×

‘ปิยสวัสดิ์’ เปิดข้อดีหลัง ‘การบินไทย’ พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ สภาพคล่องดีขึ้น ปีที่แล้วทำกำไรสุทธิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

07.11.2024
  • LOADING...

ช่วงเช้าวันนี้ (7 พฤศจิกายน) บมจ.การบินไทย โพสต์คลิปความยาวประมาณ 2.45 นาที ในหัวข้อ ‘Real Fact Real Stories’: จากปากผู้บริหารการบินไทย พร้อมพาคุณเข้าสู่เรื่องราวเบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านสำคัญ จากรัฐวิสาหกิจสู่เอกชน นี่คือสปิริตใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนการบินไทยสู่อนาคตอันยิ่งใหญ่และมั่นคง ผ่านช่องทาง Social Media ของ บมจ.การบินไทย

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยว่า ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2563 รัฐบาลโอนหุ้นของกระทรวงการคลัง 2%ให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลงมาเหลือที่ 47.9% การบินไทยจึงพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ การทำงานจึงคล่องตัวและตัดสินได้เร็วมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการบินไทยไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือได้ ข้อเสียนี้กลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เราต้องปรับโครงสร้างทางธุรกิจอย่างจริงจัง นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้การบินไทยฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เมื่อถามว่าเป็นเอกชนสร้างกำไรได้หรือไม่นั้น กำไรสุทธิปีที่แล้วอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และเป็นกำไรสุทธิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นสายการบินที่ไม่รวมรายการพิเศษ อีกทั้ง EBITDA Margin สูงมาก นับเป็นสายการบินที่ Operating Margin สูงที่สุดในโลก

 

ทั้งนี้ กรณีหากไม่ได้ Hair Cut หนี้เงินต้น เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและบัญชี บมจ.การบินไทย กล่าวว่า การเข้าแผนฟื้นฟูกิจการสิ่งแรกที่ต้องจัดการคือด้านการเงิน เพื่อลดภาระหนี้ให้สถานะการเงินมั่นคงและมีแผนระยะยาว ฉะนั้นจึงตัดสินใจที่จะไม่ Hair Cut หนี้ โดยบริษัทพิจารณากันอย่างหนักมาก

 

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้ Hair Cut หนี้เหล่านี้ยังคงอยู่ที่การบินไทย และยังต้องชำระหนี้ตามกำหนดแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด

 

ส่วนกรณีที่หากเป็นเอกชนแล้ว แผนในอนาคตของการบินไทยจะเป็นอย่างไรนั้น “ระยะยาวค่อนข้างชัดเจน หากเดินได้ตามแผนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่สำคัญคือขอให้เดินตามแผน และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นโยบายภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องบริหารจัดการอย่างคล่องตัว รวดเร็ว อย่ากลับไปเหมือนเดิม” ปิยสวัสดิ์กล่าว

 

หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นที่จะต้องเลือกกรรมการบริษัทเข้ามาบริหาร หลังจากฟื้นฟูแล้วในกลางปีหน้า

 

โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าเพียง 1 วัน โดยในวันพรุ่งนี้ (8 พฤศจิกายน) ที่กระทรวงการคลังจะมีการเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย คือ 1. ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และ 2. พลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง โดยเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยที่นัดประชุมวันนี้ เวลา 10.00 น. จำนวน 35 กลุ่ม หรือรวมมากกว่า 10,000 ราย ซึ่ง ณ วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 มีมูลหนี้รวมกว่า 4.1 แสนล้านบาท โดยต้องติดตามว่าที่ประชุมเจ้าหนี้วันนี้จะมีการโหวตรับการแก้ไขเพิ่มผู้บริหารแผนในครั้งนี้หรือไม่

 

โดยหากมีการโหวตรับก็จะส่งผลให้กระทรวงการคลังมีตัวแทนไปนั่งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยเพิ่มจากปัจจุบันที่มีทั้งหมด ดังนี้

 

  • ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรเอกชนชั้นนำของไทยมาแล้วหลายแห่งทั้งภาคธุรกิจและการเงิน
  • ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และอดีตซีอีโอ บมจ.ปตท. หรือ PTT
  • พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง

 

ทั้งนี้ หมายความว่าหากทั้ง 2 รายชื่อคือ ปัญญา ชูพานิช และ พลจักร นิ่มวัฒนา ได้รับโหวตจากเจ้าหนี้เป็นผู้บริหารแผนเพิ่ม เมื่อรวมกับ พรชัย ฐีระเวช ที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่เดิมเป็นผู้บริหารแผนอยู่แล้ว จะส่งผลให้ตัวแทนจากกระทรวงการคลังครองเสียงข้างมากเพิ่มเป็น 3 รายอยู่ในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูของการบินไทย ทำให้เริ่มมีความกังวลว่ากระทรวงการคลังหรือรัฐบาลจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ หรือจะมีการเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการของการบินไทยในอนาคตหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising