วันนี้ (15 สิงหาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2565 (ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจต่อผลสำเร็จของการดำเนินการโครงการ EEC ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากและเป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากรายได้ปานกลางและยกระดับความเป็นอยู่ให้ประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ EEC มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ในภาพรวมจะเกิดความสำเร็จ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญไปถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆ ของประเทศให้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการ EEC รวมถึงการทำให้เกิดการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมอย่างเป็นระบบ ให้เกิดการเจริญเติบโตไปสู่ทุกภาคของประเทศไทยและเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วย โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้ช่วยกันดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ ของ EEC สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปได้ตามแผนที่กำหนดไว้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของ EEC ในช่วง 4 ปีแรก (2561-2565) ซึ่งเกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ และเกิดผลประโยชน์ตรงถึงประชาชนทุกกลุ่ม ได้แก่
- เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของ EEC
- สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดย 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-Curve มีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้
- สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 66 จะดำเนินการได้ 100,000 คน
- ผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืน ได้แก่
-
- ผลประโยชน์ทางตรง โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ระบบสาธารณสุขทันสมัย สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า ขยะ) ทันสมัยเพียงพอ มีโอกาสมีงานทำ รายได้ดี
- การพัฒนาตรงถึงประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต บูรณาการการลงทุนในชุมชน ผ่านแผนเกษตร แผนพัฒนาเชิงพื้นที่ Neo Pattaya-บ้านฉาง-บ้านอำเภอ-มาบตาพุด-ระยอง
- โครงการลงถึงระดับชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมทั้งพลังสตรีดูแลสิ่งแวดล้อม, EEC Square, บัณฑิตอาสา, เยาวชนต้นแบบ, โครงการต้นแบบสอนภาษาอังกฤษและจีน, หลักสูตร EEC กับการบริหาร อปท.
- โครงการสินเชื่อพ่อค้า-แม่ขาย และ SMEs หลังสถานการณ์โควิด กับ 9 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ปล่อยไปแล้ว 51,420 ราย เป็นสินเชื่อ 34,548 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบถึงแนวทางการดำเนินงานใน 5 ปีข้างหน้าของ EEC บนพื้นฐาน ก้าวกระโดดใน 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) ในด้านต่างๆ ได้แก่
- 5G ของไทยเร็วที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน นำหน้าประเทศอื่นๆ ประมาณ 2 ปี ทำให้บริษัทชั้นนำด้านดิจิทัลหันมาลงทุนใน EEC อนาคตจะเป็นธุรกิจไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
- EV นโยบาย EV ของรัฐบาลไทยนำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยตั้งใจจะเป็นฮับการผลิตของอาเซียนต่อไป ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิต EV เข้ามาลงทุนใน EEC รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถ EV
- เทคโนโลยีการแพทย์ และ Wellness การที่ EEC ได้จัดระบบสาธารณสุขและการแพทย์ลงตัว โดยแบ่งงานกันทำทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเปิดฉากการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทั้งจีโนมิกส์ และ Digital Hospital ทำให้มีความสนใจการลงทุนทางการรักษาพยาบาลระดับสูง ระบบที่เชื่อมโยงดังกล่าวจะนำไปสู่เครือข่ายธุรกิจ Wellness ทั้งโรงพยาบาลชั้นนำ เวชสำอาง ศูนย์พักฟื้น ธุรกิจโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์
- ศูนย์นวัตกรรมสำคัญ เริ่มดำเนินการ ได้แก่ EECi เสร็จระยะแรก กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV แบตเตอรี่ EECd ส่วน Digital Valley เปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 2565
- โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก เข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปีนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2568-2569 ซึ่งจะทำให้ EEC ก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 2569 เป็นต้นไป
สำหรับเป้าหมายของ EEC ในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-2570) คือเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท (2566-2570) โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท และ EEC น่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไปสู่หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมได้รับทราบด้วย เพื่อทุกฝ่ายจะได้รับทราบถึงการดำเนินงานดังกล่าวของรัฐบาล ในการเตรียมการประเทศสู่อนาคตในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก