ จะส่งสัญญาณทางการเมืองที่สำคัญอะไรอีกหรือไม่
“มีข้อสังเกตด้วยว่าการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งของอดีตนายกฯ เมื่อปีที่แล้ว และนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ ไม่มีกำหนดการไปเยือนหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือค่ายทหารใดๆ เลย ซึ่งแตกต่างไปจากนายกฯ คนก่อนๆ ผมคิดว่านี่เป็นความตั้งใจที่จะไม่แตะประเด็นด้านความมั่นคง ทั้งๆ ที่ความคาดหวังของประชาชนอยากเห็นว่ารัฐบาลจะสามารถสั่งการกองทัพและ กอ.รมน. ได้ นอกจากนี้ ยังอยากเห็นการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก ที่เคยเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคด้วย”
รอมฎอนกล่าวว่า พรรคประชาชนจะติดตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล นอกจากนี้ กลไกภายในรัฐสภา การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้กำลังอยู่ในช่วงการสรุปร่างรายงาน โดยจะมีการสัมมนาภายในวันที่ 17 มกราคม ก่อนที่จะยกร่างรายงาน ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จในอีกไม่นาน และนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายในสมัยประชุมนี้ ตนคาดหวังว่าการเปิดรับฟังของรัฐบาลในหลายช่องทาง จะทำให้การทบทวนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมีความรอบด้านมากขึ้น