×

กัญจนานำทีมปลูกหญ้าทะเล สร้างแหล่งอาหารให้พะยูน หวังบทเรียนจาก ‘มาเรียม’ ปลุกจิตสำนึกลดการใช้พลาสติก

07.04.2022
  • LOADING...
ปลูกหญ้าทะเล

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา THE STANDARD ลงพื้นที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เพื่อสำรวจพื้นที่และแผนการอนุรักษ์พะยูน รวมถึงหญ้าทะเล ซึ่งข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าข้อมูลปี 2552 พบพะยูนมีการแพร่กระจายทั้งสองฝั่งของประเทศไทย แต่บริเวณที่พบมากที่สุดคือบริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกต์ จังหวัดตรัง โดยมีหญ้าทะเลเป็นอาหารหลักของพะยูน

 

กัญจนา ศิลปอาชา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางลงพื้นที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เพื่อร่วมติดตามแผนการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล รวมถึงได้ร่วมปลูกหญ้าทะเลเพิ่มเติมในพื้นที่

 

กัญจนากล่าวว่า จากปรากฏการณ์ของมาเรียม พะยูนที่เกิดที่กระบี่ แล้วก็หลงแม่ จึงได้นำมาบริบาลอยู่ที่เกาะลิบงแห่งนี้ กระทั่งจากไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ปรากฏการณ์ครั้งนั้นนำความเสียใจมาสู่คนทั้งประเทศ ต้องยอมรับว่ามาเรียมไม่ได้จากไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่ได้กระตุ้นจิตสำนึกคนให้มาคำนึงถึงว่าอะไรเป็นเหตุให้มาเรียมตาย เพราะว่าเมื่อผ่าออกมาแล้วเราพบพลาสติกในนั้น

นำมาซึ่งการรณรงค์การเลิกใช้ถุงพลาสติกหรือใช้พลาสติกให้น้อย หันมาใช้ถุงผ้ามากขึ้น

 

“การที่วันนี้มาที่เกาะลิบง ปัญหาเรื่องหลักๆ อันหนึ่งก็คือได้รับทราบว่าแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูนในบริเวณเกาะลิบง ซึ่งเป็นทะเลตรังตรงนี้ เป็นแหล่งหญ้าทะเลแหล่งใหญ่ในประเทศไทย พะยูนในประเทศไทยมีประมาณ 250 ตัว จะมีอยู่บริเวณตรัง บริเวณเกาะลิบงประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ประมาณ 170 ตัว ปัญหาของเขาก็คือแหล่งหญ้าทะเลของเขาถูกทำลายไปจำนวนมาก ชาวบ้านเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้เมื่อประมาณปี 2562” กัญจนากล่าว

 

กัญจนากล่าวต่อไปว่า เมื่อเริ่มเห็นว่าหญ้าทะเลตายไป แล้วดินตะกอนทรายที่พัดมานั้นไม่ใช่ดินตะกอนทรายที่มาจากการพัดพาของธรรมชาติ มีการศึกษาและพบว่ามีโครงการขุดร่องน้ำกันตังของทางกรมเจ้าท่า ซึ่งทำให้เกิดตะกอนดินจำนวนมากเป็นล้านลูกบาศก์เมตร แล้วก็มาถมทับบริเวณที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน ทำให้เกิดความเสียหายไปหลายพันไร่

 

สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายมากต่อพะยูนที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ถ้าไม่มีแหล่งอาหารนั่นเท่ากับการสูญพันธ์ุ รวมถึงยังกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในเกาะลิบงด้วย เพราะว่าใบหญ้าคาเป็นที่เกาะของแพลงก์ตอน สาหร่าย และสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพวกกุ้ง หอย ปู ปลา อีกที

 

ชาวบ้านก็จะมาทำการประมงจากสัตว์เหล่านี้ หรือแม้จากการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็จะนิยมมาดู นั่งเรือมาดูวิถีชาวบ้านที่เก็บสัตว์ทะเลตามแหล่งเหล่านี้ที่มีหญ้าคาเป็นต้นตอแห่งอาหาร เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดภาวะการเสื่อมสลาย การตาย การเสื่อมโทรม ไม่ว่าหญ้าคาหรือหญ้าใบมะกรูดก็มีผลกระทบทั้งต่อชีวิตชาวบ้านและต่อชีวิตของสัตว์ทะเลที่นี่

 

“วันนี้ความตั้งใจของเราก็คือ ช่วยเหลือวิถีชีวิตชุมชนชาวบ้านให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข เลี้ยงตัวเองได้ ช่วยเหลือสัตว์ทะเลให้เขาสามารถอยู่ได้ มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ และดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสำคัญมากที่จะช่วยกันรักษาจากรุ่นนี้ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และต่อๆ ไป แล้วก็จะเป็นชื่อเสียงของประเทศชาติอีกด้วย” กัญจนากล่าวทิ้งท้าย

 

ปลูกหญ้าทะเล ปลูกหญ้าทะเล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising