นับเป็นข่าวเศร้าของชาวอังกฤษและคนทั่วโลก เมื่อมีแถลงการณ์ยืนยันออกมาจากทางสำนักพระราชวังอังกฤษว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต เมื่อช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ณ พระตำหนักบัลมอรัล ประเทศสกอตแลนด์ ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี
จากเจ้าหญิง ‘เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์’ พระธิดาองค์โตในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สู่การเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรอย่างไม่คาดฝัน ด้วยพระชนมายุ 25 พรรษา พระองค์กลายเป็น ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ผู้ทรงมีบทบาทในการนำพาประเทศ และเป็นประจักษ์พยานต่อการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในยุคสมัยต่างๆ
ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีผู้เด็ดเดี่ยวและแน่วแน่ ทรงเป็นทั้ง ‘พระราชมารดา’ และเป็น ‘สมเด็จย่าแห่งชาติ’ ผู้เป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรแห่งสหราชอาณาจักร
หากเรามองย้อนไปในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา นอกจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่จนเป็นที่แจ้งประจักษ์ว่า ทรงปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง อันเป็นภารกิจ ‘เพื่อชาติ’ แล้ว ยังทรงปฏิบัติหน้าที่เพื่อธำรงรักษาความมั่นคงและความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในช่วงเวลาที่มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของระบอบกษัตริย์และกระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นภารกิจ ‘เพื่อราชบัลลังก์’ อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ย้อนชมภาพประวัติศาสตร์ ช่วงพิธีราชาภิเษกและพิธีฉลองสิริราชสมบัติของควีนเอลิซาเบธที่ 2
- จากควีนเอลิซาเบธที่ 2 สู่ (ว่าที่) ควีนคามิลลา: ความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้มาถึงของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
- เล่าด้วยภาพ 70 ปี เหตุการณ์สำคัญบนราชบัลลังก์ของ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’
เจ้าหญิงผู้จะได้เป็นพระราชินีนาถโดยไม่คาดฝัน
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องราวสำคัญในช่วงเวลา 70 ปีแห่งรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ ขอย้อนไปถึงช่วงก่อนการขึ้นครองราชย์ ซึ่งแต่แรกนั้นไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าเจ้าหญิงพระองค์น้อยนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งใหญ่ต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษและจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของประเทศ
เนื่องจากขณะที่เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1925 นั้น ดยุกแห่งยอร์ก พระราชบิดาทรงเป็นเพียงพระราชโอรสองค์รองในพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งอยู่ในลำดับการสืบราชสมบัติถัดจากเจ้าชายเดวิด ผู้ทรงเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ซึ่งหากพระองค์ทรงอภิเษกสมรสและมีทายาท ดยุกแห่งยอร์กและเจ้าหญิงย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้รับราชสมบัติ
เมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงมิได้อยู่ในลำดับแรกที่จะได้รับราชสมบัติ ประกอบกับดยุกแห่งยอร์กมีพระราชประสงค์ให้ครอบครัวของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ชีวิตในวัยเยาว์ของพระองค์จึงได้รับการเลี้ยงดูและถวายการอบรมสั่งสอนอย่างธรรมดา โดยทรงเป็นเพียงเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งในราชวงศ์วินด์เซอร์
อย่างไรก็ตาม โชคชะตากลับเปลี่ยนแปรผันในเดือนธันวาคม ปี 1936 เมื่อเจ้าชายเดวิด ผู้เป็นพระปิตุลา (ลุง) ซึ่งเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 นั้น ทรงเลือกความรักมากกว่าราชบัลลังก์ และประกาศสละราชสมบัติเพื่อสมรสกับ วอลลิส ซิมป์สัน ม่ายสาวชาวอเมริกัน ทำให้ดยุกแห่งยอร์ก พระราชบิดาผู้ทรงเป็นรัชทายาทลำดับแรกในขณะนั้นต้องขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตของเจ้าหญิงเอลิซาเบธจึงไม่อาจเป็นเพียงเจ้าหญิงธรรมดาได้อีกต่อไป หากแต่ทรงเปลี่ยนสถานะเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ และเป็นที่แน่ชัดว่าสักวันหนึ่งในไม่ช้า พระองค์จะต้องขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ
พระปณิธานเพื่อประเทศชาติ
เมื่อปี 1947 ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงมีพระชนมายุ 21 พรรษา พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ อันเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้น ได้ทรงมีพระดำรัสเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนผ่านทางวิทยุกระจายเสียงไปยังดินแดนอังกฤษและเครือจักรภพ โดยมีใจความสำคัญว่า
“ข้าพเจ้าขอประกาศต่อท่านทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าขออุทิศทั้งชีวิตของข้าพเจ้าในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพวกท่าน และยึดมั่นในหน้าที่แห่งกษัตริย์ตลอดไป”
“I declare before you all that my whole life whether it be long or short shall be devoted to your service and the service of our great imperial family to which we all belong.”
พระดำรัสในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญหรือเป็นการให้คำมั่นต่อประชาชนชาวอังกฤษและเครือจักรภพว่า พระองค์ในฐานะรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขอย่างดีที่สุด
“God save the Queen!”
5 ปีหลังจากพระราชดำรัสครั้งนั้น ระหว่างที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จเยือนประเทศเคนยา ในฐานะผู้แทนพระองค์พระเจ้าจอร์จที่ 6 อันเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพ ขณะที่ทรงประทับที่อุทยานกลางป่าของเคนยาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 นั้นเอง รหัสเรียกขาน ‘Hyde Park Corner’ ได้ดังขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อันมีความหมายว่า พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว
เมื่อข่าวการสวรรคตมาถึงประเทศเคนยา เจ้าหญิงเอลิซาเบธ หรือในเวลานั้นทรงเปลี่ยนสถานะเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว ตามหลักความต่อเนื่องแห่งราชบัลลังก์ ต้องทรงยกเลิกภารกิจการเดินทาง และเสด็จพระราชดำเนินกลับอังกฤษทันที เพื่อทรงรับพระราชภาระอันหนักอึ้งในฐานะประมุขของชาติ ในวันที่พระองค์เองยังไม่มั่นพระทัยว่าทรงพร้อมกับหน้าที่นี้หรือไม่
จากนั้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1952 เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้มีสุนทรพจน์ต่อสาธารณชนเนื่องในโอกาสที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต และประกาศการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งถ้อยแถลงของเชอร์ชิลล์ในโอกาสที่อังกฤษมีสมเด็จพระราชินีนาถเป็นประมุขของประเทศอีกครั้งในรอบ 51 ปีนับแต่รัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในระหว่างปี 1837-1901 อันเป็นการเริ่มต้นยุคสมัยแห่งพระราชินีนาถอีกครั้งอย่างน่าสนใจและไพเราะ
เชอร์ชิลล์ได้กล่าวเปรียบเทียบรัชสมัยที่เริ่มต้นขึ้นใหม่ภายใต้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นี้กับช่วงเวลาที่อังกฤษอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถองค์ก่อนๆ ซึ่งเป็นยุคที่อังกฤษมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากจนเป็นที่จารึกในประวัติศาสตร์
โดยเขาย้อนไปถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เมื่อเกือบ 400 ปีก่อน โดยนอกจากจะทรงมีพระนามเดียวกันแล้ว พระราชินีนาถทั้งสองพระองค์นั้นยังทรงขึ้นครองราชย์ในช่วงอายุใกล้เคียงกัน และต่างไม่ได้เตรียมพระองค์ที่จะขึ้นครองราชย์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่รัชสมัยดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสงบและรุ่งโรจน์ หรือที่เรียกว่า ‘ยุคเอลิซาเบธ’ ดังนั้นเขาจึงเชื่อมั่นว่ารัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธพระองค์นี้ก็ย่อมจะเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์เช่นนั้นอีกครั้ง
เชอร์ชิลล์ยังระลึกถึงช่วงเวลาวัยเยาว์ของเขา ซึ่งอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่อังกฤษมีทั้งความสงบสุขและความยิ่งใหญ่จนไม่อาจมีผู้ใดเทียบได้ หรือที่เรียกว่า ‘ยุควิกตอเรียน’ และบัดนี้เขารู้สึกตื่นเต้นและภาคภูมิใจที่จะได้กล่าวคำอธิษฐานอีกครั้งหนึ่งว่า “God save the Queen!”
ตลอดเวลา 70 ปีที่ผ่านมาย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธได้ทรงปฏิบัติตามพระราชปณิธานในครั้งนั้นเสมอมา และทรงดำรงสถานะเป็นประมุขที่ยิ่งใหญ่ของทั้งอังกฤษและของโลก ดังเช่นสมเด็จพระราชินีนาถทั้งสอง ผู้ทรงเป็นบรรพบุรุษของพระองค์
บทบาทในฐานะประมุขของพระราชินีนาถ
แต่เดิมนั้นกษัตริย์แห่งอังกฤษทรงใช้พระราชอำนาจปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง หากแต่ต่อมา ด้วยสภาพการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องปรับตัวและมีพัฒนาการไป โดยได้เปลี่ยนการใช้พระราชอำนาจไปสู่การปฏิบัติตามคำแนะนำและความยินยอมของรัฐสภาและรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน อันถือเสมือนว่ากษัตริย์นั้นมิได้ทรงกระทำการต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ดังนั้นเมื่อไม่ต้องทรงทำสิ่งใด พระองค์จึงไม่ต้องทรงรับผิดชอบใดๆ ในทางการเมืองเช่นกัน (The King can do no wrong, The King can do nothing.)
ปัจจุบันพระราชอำนาจเกี่ยวกับการปกครองของกษัตริย์อังกฤษนั้นมีเพียงพระราชอำนาจในการปรึกษาหารือ การให้กำลังใจ และการตักเตือน เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานข้อราชการในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นความลับและจะไม่มีการเปิดเผย ด้วยสมเด็จพระราชินีนาถจะต้องวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองและทรงอยู่เหนือความขัดแย้งใดๆ ดังนั้นกิจการต่างๆ ที่ทำขึ้นจึงเป็นในนามของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี อันเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์ตามหลักการข้างต้น
การที่พระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพยาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ ทำให้ทรงได้พบเห็นและผ่านเหตุการณ์สำคัญของโลกมามากมาย นับแต่ทรงพระราชสมภพในช่วงความยากลำบากหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 วัยเยาว์ของพระองค์ที่ต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทรงขึ้นครองราชย์ในช่วงสงครามเย็น และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 70 ปีแห่งรัชสมัย ทำให้ได้ทรงเรียนรู้และมีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์ในการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของพระองค์ตามพระราชอำนาจที่ทรงมี
นอกจากนั้นแล้ว การที่ทรงงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 14 คน ทั้ง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ รัฐบุรุษผู้นำอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ผู้ได้รับฉายาว่า ‘The Iron Lady’ ย่อมทำให้ทรงได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ที่หลากหลาย ด้วยบุคลิกลักษณะและทัศนคติของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เช่นเดียวกับการที่ทรงได้พบกับประมุขและผู้นำของโลกตลอดรัชสมัย ทั้งการรับการมาเยือนหรือการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ที่ทำให้ทรงพบเห็นสิ่งต่างๆ อีกมากมาย
ด้วยเหตุนี้ช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ทำให้พระองค์ทรงมีประสบการณ์อันล้ำค่าที่ยากจะมีผู้ใดเสมอเหมือน และท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น พระองค์ยังทรงดำรงอยู่อย่างโดดเด่น และทรงเป็นดังสัญลักษณ์อังกฤษ ที่เมื่อใดมีคนกล่าวขานถึง ‘Queen’ บุคคลแรกที่ทุกคนย่อมนึกถึงคือ ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’
ภารกิจเพื่อราชบัลลังก์
ในขณะเดียวกัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะประมุขของชาตินั้น นอกจากจะเป็นการทำหน้าที่ของกษัตริย์แล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวย่อมส่งผลเป็นการรักษาพระราชสถานะหรือราชบัลลังก์ไว้อีกด้วย เนื่องจากตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้โหมกระหน่ำพัดพาให้พระราชินีนาถพระองค์แรกแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ต้องปรับตัวให้เข้ากับสายลม และดำรงความมั่นคงเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ด้วยบทเรียนอันเจ็บปวดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในอดีต ซึ่งเป็นผลจากการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กติกาในสังคม และมติมหาชน จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการประหารชีวิตพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ภายหลังสงครามกลางเมืองอังกฤษในปี 1649 และการโค่นล้มราชบัลลังก์พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในปี 1688 เรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งเตือนใจให้กษัตริย์และพระราชินีนาถอังกฤษหลังจากนั้นต้องทรงยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดปลอดภัยของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั่นเอง
บทบาทสำคัญของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในปัจจุบันคือ การปฏิบัติหน้าที่พระประมุขตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องวางพระองค์อย่างเป็นกลาง อยู่เหนือปัญหาหรือความขัดแย้งใด ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเห็นได้จากซีรีส์ The Crown ซีซัน 1 ตอนที่ 4 Act of God ผ่านบทสนทนาระหว่างสองพระราชินีแห่งราชบัลลังก์อังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีแมรีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 ผู้ดำรงพระชนม์ชีพผ่านมาถึง 3 รัชกาล กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชินีพระองค์ใหม่และพระราชนัดดาในพระราชินีแมรี
จากในเรื่อง สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จมาทรงปรึกษากับพระราชินีแมรีว่า พระองค์ในฐานะประมุขของประเทศ (Head of State) จะทรงดำเนินการเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของประเทศได้หรือไม่ เนื่องจากทรงไม่สบายพระทัยที่ต้องทรงนิ่งเฉยโดยไม่ทำสิ่งใด ซึ่งพระราชินีแมรีทรงชี้แนะว่า “การไม่ทำสิ่งใดนั้นเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดแล้ว เพราะการไม่ทำสิ่งใดนั้นจะต้องใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดที่เรามี”
พระราชินีแมรียังทรงบอกต่อไปว่า “การวางตนเป็นกลางนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติและไม่ใช่ปกติวิสัยของมนุษย์ เนื่องจากประชาชนทั้งหลายจะเรียกร้องให้หลานต้องพูดหรือแสดงความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มหรือทำหน้านิ่ว และในขณะที่หลานแสดงอาการใดออกไปนั้นเอง ก็จะเท่ากับว่าหลานได้แสดงความรู้สึกหรือแสดงจุดยืนไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ทรงอำนาจอย่างหลานไม่อาจที่จะทำได้ และหากยิ่งพูด ยิ้ม หรือแสดงอาการให้น้อยลงเท่าใด ยิ่งจะดีเท่านั้น”
ตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางพระองค์เป็นกลางของสมเด็จพระราชินีนาถคือ ช่วงที่อังกฤษอยู่ระหว่างกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ต้องประสบปัญหาอุปสรรคติดขัดจากการพิจารณาข้อตกลง Brexit ของสมาชิกรัฐสภาในเดือนกันยายน ปี 2019 ทำให้เขาถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงใช้พระราชอำนาจปิดสมัยประชุมสภาของอังกฤษ
คำแนะนำของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการปิดโอกาสของสมาชิกรัฐสภาในการอภิปรายหรือแสดงความเห็นต่อกรณี Brexit และอาจส่งผลให้เกิดการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (No-Deal Brexit) อันเป็นสิ่งที่ บอริส จอห์นสัน ได้ประกาศไว้ ซึ่งจะมีผลกระทบร้ายแรงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การปิดสมัยประชุมดังกล่าวนั้นเท่ากับเป็นการทำลายหลักการความเป็นประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิเสธไม่ใช้พระราชอำนาจในการปิดประชุมสภา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด No-Deal Brexit ด้วยวิธีการอันอาจไม่ชอบธรรมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวข้างต้นเกี่ยวกับสถานะพระประมุขของกษัตริย์อังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกเหนือไปจากการมีพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมสภาตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ทรงทำไปในอีกทาง เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักดีว่า หากพระองค์ทรงกระทำการตามที่ทรงเห็นว่าสมควร แม้จะมีเหตุผลที่ดีหรือมีความจำเป็นสักเพียงใด การนั้นย่อมเป็นการกระทำไปโดยที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันเท่ากับเป็นการทำลายหลักการ The King can do no wrong ทั้งยังทำลายความศักดิ์สิทธิ์และสถานะประมุขของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถจะไม่ทรงกระทำเป็นอันขาด เนื่องจากสิ่งเดียวที่จะทรงกระทำคือ การยึดมั่นและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นแล้วการที่กษัตริย์ทรงปฏิบัติฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ย่อมจะนำมาซึ่งการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์อังกฤษได้ในที่สุด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นไม่ใช่การแสดงออกหรือมีบทนำในการปกครอง หากแต่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเป็นหุ่นเชิดในการปกครองที่จะต้องทรงทำตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาและรัฐบาลเท่านั้นเอง
70 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สถาบันกษัตริย์อังกฤษตระหนักแล้วว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึงระบอบกษัตริย์ ด้วยระบอบกษัตริย์ในหลายประเทศถูกยกเลิกหรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษเริ่มปรับเปลี่ยนธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับคติความเชื่อหรืออุดมการณ์ของสังคม เพื่อปรับโฉมสถาบันกษัตริย์ให้ทันสมัยและเข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญที่สืบเนื่องมาจากสมัยพระอัยกาและพระราชบิดาของพระองค์คือ การที่ประชาชนเข้าถึงสถาบันกษัตริย์ให้มากขึ้น เพื่อลบภาพจำที่คนทั่วไปมักมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งและเข้าถึงไม่ได้ ตัวอย่างที่สำคัญคือ การจัดงานเลี้ยงน้ำชาที่พระราชวังบักกิงแฮม โดยเชิญบุคคลหลากหลายชนชั้นและอาชีพเข้าร่วม หรือการถ่ายทอดพระราชดำรัสวันคริสต์มาสทางโทรทัศน์ อันทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งเคยดำรงอยู่อย่างเหินห่าง สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของประชาชนได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสถาบันกษัตริย์อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1992 เมื่อปราสาทวินด์เซอร์ พระราชวังเก่าแก่กว่าพันปีเกิดไฟไหม้ใหญ่และได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาลในการบูรณะ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการนำเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือก็คือภาษีของประชาชน มาใช้จ่ายในเรื่องของสถาบันกษัตริย์ ท้ายที่สุดสมเด็จพระราชินีนาถทรงตัดสินพระทัยอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมพระราชวังบักกิงแฮมอันเป็นพระราชฐานที่ประทับ โดยนำรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูมาใช้จ่ายในการซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันพระราชวังบักกิ้งแฮมและปราสาทวินด์เซอร์ รวมถึงพระราชวังโฮลีรูดที่สกอตแลนด์ก็เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้เช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว แม้จะมีวิกฤตการณ์อื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานแห่งรัชสมัย ทั้งในทางการเมืองและปัญหาในราชสำนัก โดยเฉพาะในระยะหลังที่มักมีประเด็นเกี่ยวกับพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องอื้อฉาวและมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมถึงบทบาทของสมเด็จพระราชินีนาถ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสามารถนำพาสถาบันกษัตริย์อังกฤษให้ผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ และยังดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน
ท้ายที่สุดนี้ เมื่อย้อนมองกลับไปตลอด 70 ปีที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งเพื่อชาติและเพื่อราชบัลลังก์แล้ว คงไม่เกินเลยไปนักหากจะยกย่องว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกในศตวรรษนี้
ภาพ: Eddie Mulholland – WPA Pool / Getty Images
อ้างอิง:
- Joanna Lumley, “A Queen for All Seasons: A Celebration of Queen Elizabeth II on Her Platinum Jubilee”, London: Hodder & Stoughton, 2021.
- Sarah Bradford, “Queen Elizabeth II Her Life in Our Times”, London: Penguins Book, 2012.
- Andrew Marr, “The Diamond Queen: Elizabeth II and Her People”, London: Pan Macmillan, 2012.
- https://www.bbc.com/news/uk-61654780
- https://www.bbc.com/news/uk-politics-48936711