พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกทีมเศรษฐกิจเข้าหารือบนตึกไทย อาทิ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าพบเพื่อหารือมาตรการเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดรอบใหม่
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบัญชีอย่างเป็นทางการ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ ว่า เช้านี้ ได้มีการหารือมาตรการด้านภาษี เพื่อลดภาระรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ และผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ฯ เป็นต้น สำหรับเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติในวันอังคารหน้า
ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือในรูปแบบ ‘ลดรายจ่าย’ ควบคู่กับการ ‘เพิ่มรายได้’ เช่น โครงการ ‘เราชนะ’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ที่มีความก้าวหน้า เป็นไปได้ด้วยดี
หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ หารือกับทีมเศรษฐกิจนานกว่า 2 ชั่วโมง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกจากที่ประชุม และพยายามเลี่ยงตอบคำถามผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่มาดักรอถามถึงความชัดเจนในการแก้ปัญหาข้อจำกัดในโครงการ ‘เราชนะ’ เพราะมีเสียงเรียกร้องให้จ่ายเป็นเงินสดเนื่องจากไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์โฟน พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ไม่ได้หารือในเรื่องนี้ มาหารือเพียงแค่เรื่องรายงานเศรษฐกิจของธนาคารโลก
ทั้งนี้ อาคมกล่าวถึงมาตรการภาษีที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 มกราคม 2564 ว่า ให้รอดูในวันอังคารหน้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการ ‘เราชนะ’ ยังใช้เกณฑ์การจ่ายเงินเดิม คือใช้เงินผ่านสมาร์ทโฟน โดยโอนเงินผ่านเข้าระบบแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช่หรือไม่ อาคมกล่าวว่า ทาง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีได้พูดชัดเจนไปแล้วในเรื่องนี้ เมื่อถามว่าจะเปลี่ยนเป็นให้เงินสด หรือแจกเป็นคูปองให้ไปรับที่ธนาคารหรือไม่ อาคมกล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ให้รอดู
ส่วนทางด้าน พรชัย กล่าวถึงเกณฑ์การจ่ายเงินในโครงการเราชนะว่า ยังคงหลักการเดิมเพื่อให้เงินลงสู่ฐานรากอย่างแท้จริง ช่วยให้มั่นใจว่าร้านค้าขนาดเล็ก อาทิ หาบเร่ แผงลอย ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ “ถ้าให้เป็นเงินสดจะไม่มีอะไรการันตีว่า เงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนได้หาทางแก้ปัญหานี้อย่างไร พรชัยกล่าวว่า กระทรวงการคลังพิจารณาว่า ปัจจุบันประชาชนใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนผ่านโครงการคนละครึ่งจำนวนพอสมควร อาทิ ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกว่าล้านคน
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังเข้าใจปัญหา และกำลังรอดูว่าถึงเวลาใช้จ่ายแล้วปัญหาที่แท้จริงคืออะไร
“คนที่มีโทรศัพท์ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนนั้น สมมติว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่มาก ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว เขาก็ได้รับเงินทันที ซึ่งสามารถใช้เงินในร้านธงฟ้าประชารัฐ และอยู่ระหว่างขยายระบบให้สามารถใช้จ่ายได้ในร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะได้ ซึ่งจะพยายามวางระบบให้ทันก่อนจ่ายเงินงวดแรกผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์