×

กรีนพีซเผย พบ ‘ขยะพลาสติก’ จากแบรนด์ ‘ซีพี’ และ ‘โคคา-โคลา’ มากสุด เสนอ 4 ข้อเรียกร้องถึงองค์กรธุรกิจ

29.10.2019
  • LOADING...
ขยะพลาสติก

วันนี้ (29 ตุลาคม) กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยผลรายงานตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่และแหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า แบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรกที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด

 

1. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

2. โอสถสภา

3. กลุ่มธุรกิจ TCP

4. เสริมสุข

5. สิงห์ คอร์เปอเรชั่น 

 

ขณะที่จำนวนขยะที่พบมากที่สุดจากแบรนด์ต่างประเทศ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

 

1. โคคา-โคลา

2. เนสท์เล่

3. อายิโนะโมะโต๊ะ

4. มอนเดลีซ

5. ยูนิลีเวอร์

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบแบรนด์ในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วโลกในนาม Break Free From Plastic ที่เกิดขึ้น 484 พื้นที่ ใน 51 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำขยะพลาสติกมาตรวจสอบแบรนด์สินค้าที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยผลจากการตรวจสอบแบบรวมทั่วโลกพบ โคคา-โคลา, เนสท์เล่ และเป๊บซี่โค เป็นแบรนด์ต่างชาติ 3 อันดับแรกที่เจอมากที่สุด ในการตรวจสอบแบรนด์จากหลายร้อยพื้นที่ทั่วโลก

 

ขณะที่ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า “เรามีหลักฐานมากขึ้นจากผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกที่ก่อขึ้น การที่บริษัทต่างๆ ยังพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ก็หมายถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องหยุดการผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และหาทางออกที่สร้างสรรค์ ซึ่งเน้นระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ”

 

นอกจากนี้ทางองค์กรกรีนพีซได้ตั้งข้อเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

 

1. เปิดเผยข้อมูล ‘รอยเท้าพลาสติก (Plastic Footprint)’ ซึ่งหมายถึงปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้

2. มีความมุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี

3. ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นให้มากที่สุดภายในปี 2562

4. ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X