×

สำรวจจักรวาลของ PLAVE วง Virtual Idol จากบริษัทสตาร์ทอัพที่หลอมรวมศิลปะและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

11.09.2023
  • LOADING...

PLAVE หนุ่ม 5 คน 5 สีผมในลายเส้นมันฮวาเกาหลีที่เพิ่งเดบิวต์ใหม่ อาจจะยังสร้างความสับสนให้คนทั่วไปอยู่บ้างเมื่อได้เห็นคลิปการแสดงหรือโมเมนต์ตลกๆ ของพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วเบื้องหลังตัวละครเหล่านี้มีคนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ด้วยเทคโนโลยี Motion Capture แบบที่วงการภาพยนตร์หรือเหล่า VTuber ใช้กันมานาน ไม่ใช่ AI แต่อย่างใด

 

ในโอกาสที่ PLAVE เพิ่งคัมแบ็กเป็นครั้งแรก เราขอชวนมาทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น กับคอนเซปต์การเป็นวง Virtual Idol ที่หลอมรวมศิลปะและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันจนสามารถสร้างแฟนด้อมอันแข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วอยู่ ณ ตอนนี้

 

 

จักรวาลของ PLAVE และโลกที่ความฝันเชื่อมต่อกับความจริง

 

ย้ำกันอีกครั้งว่า นัมเยจุน, ฮันโนอา, แบมบี้ (แชบงกู), โดอึนโฮ และ ยูฮามิน เบื้องหลังทั้ง 5 คนนี้คือมนุษย์จริงๆ ที่มีศักยภาพการร้อง เต้น แรป เล่นดนตรี รวมถึงมีส่วนร่วมกับงานเบื้องหลังทั้งการทำเพลงและคิด Choreography กันเอง

 

ปกติสมาชิกจะผลัดกันมาทำไลฟ์สตรีมมิงคล้าย VTuber และมียอดเข้าชมเฉลี่ยอยู่ที่หลักแสนต่อคลิป แต่พวกเขาก็เน้นทำกิจกรรมแบบไอดอลวงอื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นแสดงในรายการเพลง, สัมภาษณ์ทางรายการวิทยุ, จัดอีเวนต์วิดีโอคอลไซน์ หรือเดือนก่อนก็เพิ่งมีคลิปการแสดงพิเศษในเทศกาลดนตรีอย่าง KCON LA 2023 มาแล้ว

 

ชื่อวง PLAVE มาจากคำว่า ‘Play’ และ ‘Rêve’ (ความฝัน, แฟนตาซี) ตามคอนเซปต์ของคาแรกเตอร์ทั้ง 5 คนที่สร้างโลกใบใหม่เพื่อทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ โดยมาพร้อมกับแฟนคลับอย่าง PLLI (พึลลี) มาจากคำว่า ‘Play’ และ ‘Reality’ ที่เป็นผู้มอบความรักให้กับพวกเขาและอยู่ด้วยกันในความเป็นจริง

 

ก่อนจะได้เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อ 12 มีนาคม 2023 ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว บริษัท VLAST ค่อยๆ เปิดเผยสมาชิกในฐานะ V.AND Trainee ก่อนจะเปิดตัวทุกคนพร้อมกันตอนต้นปีด้วยรูปคาแรคเตอร์ฝีมือการร่วมออกแบบของ นักดี (NAKDI) นักวาดเกาหลีชื่อดังที่ล่าสุดเพิ่งวาดเว็บตูนให้กับ RIIZE วงน้องใหม่ของค่าย SM Entertainment ด้วย

 

 

 

PLAVE เดบิวต์พร้อมซิงเกิลอัลบั้ม ASTERUM มีทั้งหมด 2 เพลง ได้แก่ เพลงไตเติล 기다릴게 (Wait For You) และ Pixel world ชื่ออัลบั้มมาจากรากศัพท์ภาษาละติน ‘Aster’ แปลว่า ดวงดาว คำที่คุ้นเคยกันส่วนใหญ่น่าจะเป็นชื่อของดอกแอสเตอร์และพืชวงศ์ Asteraceae ซึ่งตั้งตามรูปร่างที่มีลักษณะแฉกเหมือนดาว

 

แต่สำหรับจักรวาลแห่งนี้ ‘Asterum’ คือพื้นที่ลึกลับมหัศจรรย์ระหว่าง ‘Caelum’ (ท้องฟ้า, สวรรค์) โลกเสมือนจริงของ PLAVE กับ ‘Terra’ (พื้นดิน, โลก) โลกของมนุษย์เรา กลายมาเป็นกิมมิกเฉพาะตัวที่ทำให้คอนเซปต์ของวงมีเรื่องราวน่าติดตามมากยิ่งขึ้น

 

อัลบั้มนี้เป็นก้าวแรกที่บอกเล่าว่าพวกเขาติดต่อสื่อสารและได้รับความสามารถจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของ Terra ได้อย่างไร ภายในมิวสิกวิดีโอเพลงไตเติลเผยให้เห็นว่าสมาชิกต่างแยกกันอยู่ในสถานที่ที่ดูแฟนตาซีต่างจากโลกมนุษย์ โดยเฉพาะฮามิน น้องเล็กผู้เป็นคนเดียวที่ไม่รู้ปีเกิดของตัวเองและยังทิ้งปริศนาชวนให้ตั้งทฤษฎีกันไปต่างๆ นานา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีใครบางคนเขียนโค้ดเชื่อมต่อโลก Terra และ Caelum เข้าด้วยกัน จึงทำให้สมาชิกทั้ง 5 คนมาเจอกันในที่สุด เหมือนกับเนื้อร้องทั้งสองเพลงที่พูดถึงการอดทนเฝ้ารอให้ได้พบคนที่คิดถึงอีกครั้งและสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาด้วยกัน

 

 

มิวสิกวิดีโอ PLAVE – 기다릴게 (Wait for you) 

 

 

Asterum จุดเริ่มต้นของโลกใบใหม่

 

หลังจากเป็นรุกกี้กันมาได้สักพัก PLAVE ก็ปล่อยมินิอัลบั้มชุดที่ 1 ASTERUM: The Shape of Things to Come ออกมาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ขณะนี้พวกเขาสามารถทำยอดขายรวมได้เกิน 294,000 อัลบั้มแล้ว (ข้อมูลจาก Circle Chart วันที่ 10 กันยายน)

 

อัลบั้มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจังของเรื่องราวที่ PLAVE จะบอกเล่า พร้อมกับเพลงจำนวน 5 เพลง ได้แก่  왜요 왜요 왜? (Why?), 여섯 번째 여름 (The 6th Summer), I Just Love Ya, Dear. PLLI และเพลงพิเศษ 외계어 송 (Alien Song)

 

ภาพรวมยังคงเป็นเพลงป็อปจังหวะสนุกสนานรับกับความสดใสของฤดูกาล ขณะที่เพลงไตเติลอย่าง 여섯 번째 여름 (The 6th Summer) แตกต่างด้วยกลิ่นอายความเศร้าจากสายฝนและน้ำตาที่โปรยมาตั้งแต่ปล่อยภาพคอนเซปต์ ทว่าสุดท้ายแสงแดดก็ส่องลงมาหา PLAVE ที่เอาชนะความยากลำบากและมารวมตัวกันในจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนครั้งที่ 6

 

 

 

ครั้งนี้มิวสิกวิดีโอเปลี่ยนเป็นภาพ 2D และสมาชิกก็กลายเป็นเด็กมัธยมปลายทั่วไปที่อยู่ชมรมดนตรีด้วยกัน คอนเซปต์เพลงจึงเชื่อมโยงไปกับช่วงเวลาของเหล่าวัยรุ่นที่อยากให้ฤดูร้อนอันเปล่งประกายนี้คงอยู่ตลอดกาล

 

ดอกดาวเรือง หนึ่งในพืชวงศ์ Asteraceae ปรากฎอยู่หลายฉากจนชวนให้คิดถึงภาษาดอกไม้ของมันที่มีความหมายหลากหลาย เช่น ความโศกเศร้าของการจากลาทั้งจากเป็นและจากตาย หลายวัฒนธรรมมักจะใช้ดอกดาวเรืองในพิธีกรรมรำลึก อย่างเทศกาลแห่งความตาย (Día de Muertos) ของชาวเม็กซิกันที่เชื่อว่ากลีบสีเหลืองทองจะช่วยนำทางจิตวิญญาณของคนรักให้กลับมาอีกครั้ง

 

แต่ในอีกทางหนึ่ง ดาวเรืองก็เป็นตัวแทนของความมีชีวิตชีวาและสว่างสดใสเหมือนดวงอาทิตย์ จึงมีความหมายแง่บวกอีกอย่างว่าดอกที่ผลิบานสะพรั่งนั้นแปลว่าความสุขจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่ว่าเสียงนาฬิกาปลุกตอนจบและเนื้อเพลงท่อนสุดท้าย “ฉันฝันไป” จะมีเรื่องราวอะไรแอบซ่อนอยู่ แต่สุดท้ายเราก็ได้เห็นว่าทั้ง 5 คนหลุดจากช่วงเวลามืดหม่นและมาเล่นดนตรีด้วยกันอีกครั้งในทุ่งหญ้าดอกดาวเรือง ซึ่งสมาชิกเคยเฉลยว่าเป็นดอกไม้ใน Asterum ดินแดนที่ PLAVE ได้รวมตัวกันเพื่อทำตามความฝันของพวกเขานั่นเอง

 

 

 

มิวสิกวิดีโอ 여섯 번째 여름 (The 6th Summer)

 

 

ความทะเยอทะยานของ VLAST สตาร์ทอัพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

กว่าจะมาเป็น 5 คนที่กำลังสร้างฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงต้นสังกัด VLAST ซึ่งไม่ใช่ค่ายเพลงทั่วไป แต่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทสตาร์ตอัปรุ่นแรกภายใต้สถานีโทรทัศน์ MBC ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นอิสระในปี 2022 และสามารถดึงดูดเงินทุนตั้งต้นมูลค่า 2.4 พันล้านวอน คิดเป็นเงินไทยราวๆ 63.8 ล้านบาทจาก MBC และ IPX เจ้าของคาแรกเตอร์ดังอย่าง Line Friends, BT21, TRUZ

 

VLAST นิยามตัวเองว่าเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ Virtual ที่รวบรวมบรรดาเนิร์ดผู้ชื่นชอบแอนิเมชัน, ผู้เชี่ยวชาญด้านเอ็นจิ้นเกม และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชวลเอฟเฟกต์ บริษัทก่อตั้งโดย อีซองกู หรือที่แฟนๆ รู้จักในชื่อ วิลเลี่ยม อดีตหัวหน้าทีมวิชวลเอฟเฟกต์ของ MBC ผู้สั่งสมประสบการณ์กว่า 18 ปีด้วยผลงาน เช่น รายการ Infinite Challenge, สารคดี I Met You, ซีรีส์ Empress Ki, Gu Family Book, W: Two Worlds Apart, Kkondae Intern ฯลฯ

 

I Met You (너를 만났다) สารคดีที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้พบกับคนรักผู้ล่วงลับอีกครั้งผ่านแว่น VR และเทคโนโลยีต่างๆ นี่เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ผลักดันให้อีซองกูก่อตั้ง VLAST พร้อมคอนเซปต์ว่าจะสร้างแรงระเบิดด้วยคาแรคเตอร์ Virtual จึงใส่ตัว V เข้าไปในคำว่า ‘Blast’ โดยเขาตั้งใจใช้เทคโนโลยีเอ็นจิ้นเกมให้กว้างขวางมากขึ้น และหวังว่าบริษัทจะกลายเป็นผู้นำด้านกราฟิกเรียลไทม์ในอนาคตได้

 

ตัวอย่างสารคดี VR Human Documentary – I Met You ซีซัน 2

 

 

อีซองกูพูดถึง ค่ายแอนิเมชันระดับโลกอย่าง Pixar ว่าเป็นต้นแบบของ VLAST ในการผสมผสานศิลปะและเทคโนโลยีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อที่จะไปถึงจุดนั้นให้ได้ในอนาคต ในบริษัทก็รวบรวมคนเก่งๆ ทั้งในวงการกราฟิกและวงการบันเทิงเข้ามาร่วมผลักดันงานเบื้องหลังให้ดียิ่งขึ้น

 

ข้อมูลช่วงปลายปีที่แล้วเผยว่า VLAST เพิ่มพนักงานจาก 15 คนเป็น 35 คน และตอนนี้อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นองค์กรขนาดไม่ใหญ่มากนัก แฟนๆ จึงจะเห็นสมาชิก PLAVE พูดถึงประธานวิลเลี่ยมและเหล่าทีมงาน ‘ตุ๊กสึ’ อย่างใกล้ชิดอยู่บ่อยๆ ซึ่งนั่นกลายมาเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการติดตาม PLAVE ที่ทำให้รู้สึกว่าทั้งศิลปิน ทีมงาน และแฟนคลับกำลังเรียนรู้เส้นทางใหม่ในตลาด K-Pop และเติบโตไปด้วยกันจริงๆ

 

“ผมอยากจะพัฒนาผลงานทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่แฟนๆ และศิลปินสามารถสื่อสารและร่วมสร้างไปด้วยกันได้ มากกว่าจะเป็น Virtual Idol ที่เน้นแค่ความสามารถด้านเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการสร้าง Virtual Idol แต่ผมไม่ลืมความจริงว่าสุดท้ายแล้ว ดนตรีและคอนเทนต์ที่ดีคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ได้รับความรักจากแฟนๆ

เบื้องหลังงานดนตรีจากสมาชิกและทีมโปรดิวเซอร์ฝีมือดี

 

ไม่ใช่แค่งานกราฟิกที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมเท่านั้น เพราะพวกเขาก็ดึงดูดความสนใจได้ด้วยเพลงป็อปฟังง่ายที่ผสมดนตรีแบนด์และเสียงซินธิไซเซอร์ ยิ่งมีจุดแข็งคือสมาชิกมีส่วนร่วมคิดเมโลดี้ เขียนเนื้อเพลง เล่นดนตรี จึงสามารถเล่าถึงที่มาที่ไปของกระบวนการทำงานต่างๆ ได้เอง

 

แต่นอกจากชื่อของ PLAVE ที่มีเครดิตอยู่ในทุกเพลงแล้ว จะพบว่า 5 ใน 7 เพลงมีชื่อที่โดดเด่นอย่าง EL CAPITXN และ Vendors ช่วยการันตีผลงานให้อีกทางด้วย

 

EL CAPITXN หรือ จางอีจอง เป็นอดีตสมาชิกบอยแบนด์ HISTORY ที่เคยฟีเจอริงเพลง Friday ของ IU ปัจจุบันเขาเป็นโปรดิวเซอร์ภายใต้ HYBE Corporation ส่วนใหญ่จะทำเพลงให้กับ TOMORROW X TOGETHER (TXT) และ BTS ทั้งงานวงและโซโล่

 

ขณะเดียวกันก็ยังทำงานให้กับศิลปินนอกค่ายทั่วทั้งวงการมาตลอด เช่น EPIK HIGH, IU, PSY, Wanna One, Sunmi, Paul Kim, Erik Nam, ENHYPEN, tripleS, ZB1, NCT ฯลฯ

 

ส่วน Vendors ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเป็นทีมที่ EL CAPITXN ก่อตั้งขึ้นเองในปี 2018 ปัจจุบันทีมนี้นำโดยเพื่อนของเขาจากวง HISTORY อย่าง คิมแจโฮ หรือ นาโน พวกเขาจึงทำเพลงด้วยกันอยู่บ่อยๆ ทั้งศิลปินที่ได้กล่าวไปแล้ว และศิลปินคนอื่นๆ เช่น ฮาซองอุน, คิมอูซอก, EXO, GOT7, AB6IX, WEi, Dreamcatcher, MONSTA X, ASTRO, Golden Child ฯลฯ

 

สมาชิกในทีมทั้งโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงจะผลัดกันดูแลแต่ละโปรเจกต์โดยใช้ชื่อ Vendors เป็นหลักและใส่ชื่อตัวเองข้างหลัง รวมๆ กันแล้วตลอด 5 ปีนี้ พวกเขาสร้างผลงานกว่า 150 เพลง จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทีมสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรม K-pop ก็ว่าได้

 

 

ส่วน Vendors ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นทีมที่ EL CAPITXN ก่อตั้งขึ้นเองในปี 2018 ปัจจุบันนำโดยเพื่อนของเขาจากวง HISTORY อย่าง คิมแจโฮ หรือ นาโน ภายในทีมมีทั้งโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง ซึ่งมีอดีตไอดอลอยู่ด้วย เรียกว่าเป็นหนึ่งในทีมผู้อยู่เบื้องหลัง K-Pop ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผลงานกว่า 150 เพลงที่สมาชิกในทีมผลัดเปลี่ยนกันดูแลมากว่า 5 ปีแล้ว

 

 

ตั้งแต่ความทะเยอทะยานของบริษัทสายเทคฯ ที่ทำให้หนุ่ม 2D เคลื่อนไหวและทำการแสดงได้อย่างมีชีวิตชีวา, เพลงป็อปเมโลดี้ติดหู, ไอเดียแฟนตาซีของวง ไปจนถึงเสน่ห์โดยธรรมชาติของสมาชิกที่ต่อให้มีข้อจำกัดทางเทคนิคก็ยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นไวรัลตกคนเข้าแฟนด้อมได้รัวๆ ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมที่ทำให้ฐานแฟนของ PLAVE ขยับขยายอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆ กับบริษัทที่กำลังเผชิญหน้ากับการเติบโตในอุตสาหกรรม K-Pop เพื่อที่จะนำเสนอดนตรีและคอนเทนต์ที่ดีต่อไปด้วยเช่นกัน

 

ภาพ: elxcapitxn, vendors_official / Instagram, VLAST, MBC

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising