วันนี้ (12 พฤษภาคม) ที่สำนักงานอัยการ ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดุสิต ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ผู้ต้องหาฐานกระทำความผิดมาตรา 112 กรณี เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ข้อความที่ปิยบุตรโพสต์ลงทวิตเตอร์ เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
ปิยบุตรกล่าวก่อนเข้าพบพนักงานอัยการ ว่ารู้สึกเหมือนบังเอิญอย่างไรก็ไม่รู้ว่า ดุลพินิจการพิจารณาของพนักงานสอบสวนเป็นอย่างไร ซึ่งตนพยายามชี้แจงไปแล้วว่าช่วงนี้เป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะเป็นไปได้ช่วยนัดในช่วงหลังเลือกตั้งได้หรือไม่ ทำให้วันนี้ตนเสียเวลาในการหาเสียง และเสียเวลาในการเตรียมตัวจัดการปราศรัยหาเสียงตอนเย็นนี้
แต่ก็ไม่เป็นไร หากพนักงานสอบสวนยืนยันว่าจะส่งตัวในวันนี้ แต่ก็อยากให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลถูกกระทำอยู่นี้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และตนมีข้อสงสัยประเด็นเรื่องการที่พนักงานสอบสวนเชิญพยานผู้เชี่ยวชาญคดีมาตรา 112 หลายคดีเป็นคนกลุ่มเดิม เช่น อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, เจษฎ์ โทณะวณิก ซึ่งหากเป็นบุคคลเหล่านี้ พวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับตนอย่างชัดเจน แล้วนำมาเป็นพยานได้อย่างไร
ด้าน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของปิยบุตรระบุว่า เมื่ออัยการได้รับสำนวน ขั้นตอนต่อไปอัยการจะพิจารณาสำนวน และขอนัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดีเป็นวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ เวลา 10.00 น. โดยหลังจากนี้หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวน ก็จะยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมให้สอบสวนเพิ่มเติม เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำเป็นการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิ เป็นความเห็นทางวิชาการ ไม่ผิดกฎหมาย อาจจะต้องปรึกษากันว่าจะยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเมื่อไร แต่คงจะหลังช่วงเลือกตั้งไปแล้ว
ด้านปิยบุตรกล่าวว่า พนักงานสอบสวนควรใช้ดุลพินิจบ้าง เพราะไม่สมควรสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ทุกคดีมาที่อัยการทั้งหมด แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนของพนักงานอัยการแล้ว ก็ขอเรียกร้องว่าถ้าพนักงานอัยการพิจารณาสำนวนแล้วหากไม่เข้าข่ายก็ไม่ต้องสั่งฟ้อง เพราะสถิติที่ผ่านมาคดีความผิดมาตรา 112 พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ มีความเห็นส่งฟ้องศาลทุกคดี 100% หากไม่มีการแก้ไขก็จะมีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ในการกลั่นแกล้งผู้อื่นอีก หวังว่าคดีตนจะเป็นคดีแรกที่ไม่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง อย่างน้อยที่สุดให้กระบวนการต่อสู้เป็นการเรียนรู้ทางวิชาการได้ด้วย