คณะนักดาราศาสตร์สมัครเล่นใช้กล้องโทรทรรศน์จากหลังบ้านตนเอง ร่วมยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์ประเภทดาวพฤหัสบดีอุ่น หรือ Warm Jupiter ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ห่างจากโลกไป 305 ปีแสง
การค้นพบดังกล่าวใช้เทคนิคการ ‘อุปราคา’ หรือ Transit เมื่อแสงจากดาวฤกษ์เกิดหรี่ลงไปชั่วขณะในระหว่างที่มีดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้า แบบเดียวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ทำให้ดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วน ต่างเพียงแค่ดาวฤกษ์เหล่านี้อยู่ห่างจากโลกหลายปีแสง
ดาวเคราะห์ดวงล่าสุดที่ยืนยันการค้นพบมีชื่อว่า TOI 6883 b โดยพบครั้งแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ของ NASA ซึ่งเป็นการเจอส่วนวัตถุที่อาจเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ รวมไม่น้อยกว่า 7,200 ดวง ด้วยการใช้เทคนิคการอุปราคา
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ต้องการข้อมูลการอุปราคามากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อยืนยันว่าดาวฤกษ์ดังกล่าวมีดาวเคราะห์โคจรอยู่จริง เช่นเดียวกับกรณีของดาวเคราะห์ TOI 6883 b จึงทำให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่นสองกลุ่ม ได้แก่ UNITE (Unistellar Network Investigating TESS Exoplanets) และ Exoplanet Watch ร่วมมือกับ SETI เพื่อตรวจดูการเกิดอุปราคาของดาวเคราะห์ดวงนี้
หลังจากการตรวจดูสัญญาณการเกิดอุปราคา นักดาราศาสตร์พบว่าดาวฤกษ์มีดาวเคราะห์โคจรอยู่จริง หากพิจารณาจากตำแหน่งการโคจรและไม่นับปัจจัยความซับซ้อนของบรรยากาศดาว คาดว่าดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวเป็นดาวเคราะห์ประเภทดาวพฤหัสบดีอุ่น หรือเป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ จึงมีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่นเมื่อเทียบกับดาวพฤหัสบดี
ดาร์เรน ริเวตต์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลีย เปิดเผยว่า “การวิจัยในฐานะนักวิทยาศาสตร์พลเรือนเป็นสิ่งที่ผมแนะนำให้แก่ทุกคนที่มองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยความหลงใหลและอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ผมได้มีส่วนช่วยนักดาราศาสตร์ยืนยันดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่เช่นนี้ ผมแทบต้องหยิกตัวเองทุกวันว่านี่คือเรื่องจริง”
ปัจจุบัน NASA เผยข้อมูลการสำรวจจากภารกิจต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ วุฒิการศึกษา ภาษา หรือสัญชาติ ภายใต้โครงการ ‘Citizen Science’
ภาพ: Guiseppe Conzo
อ้างอิง: