×

Platform Economy… คำตอบของระบบเศรษฐกิจไทยที่ให้โอกาสเท่าเทียมกัน?

10.04.2021
  • LOADING...
Platform Economy… คำตอบของระบบเศรษฐกิจไทยที่ให้โอกาสเท่าเทียมกัน?

“Information is liberating” — Kofi Annan

 

การปฏิวัติข้อมูลข่าวสารกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้คนในระบบเศรษฐกิจทราบถึงความต้องการและข้อจำกัดของอีกฝ่าย จึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เกิดประโยชน์สูงสุด อาจกล่าวได้ว่าข้อมูลข่าวสารสามารถ ‘ปลดปล่อย’ ให้คนออกจากข้อจำกัดเพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

ในอดีต การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนสองคนมาพบกัน การส่งต่อข้อมูลข่าวสารจึงจำกัดอยู่ในสถานที่และเวลาหนึ่งๆ มนุษย์พยายามค้นหาวิธีบันทึกเพื่อส่งข้อมูลข่าวสารข้ามเวลา การจารึกข้อมูลข่าวสารลงบนผนังถ้ำในยุคดึกดำบรรพ์ช่วยให้เราเก็บข้อมูลข่าวสารข้ามเวลาได้ แต่ ‘การเข้าถึง’ ข้อมูลข่าวสารนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรา ‘เข้าไปหา’ ข้อมูลข่าวสารนั้น ในระยะต่อมาเมื่อมีการบันทึกลงในกระดาษ ข้อมูลข่าวสารจึงกลายเป็นสิ่งที่ ‘ออกมาหา’ เรามากขึ้น และทำให้ ‘การเข้าถึง’ ทำได้ง่ายและกว้างขวางมากขึ้น

 

หมุดสำคัญในประวัติศาสตร์การปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารโลก คือ การคิดค้นแท่นพิมพ์แบบถอดได้ (Movable Printing Press) ในช่วงปี 1450 โดย Johannes Gutenberg ช่างพิมพ์ชาวเยอรมัน โดยแท่นพิมพ์แบบถอดได้สามารถคัดลอกเอกสารได้อย่างแม่นยำและเร็วถึง 200 แผ่นต่อวัน การคิดค้นแท่นพิมพ์แบบถอดได้เอื้อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลออกไปในวงกว้างภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะต่อมา โดยงานศึกษาของ Dittmar (2011) พบว่า เมืองในทวีปยุโรปในช่วงปี 1500-1600 ที่นำแท่นพิมพ์ Gutenberg มาใช้ จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าเมืองที่ไม่ได้นำแท่นพิมพ์มาใช้ถึง 60% นอกจากนี้ การปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิทยาศาสตร์อีกนานัปการ

 

ในวันนี้ ดิจิทัลเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารขึ้นอีกครั้ง แต่การปฏิวัติครั้งนี้จะแตกต่างจากการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมา เพราะจะเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจไปอย่างสิ้นเชิง และเผยให้เห็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

 

จากตลาดสดสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ กระทั่งแม้กับคนรอบตัว แต่เมื่อเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่และมีปริมาณธุรกรรมมากขึ้น มนุษย์จึงกำหนดพื้นที่สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนขึ้นมา และเรียกพื้นที่นั้นว่า ‘ตลาด’ ดังนั้น เมื่อพูดถึงตลาด เราจะนึกถึง ‘สถานที่’ เช่น ตลาดสด หรืออาคารห้างร้านที่เราเข้าไปซื้อขายสินค้ากัน

 

ตลาดทำงานอย่างไร? เพื่อให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของตลาด ผมขอยกตัวอย่างการซื้อขายใกล้ตัว สมมติว่าเราเดินทางไปซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาด การซื้อขายจะเริ่มจาก ‘การแสวงหาข้อมูลข่าวสาร’ นั่นคือ การเดินสำรวจแผงขาย และพูดคุยกับแม่ค้าเพื่อแลกเปลี่ยนความต้องการซื้อขาย เช่น การถามหาดอกไม้ที่ท่านชอบ ถามถึงความสดของดอกไม้ และถามราคา เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านยังต้องการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพของดอกไม้จากหลายๆ แผง เพื่อจะได้ซื้อดอกไม้ที่ดีและถูกที่สุด เมื่อความต้องการซื้อขายตรงกันจึงจะเกิดธุรกรรมขึ้น

 

การซื้อขายที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้จาก ‘การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์’ ซึ่งจะทำให้ท่านมองเห็นความต้องการและเงื่อนไขในการซื้อขายอย่างครบถ้วน ส่งผลให้เกิดการจับคู่ความต้องการตรงกันที่สุด แต่การแสวงหาข้อมูลข่าวสารนั้นมีต้นทุน เราอาจหาที่จอดรถไม่ได้ จึงต้องรีบซื้อรีบกลับ นอกจากนี้ ปากคลองตลาดยังมีพื้นที่กว้างมากกว่าที่จะเดินเลือกดอกไม้ได้ครบทุกแผงในเวลาที่มีจำกัด ในท้ายที่สุด เราอาจจะต้องยอมซื้อดอกไม้ที่ดีที่สุดภายใต้ ‘ข้อจำกัดของข้อมูล’ ที่มี

 

ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นถึง ‘ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร’ นั่นคือ เมื่อข้อมูลข่าวสารไม่สามารถไหลเวียนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างสมบูรณ์ การแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นก็อาจไม่ได้สร้างประโยชน์สูงสุดต่อทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารจึงส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพและคุณภาพของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจในภาพรวม

 

ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารมาจากข้อจำกัดเชิงกายภาพของตลาด เมื่อตลาดคือ ‘สถานที่’ ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน การทำธุรกรรมที่ต้องเจอกันจึงทำให้เกิด ‘ต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สูง’ โดยเฉพาะในสถานที่ขนาดใหญ่หรือมีตรอกซอยซับซ้อน ในทางเศรษฐศาสตร์ ตลาดในอุดมคติควรเป็น ‘พื้นที่เปิด’ ที่ทำให้คนในตลาดทุกคนมองเห็นความต้องการและเงื่อนไขในการซื้อขายของกันและกันอย่าง ‘ทั่วถึง’ และมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันอย่าง ‘เท่าเทียม’

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนคำจำกัดความของตลาด เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่เชื่อมต่อคนจากเวลาและสถานที่ใดก็ได้บนโลก เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและธุรกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ เราเรียกโครงสร้างพื้นฐานนี้ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) เทคโนโลยีดิจิทัลจึงกำลังก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งเราเรียกมันว่าเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มหรือ ‘Platform Economy’

 

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มและตลาดแห่งอนาคต

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มหมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘พื้นที่เปิด’ ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและทำธุรกรรมร่วมกัน (รูปที่ 1) เรามาทำความรู้จักแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่าน Amazon Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกชั้นนำของโลก โดยแพลตฟอร์มมีกลไกการทำงานสำคัญ 3 ประการที่แตกต่างไปจากตลาดแบบเดิม ดังนี้

 

 

ประการแรก แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตลาดที่ไม่มีข้อจำกัดเชิงกายภาพ จากตัวอย่างของ Amazon Marketplace ผู้ซื้อสามารถแสดงความต้องการซื้อ และเข้าถึงข้อมูลความต้องการขายได้อย่างง่ายดายจากการค้นหาสินค้าผ่าน User Interface และการฝากประวัติการสั่งซื้อไว้แพลตฟอร์ม กลไกการซื้อขายที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้นทุนในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารลดลง เอื้อให้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ประการที่สอง แพลตฟอร์มดิจิทัลมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการจับคู่ (Matching and Recommendation Algorithm) ที่ช่วยจับคู่คนที่มีความต้องการตรงกัน และแสดงผลทางเลือกในการจับคู่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เล่นมากที่สุด เช่น Amazon A9 Ranking Algorithm ที่ใช้ข้อมูลจำนวนมากของผู้ซื้อผู้ขายในการจัดทำรายการของสินค้า โดยเรียงลำดับตามความสนใจและเงื่อนไขของผู้ซื้อ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลบนแพลตฟอร์มช่วยให้เราสามารถใช้ข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ประการที่สาม แพลตฟอร์มดิจิทัลมีระบบการประเมินความพึงพอใจจากการซื้อขายสินค้าและบริการ เช่น ระบบการประเมินคุณภาพสินค้าบน Amazon Marketplace โดยการให้คะแนนความพึงพอใจและเขียนบทวิจารณ์ (Review) ระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์ม ช่วยคัดกรองคุณภาพของสินค้าและบริการ

 

นอกจากลักษณะสามประการข้างต้น เทคโนโลยีดิจิทัลยังเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน เช่น แพลตฟอร์มค้าปลีกเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มการชำระเงินและแพลตฟอร์มการขนส่ง เป็นต้น การเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลจะพัฒนาไปเป็นระบบนิเวศของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครบวงจร ซึ่งช่วยเอื้อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพขึ้น ช่วยให้คนในระบบเศรษฐกิจไปถึง ‘ทางเลือก’ ในการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น

 

ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มกำลังเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยเอื้อทั้งทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างระบบนิเวศของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยการเก็บและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน Cloud Computing การพยากรณ์ข้อมูลโดยใช้ Machine Learning และ Artificial Intelligence ตลอดจนการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลกับสินค้าและบริการต่างๆ

 

นอกจากปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมก็เอื้อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มเช่นกัน โดยในทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น ขณะที่กระแสปัจเจกนิยม ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ความเป็นเมืองทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าและบริการที่เร็ว ซึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถตอบสนองต่อความต้องการลักษณะนี้ได้ดีกว่าตลาดแบบเดิม

 

ในทางสังคม คนหันมาใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นจาก 28.7% ของประชากรโลก ในปี 2010 ขึ้นมาเป็น 48.2% ในปี 2017 นอกจากนี้ ปัจจัยแวดล้อม เช่น การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเร่งให้คนใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น โดยงานศึกษาของ BIS (2021) ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปี 2020 การค้าปลีกบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีสัดส่วนต่อการค้าปลีกรวมเพิ่มขึ้นถึง 4-7% ในจีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา 

 

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มปลดล็อกการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถปลดล็อกมูลค่าของทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ผู้ซื้อและผู้ขายมองเห็นข้อมูลความต้องการซื้อขายที่ซ่อนอยู่ และสามารถจับคู่กันเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถทำได้ในตลาดรูปแบบเดิม นอกจากนี้ ความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารยังดึงดูดให้มีผู้ซื้อผู้ขายรายใหม่เข้าสู่แพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น เช่นในกรณีของ Amazon Marketplace ข้อมูลของสินค้าและบริการที่สมบูรณ์ครบถ้วน ประกอบกับข้อมูลความพึงพอใจของผู้ซื้อขายในอดีต ดึงดูดให้มีผู้ซื้อเข้ามาซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น และเมื่อมีผู้ซื้อมากขึ้น ก็ดึงดูดให้มีผู้ขายเข้ามาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มจึงมีศักยภาพในการเติบโตสูง

 

นอกจากจะจับคู่ความต้องการซื้อขายที่เคยมองไม่เห็นในตลาดรูปแบบเดิมแล้ว เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มยังเอื้อให้เกิดสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ที่ไม่สามารถซื้อขายได้ในตลาดรูปแบบเดิม ความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารทำให้เราสามารถมองเห็นมูลค่าของทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านขึ้น และสามารถแยกมูลค่าออกจากตัวทรัพยากร ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดของเศรษฐกิจแบ่งปันหรือ Sharing Economy ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Airbnb ที่เปิดโอกาสให้เรานำบ้านที่เราไม่ได้อาศัยอยู่เองมาปล่อยเช่าภายใต้สัญญาที่ยืดหยุ่น หรือแพลตฟอร์ม Uber หรือ Grab ที่เปิดโอกาสให้เรานำรถที่เราไม่ค่อยได้ใช้งานมาให้บริการรับส่งผู้โดยสาร เป็นต้น

 

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มสร้างความเท่าเทียมทางด้านโอกาส

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มเอื้อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์จะฉายไฟไปยังความต้องการซื้อของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และความต้องการขายของธุรกิจที่ขนาดเล็กที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบตลาดแบบเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มมีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดที่ต่ำลง เช่น ผู้ขายบน Amazon Marketplace มีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดเพียง 39.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,300 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับตลาดแบบเก่า ที่ต้องเช่าแผงขายเดือนละหลายพันบาท เป็นต้น

 

ผู้ขายรายเล็กบนแพลตฟอร์มดิจิทัลยังสามารถเข้าถึงฐานลูกค้า ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งเดียวกันกับธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลยัง ‘ลดการผูกขาดที่เกิดจากความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสาร’ เช่น การที่เราเห็นสินค้าที่มีราคาสูงขายได้แม้ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากผู้บริโภคมองเห็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับราคาและคุณภาพที่แท้จริงของสินค้า ในขณะที่ผู้ขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแข่งขันกันบนคุณค่าที่แท้จริงของสินค้าและบริการโดยไม่มีใครมีสิทธิพิเศษเหนือกว่ากัน

 

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มคืออนาคตในมือของเราทุกคน

“The future belongs to you, but it can only belong to you if you participate and take charge” — Kofi Annan

 

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มมาพร้อมกับโอกาสที่คนไทยทุกภาคส่วนจะ ‘มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง’ ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องระดมความคิดกันว่าเราจะปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการมาถึงของ Platform Economy

 

เราจะมาหาคำตอบร่วมกันในบทความฉบับต่อไปครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Dittmar, J. (2011). INFORMATION TECHNOLOGY AND ECONOMIC CHANGE: THE IMPACT OF THE PRINTING PRESS. The Quarterly Journal of Economics, 126(3), 1133-1172. Retrieved April 8, 2021, from http://www.jstor.org/stable/23015698
  • Alfonso, V., Boar, B., Frost, J., Gambacorta, L., Liu, J. (2021). E-COMMERCE IN THE PANDEMIC AND BEYOND. BIS Bulletin, 36. Retrieved April 8, 2021, from https://www.bis.org/publ/bisbull36.pdf
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising