ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุดว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 พร้อมตั้งสองเป้าหมายการดำเนินงานคือลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดภายในปี 2565 และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570
เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ โดยเป็นแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการของหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 2 เป้าหมาย ดังนี้
1. ลดและเลิกใช้พลาสติก โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ภายในปี 2562 จะกำหนดให้เลิกใช้พลาสติกจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ และพลาสติกผสมสารไมโครบีต ขณะที่ระยะที่ 2 จะยกเลิกให้ใช้ภายในปี 2565 อีก 4 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก (ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ในเด็ก คนชรา และผู้ป่วย) และแก้วพลาสติกบางประเภทแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
2. การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของพลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ส่วนที่เป็นของเสียก็จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการจะแบ่งเป็น 3 มาตรการคือ มาตรการที่ 1 ลดการเลิกขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด, มาตรการที่ 2 ลดและเลิกใช้พลาสติกในขั้นตอนบริโภค โดยการขับเคลื่อนการลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถนำมากลับเข้าสู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และสุดท้ายมาตรการที่ 3 จัดการขยะพลาสติกหลังจากการบริโภค โดยจะมีการส่งเสริมสนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
นอกจากนี้ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้เสริมอีกว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานและใช้กลไกที่เหมาะสมจะช่วยให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะพลาสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับตามมาคือความสามารถในการลดขยะพลาสติกได้ถึง 0.78 ล้านตันต่อปีโดยประมาณ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สาเหตุภาวะโลกร้อน) 1.2 ล้านตันหรือเทียบเท่าเลยทีเดียว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: