×

ส่องแผนเซฟป่าแอมะซอน หลังบราซิลตั้งเป้ายุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030

06.06.2023
  • LOADING...
ป่าแอมะซอน

รัฐบาลบราซิลภายใต้การนำของประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะยุติปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่จะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะผืนป่าขนาดใหญ่ในบราซิลอย่างป่าแอมะซอน

 

ลูลาและ มารินา ซิลวา รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมบราซิล ได้เผยถึงแผนปฏิบัติงานว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน (PPCDAm) ซึ่งเป็นแผนงานการประสานนโยบายเข้ากับกระทรวงต่างๆ ของบราซิลตลอดช่วงการบริหารประเทศของลูลา ไปจนถึงช่วงสิ้นสุดวาระในปี 2027

 

โดยผู้นำบราซิลคนปัจจุบันได้ทวีตข้อความระบุว่า “บราซิลได้กลับมาแสดงบทบาทนำในการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกครั้ง หลังจาก 4 ปีที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อมถูกปฏิบัติในฐานะอุปสรรคขัดขวางการสร้างกำไรและเม็ดเงินให้กับอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยบางกลุ่มในสังคม 

 

“แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศที่ร่ำรวยมั่งคั่งทั้งหลายก็ยังจำเป็นต้องรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง เพราะพวกเขายังคงถือเป็นกลุ่มที่ทำลายป่าไม้มากที่สุดในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา”

 

ภาพรวมแผนปฏิบัติงานเซฟป่าแอมะซอน ‘PPCDAm’ เตรียมทำอะไรบ้าง

 

  • ประสานความร่วมมือกับรัฐมนตรี 15 กระทรวง เพื่อแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลอย่างจริงจัง
  • ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะภาพถ่ายจากดาวเทียม ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรวบรวมและติดตามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการทำเหมืองแร่และปศุสัตว์ผิดกฎหมาย 
  • พัฒนาระบบ ในการรับรองและจดทะเบียนแหล่งที่มาของไม้และสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันและลดโอกาสการลักลอบใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่เปราะบางอย่างผิดกฎหมาย
  • กำหนดมาตรฐานของโฉนดที่ดินและสร้างแรงจูงใจสำหรับการทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงกิจกรรมและโครงการรักษ์โลกอื่นๆ ในสังคมทุกระดับ
  • ประกาศต่อสู้กับการก่ออาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่รุกล้ำและลักลอบสร้างความเสียหายให้กับผืนป่าที่มีต้นไม้ใหญ่อายุเก่าแก่
  • ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและเพิ่มการเพาะปลูกพืชพื้นเมืองผ่านการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการป่าอย่างยั่งยืน
  • ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่บรรดาผู้ผลิต พร้อมทั้งจัดหาโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางพลังงานและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงองค์ความรู้และช่วยกันรับมือกับปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมบราซิลนี้ร่วมกัน
  • เพิ่มเขตพื้นที่อนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่สำคัญของบราซิล รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกา

 

บราซิลหวนคืนเวทีโลกในฐานะ ‘ผู้มีบทบาทนำ’ ในการรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อม

 

ข้อมูลจาก Climate Watch แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ระบุว่า ปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก คิดเป็นเกือบ 3% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบราซิลเกี่ยวพันกับการตัดไม้ทำลายป่า

 

บราซิลภายใต้การบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโร ให้ความสำคัญกับการพัฒนามากกว่าการอนุรักษ์ ส่งผลกระทบต่อชุมชนคนพื้นเมือง และทำให้อัตราการรุกล้ำเขตพื้นที่ป่าพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยลูลาประกาศจะนำพาบราซิลหวนคืนเวทีโลกอีกครั้ง ในฐานะผู้มีบทบาทนำในการรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

 

นอกจากแผนปฏิบัติงานเซฟป่าแอมะซอนข้างต้นแล้ว ลูลายังจะปรับข้อผูกพันระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions: NDCs) ของบราซิลใหม่ ให้กลับมาสอดคล้องกับสิ่งที่บราซิลเคยให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015

 

บราซิลมุ่งมั่นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 37% ภายในปี 2025 และขยับขึ้นเป็น 43% ในปี 2030 ก่อนที่จะประกาศตั้งเป้ายุติปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางอนุรักษ์ป่าในที่ประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลกอย่าง COP26 ที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในช่วงปลายปี 2021 โดยมีผู้แทนราว 145 ประเทศเห็นพ้องในจุดยืนดังกล่าว และมีรัฐบาลจาก 12 ประเทศที่ให้คำมั่นร่วมสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าและระบบนิเวศของโลก รวมถึงส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ผูกผันกับธรรมชาติอย่างมาก

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพความพยายามอย่างยิ่งยวดของบราซิลในการกลับคืนสู่เวทีโลกอีกครั้ง ในฐานะผู้นำในการรับมือกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง 

 

แฟ้มภาพ: Tarcisio Schnaider / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X