×

ภารกิจล้มเหลว! พรีเมียร์ลีกเสียงแตก กฎห้ามยืมตัวสโมสรเจ้าของเดียวกัน

22.11.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • มีการเสนอให้ห้ามมิให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกยืมตัวผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน (Related Clubs) ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาวที่จะเปิดในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
  • 8 สโมสรที่ถูกมองว่าเป็น ‘กบฏ’​ ได้แก่ นิวคาสเซิล, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, เอฟเวอร์ตัน, วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และเบิร์นลีย์

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 พฤศจิกายน) มีการประชุมผู้ถือหุ้น (AKA ตัวแทนสโมสร) พรีเมียร์ลีก ซึ่งมีวาระสำคัญที่ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย

 

วาระสำคัญดังกล่าวคือ เรื่องของกฎการยืมตัวผู้เล่นที่จะห้ามไม่ให้สโมสรยืมผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน หรือหากจะพูดให้ง่ายกว่านั้นคือมีเจ้าของเดียวกัน

 

ผลปรากฏว่า มติในที่ประชุมออกมาเป็น 12 ต่อ 8 นั่นหมายถึงมีเสียงไม่เพียงพอสำหรับการออกกฎการยืมตัวใหม่

 

8 สโมสรที่คัดค้านมีทีมใดบ้าง และเรื่องนี้มีความหมายที่แท้จริงอย่างไรกันแน่?

 

ในการประชุมพรีเมียร์ลีกเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายนนั้น มีวาระใหญ่ในการประชุมสองเรื่องด้วยกัน

 

เรื่องที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือเรื่องของกฎการยืมตัวผู้เล่น ที่มีการเสนอให้ห้ามมิให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกยืมตัวผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน (Related Clubs) ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาวที่จะเปิดในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้

 

ที่เรื่องนี้เป็นวาระขึ้นมานั้นเกิดจากความกังวลว่า จะมีสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ได้ประโยชน์จากการยืมตัวผู้เล่นจากสโมสรที่มีเจ้าของเดียวกัน

 

 

โดยสโมสรที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคือนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุน Saudi Arabia Public Investment Fund (PIF) ซึ่งซื้อหุ้นของ 4 สโมสรระดับยักษ์ใหญ่ในประเทศ อันได้แก่ อัล ฮิลาล, อัล อิตติฮัด, อัล นาสเซอร์ และอัล อาห์ลี ซึ่งเขย่าวงการฟุตบอลอย่างรุนแรงในช่วงตลาดการซื้อ-ขายฤดูร้อนรอบที่ผ่านมา

 

มีซูเปอร์สตาร์มากมายที่ถูกดึงดูดให้ไปค้าแข้งในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรวมถึงนักเตะระดับท็อปสุดของโลกอย่าง คาริม เบนเซมา, เนย์มาร์, ซาดิโอ มาเน

 

และคนที่กำลังเป็นประเด็นถูกจับตามองมากที่สุดอย่าง รูเบน เนเวส กองกลางทีมชาติโปรตุเกสที่ย้ายทีมแบบช็อกความรู้สึก จากเดิมที่ตั้งใจจะไปบาร์เซโลนา กลับเลือกที่จะไปอัล ฮิลาล ด้วยเหตุผลเรื่องรายได้ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขและความมั่นคงไปตลอดชีวิต

 

อย่างไรก็ดี เนเวสตกเป็นข่าวว่าอาจจะถูกนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ขอยืมตัวมาใช้งานในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ เพื่อทดแทน ซานโดร โตนาลี กองกลางสายพันธุ์ดุทีมชาติอิตาลี ที่ชดใช้การกระทำผิดของตัวเองในการติดการพนันด้วยการโดนแบนยาวถึง 8 เดือน

 

ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะนิวคาสเซิลและอัล ฮิลาล มีเจ้าของเดียวกันคือ PIF

 

ในความรู้สึกของสโมสรอื่นแล้วเรื่องนี้น่ากังวล เพราะอย่าลืมว่า 4 สโมสรของ PIF ในซาอุดีอาระเบียมีนักเตะระดับโลกมากมายเต็มไปหมด – ซึ่งรวมถึง คริสเตียโน โรนัลโด ด้วย! – มันจะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยให้นิวคาสเซิลสามารถยืมใช้งานผู้เล่นเหล่านี้ได้อย่างอิสระ

 

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าในที่ประชุมพรีเมียร์ลีกมีมติเห็นชอบกับการออกกฎการแบนห้ามไม่ให้ยืมผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน 12 ต่อ 8 เสียง

 

ตามระเบียบของพรีเมียร์ลีก การจะออกกฎหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะต้องได้รับการรับรองจากสโมสรผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 14 เสียง ดังนั้นกฎห้ามยืมตัวใหม่นี้จึงถูกปัดตกลงไป

 

 

ใครคือ 8 สโมสรที่ร่วมต้าน?

 

สื่อในอังกฤษได้พยายามสืบสาวว่าใครคือ 8 สโมสรที่พยายามร่วมต้านกฎใหม่ที่เป็นการ ‘พยายามจำกัดอำนาจ’ ของสโมสรฟุตบอลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (State Club) ซึ่งนอกจากนิวคาสเซิลแล้วยังมีแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วย

 

ปรากฏว่า 8 สโมสรที่ถูกมองว่าเป็น ‘กบฏ’​ ได้แก่ นิวคาสเซิล (แน่นอน), เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, เอฟเวอร์ตัน, วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และเบิร์นลีย์

 

เรื่องนี้เป็นเพราะสโมสรอย่างแมนฯ ซิตี้ (เป็นเจ้าของคิโรนาในลาลีกาและอีก 11 ทีมทั่วโลก), เชลซี (เจ้าของสตาร์สบูร์กในลีกเอิง), วูล์ฟส (มีคอนเน็กชันกับสโมสรในโปรตุเกส) หรือฟอเรสต์ (เป็นเจ้าของเดียวกับโอลิมเปียกอสในลีกกรีซ) และพาเลซ (เจ้าของเดียวกับโอลิมปิก ลียง ในลีกเอิง) เจ้าของสโมสรมีการลงทุนมากกว่า 1 สโมสรในยุโรป การสนับสนุนกฎนี้อาจหมายถึงการเอาเชือกมาผูกแข้งผูกขาของตัวเอง จึงร่วมต่อต้าน

 

ขณะที่ทีมที่ทำให้หลายสโมสรผิดหวังอย่างมากคือเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่ร่วมต้านการออกกฎนี้ด้วย

 

แต่ในเบื้องหลังแล้วเจ้าของสโมสรของทีมดาบคู่คือ เจ้าชายอับดุลเลาะห์ บิน มูซาอิด อัล ซาอูด จากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงได้ว่า ทำไมจึงร่วมต้านกฎที่จะเป็นการจำกัดอำนาจและอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียในพรีเมียร์ลีก

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะมีความพยายามอีกครั้งในการจำกัดอำนาจของ PIF ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบใหม่ในช่วงฤดูร้อนปีหน้า

 

ส่วนนิวคาสเซิลนั้นต้องจับตาว่าจะยืมตัวเนเวสตามกระแสข่าวจริงหรือไม่ หลังจากเคยพยายามปฏิเสธเรื่องนี้ก่อนหน้านี้

 

 

อัฐยายซื้อขนมยายได้ไปต่อ

 

นอกจากเรื่องของกฎการห้ามยืมผู้เล่นที่ล้มเหลวแล้ว ความพยายามในการออกกฎที่เข้มงวดขึ้นในเรื่องของข้อตกลงทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของสโมสร (เช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ Etihad และนิวคาสเซิลกับบริษัทซาอุดีอาระเบียทั้งหลาย) ก็ไม่สำเร็จด้วยเช่นกัน

 

โดยในการโหวตนั้นปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 13 ต่อ 7 เสียง

 

เรียกได้ว่าถูกปัดตกไปแบบฉิวเฉียด!

 

สำหรับ 7 สโมสรที่ร่วมต้านนั้นก็เป็นชุดเดิมกับที่ต้านการออกกฎห้ามยืมตัวใหม่ ยกเว้นเพียงเบิร์นลีย์ที่โหวตเห็นชอบให้มีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการสนับสนุนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ดังนั้นอนุมานได้ว่า เราจะได้เห็นการเข้าสนับสนุนสโมสรฟุตบอลจากบริษัทที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับสโมสรฟุตบอลต่อไปเหมือนเดิม

 

กรณีนี้แม้เหมือนจะเป็นเรื่องเก่า แต่มีกรณีปัญหาที่คาราคาซังมาก่อน โดยเฉพาะแมนฯ ซิตี้ ที่มีกรณีอื้อฉาวเรื่องการจ่ายเงินให้แก่ โรแบร์โต มันชินี อดีตผู้จัดการทีม โดยไม่ได้ผ่านสโมสรโดยตรง แต่เป็นการใช้บริษัทในเครือข่ายอำนาจจ่ายให้แก่บริษัทของผู้จัดการทีมชาวอิตาลีที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งเรื่องแดงขึ้นมาผ่านการเปิดโปงของ Football Leaks

 

คดีนี้ทำให้แมนฯ ซิตี้ ถูก UEFA ลงโทษแบนห้ามแข่งขันรายการสโมสรยุโรปเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่อนุญาโตตุลาการกีฬา (CIS) จะกลับคำตัดสินยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า ระยะเวลาในเอกสารที่มีการอ้างอิงไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพียงแต่เรื่องยังไม่สิ้นสุด เมื่อพรีเมียร์ลีกตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่และมีการฟ้องร้องถึง 115 ข้อหาที่ถูกจับตามองว่าจะมีการตัดสินและบทลงโทษอย่างไร

 

แต่อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา มีการออกกฎเรื่อง Fair Market Value ที่ทุกสโมสรจะต้องส่งข้อมูลเรื่องเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ที่ย้อนหลังไปถึงปี 2016 เพื่อมีการประเมินว่าเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

 

ส่วนเรื่องการลงโทษปรับเอฟเวอร์ตัน 10 แต้มจากการผิดกฎการเงิน Profit and Sustainability Rule (PSR) ว่าจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ยังไม่มีการหารือกันในที่ประชุมรอบนี้แต่อย่างใด

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising