×

PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ กับวิกฤตสุขภาพที่คนไทยจะต้องแลก

26.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้
  • PM2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก

หลายวันมานี้ หลายคนคงพอสังเกตเห็นได้ว่าในท้องฟ้าของเรานั้นปกคลุมไปด้วยหมอกจางๆ โดยหารู้ไม่ว่าที่ตาเรามองเห็นนั้นกลับไม่ใช่หมอก หากแต่คือฝุ่นควันที่มีมากจนเกินค่ามาตรฐาน ดังที่กรมควบคุมมลพิษได้ออกมากล่าวว่า หมอกหนาทึบที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน

 

 

วันนี้ THE STANDARD จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีชื่อว่า PM2.5 ตัวการที่สร้างหมอกควันปกคลุมไปทั่วท้องฟ้าของกรุงเทพฯ

 

 

PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ขนจมูกไม่สามารถกรองได้

PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน อาจเทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กขนาดที่ขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง

 

 

โดยที่ PM2.5 เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลักคือ

 

1. แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่

  • การเผาในที่โล่ง ปล่อย PM2.5 มากที่สุดถึง 209,937 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงหมอกควันพิษข้ามพรมแดน
  • การคมนาคมขนส่ง ปล่อย PM2.5 ราว 50,240 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) อีกด้วย
  • การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี แม้จะมีค่า PM2.5 น้อยกว่าการเผาในที่โล่งและการคมนาคมขนส่ง หากแต่กลับมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
  • อุตสาหกรรมการผลิต ปล่อย PM2.5 ราว 65,140 ตันต่อปี โดยพบมากที่สุดในพื้นท่ีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเกิดจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม

 

2. การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งมีสารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์

 

 

ด้วยองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดรับกับรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนี้ส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากมลภาวะทางอากาศนี้อีกด้วย

 

 

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ จาก The World Air Quality Index องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหามลภาวะในอากาศ

สามารถติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ได้ที่ aqicn.org/city/bangkok

 

ค่า PM2.5 ตามกำหนดองค์การอนามัยโลก

ในปี 2548 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำเพิ่มเติมในการกำหนดค่าเป้าหมายของค่ามาตรฐานเฉลี่ย 1 ปี แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 35, 25, 15 และ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของประเทศ โดยค่าเฉลี่ยรายปีและค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 10 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

 

แต่ไทยได้มีการกำหนดค่าไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีและค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 และ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามข้อสรุปขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษที่จะสามารถปล่อยมลพิษทางอากาศได้มากกว่าหลายประเทศ

 

 

กรีนพีซ ได้รายงานค่าฝุ่นละอองจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษทั้งหมด 61 แห่งใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวนสถานีที่ตรวจวัดและรายงานค่า PM2.5 อยู่เพียง 25 สถานีใน 18 จังหวัด พบค่า PM2.5 สูงสุดอยู่ที่จังหวัดสระบุรี (หน้าพระลาน) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม จำนวน 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และรองลงมาคือกรุงเทพฯ (ธนบุรี) จำนวน 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่ามาจากการคมนาคมสัญจร

 

โดยในจำนวนสถานีทั้งหมดที่รายงานมา พบว่ามีหนึ่งสถานีในกรุงเทพฯ (เคหะชุมชนดินแดง) ที่ไม่พบค่า PM2.5 เนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

 

 

หลังจากนั้น กรีนพีซได้นำค่า PM2.5 เข้าไปวัดร่วมกับผลดัชนีคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าผลดัชนีคุณภาพอากาศย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2558-2560 นั้นมีมลพิษเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและค่ามาตรฐานของประเทศไทย เป็นช่วงเวลา 3 ปีซ้อนที่พบว่าค่ามาตรฐานมลพิษในอากาศของประเทศไทยยังคงแย่เหมือนเดิม

 

ไม่ใช่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่กำลังจะต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะครั้งใหม่ เพราะการขยายฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ที่จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแม้กระทั่งแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยที่ยังไม่เคยได้มีการกล่าวถึงการจัดการกับตัวการของปัญหาสุขภาพอย่าง PM2.5 ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นไปตามการพัฒนาของเมือง สวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นหนึ่งหมุดหมายในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่ระบุไว้ว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมตามที่ลงนามรองรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ขององค์การสหประชาชาติ

 

 

ดังนั้นปัญหามลภาวะจาก PM2.5 จึงเป็นสิ่งที่ควรจัดการควบคู่ไปกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

โดยมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมมลพิษในอากาศ ซึ่งเริ่มแรกมีการกำหนดค่าการปล่อย PM2.5 ไว้ใกล้เคียงกับไทย แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินเรื่องนี้ในเชิงนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพพลเมืองในประเทศ เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อเมริกา ที่ปัจจุบันมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 12, 14 และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับค่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก และเอาจริงเอาจังในการคุ้มครองประชาชนด้วยจัดการแก้ไขปัญหาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลัก ตลอดจนควบคุมการปล่อยสารพิษของโรงงานอุตสาหกรรม สาเหตุของปัญหามลภาวะอย่างจริงจัง  

 

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นรับรู้ในเรื่องของ PM2.5 อยู่นี้ องค์การอนามัยโลกและนานาชาติก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการหันไปจับตามองและถกกันในเรื่องของฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับนาโน (Environmental Nano-pollutants: ENP) และหาวิธีการรับมือเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างจริงจัง จากมลภาวะที่กำลังก่อตัวเป็นหมอกควันขึ้นไปเกาะตัวบนชั้นโอโซน แล้วย้อนกลับลงมาเพื่อสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง

 

อาจต้องมาดูกันว่าอากาศหมอกควันที่แผ่คลุมท้องฟ้าอยู่ในขณะนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของฤดูกาลเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากการสะสมของสารพิษที่มากขึ้นทุกขณะโดยขาดการรับมืออย่างจริงจัง

 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาถกกันอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีอากาศที่ดีได้ใช้หายใจตามสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising