×

ปิยบุตรปิดท้ายอภิปรายก่อนลงมติวันนี้ ยืนยันร่าง รธน. ฉบับประชาชน คือทำให้กติกากลับคืนสู่ความเป็นกลาง-นำประเทศคืนสู่ความปกติ

โดย THE STANDARD TEAM
17.11.2021
  • LOADING...
ปิยบุตร แสงกนกกุล

วานนี้ (16 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เสนอกฎหมายจากกลุ่ม Re-Solution ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ‘รื้อระบอบประยุทธ์’ ได้กล่าวสรุปจบการนำเสนอ และตอบประเด็นข้อโต้แย้งสำคัญที่มีการอภิปรายจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ซึ่งมีการประชุมต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเช้า

 

โดยปิยบุตรกล่าวว่าสิ่งที่ได้มีการอภิปรายมาทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เป็นการนำเสียงเรียกร้องของประชาชนเข้ามาถกเถียงอภิปรายกันในสภาตามระบบอย่างมีอารยะ ซึ่งหลายความเห็นที่มีการอภิปรายมาทั้งหมด ประชาชนจะเป็นผู้ชั่งน้ำหนักเองว่าเหตุผลของใครฟังได้กว่ากัน

.

ก่อนการประชุมในวันนี้ ตนและคณะถูกกล่าวหาในหลายประเด็น จนมาในที่ประชุมวันนี้ก็ยังถูกกล่าวหาทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ตนขอยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ยกร่างขึ้นมาจากสมมติฐานที่ว่า ระบบรัฐธรรมนูญไทยและระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติ นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีความต้องการเพียงแต่จะปรับปรุงให้ระบบการเมืองของประเทศไทยเข้าสู่จุดสมดุลมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้กติกากลับมาเป็นกลาง และคืนความปกติให้กับสังคมไทยเท่านั้น

 

ปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อกังวลจากผู้อภิปรายบางส่วนในวันนี้ ที่มีต่อ 4 ข้อเสนอหลักที่ร่างฯ ต้องการจะแก้ไข ประการแรกคือ ข้อคัดค้านการยกเลิกวุฒิสภา ให้เหลือเพียงสภาเดียว ซึ่งปิยบุตรระบุว่า หากเรายังยืนยันอยากจะมี 2 สภา ก็ต้องตั้งคำถามก่อนว่าทำไมต้องมี 2 สภา

 

ประเทศที่มี 2 สภาบนโลกมีเหตุผลเพียง 2 ข้อเท่านั้น หนึ่งคือเหตุผลทางประวัติศาสตร์ สองคือเรื่องของโครงสร้างของรัฐ โดยหากจะให้มีวุฒิสภาอำนาจมาก ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีอำนาจน้อย ก็อาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม หรือมาจากการแต่งตั้งก็ได้

 

แต่ระบบ 2 สภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490, 2492, 2511, 2521, 2534, 2550 และ 2560 คือการประกันการสืบทอดอำนาจ วันนี้เราจึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกวุฒิสภา แม้หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยข้อเสนอนี้ก็จะได้ถูกอภิปรายและประเมินความเหมาะสมกัน

 

ประเด็นถัดไป เรื่องของการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปิยบุตรระบุว่า ตนขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นเพียงการตรวจสอบถ่วงดุล ให้มีระบบการตรวจสอบที่เป็นกลางและเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

 

ประการที่สาม เรื่องของการลบล้างผลพวงรัฐประหารและการป้องกันรัฐประหาร ไม่ใช่การยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ทุกฉบับ อย่างที่มีการอภิปรายเห็นแย้งมา เพียงแต่ให้ยกความคุ้มครองที่มีต่อบรรดาประกาศ/คำสั่ง คสช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ออกไปเท่านั้น โดยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ ว่าประกาศ/คำสั่งเหล่านั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ส่วนเรื่องของการทำให้การนิรโทษกรรมการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นโมฆะ ปิยบุตรระบุว่า นี่คือแบบอย่างที่หลายประเทศใช้กันและสามารถหยุดยั้งการรัฐประหารได้สำเร็จ ให้องค์กรที่ใช้และตีความรัฐธรรมนูญหยิบเอาบทบัญญัติเหล่านี้มาใช้เพื่อหยุดยั้งรัฐประหารได้

 

ส่วนเรื่องของการยกเลิกร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ตนยืนยันว่ายังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนทำ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ที่ได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกับประชาชนไว้

 

ทั้งนี้ ปิยบุตรยังได้ระบุว่า ตลอดการประชุมวันนี้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นมากมาย จากความกังวล ไม่ว่าจะเป็นต่อการแทรกแซงองค์กรอิสระ การรวมศูนย์อำนาจ และความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น

 

ซึ่งตนก็ต้องถามกลับเช่นกันว่า แล้วเหตุใดรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เต็มไปด้วยการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ การรวมศูนย์อำนาจ และการไม่ไว้ใจต่อองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน ผู้อภิปรายจึงไม่โต้แย้งบ้าง

 

“ตลอดการประชุมในวันนี้ สมาชิกหลายท่านกังวลว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้าไปแทรกแซงองค์กรอื่น แต่เหตุใดเรากลับไม่กังวลใจเลยว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ดี องค์กรอิสระก็ดี ก็มีโอกาสแทรกแซงองค์กรอื่นได้ในปัจจุบัน หลายท่านกังวลว่าอำนาจจะรวมศูนย์อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ แต่เหตุใดเรากลับไม่กังวลกับอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่วุฒิสภา องค์กรอิสระ อย่างที่เป็นทุกวันนี้ หรือในอดีตที่ผ่านมา คืออำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้า คสช. ภายใต้มาตรา 44 หรือไม่ หลายท่านมีความกังวลใจกันหลายเรื่อง ว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจองค์กรอื่น ผมก็ขอตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมท่านต้องมาระแวงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไปว่า ตลอดการอภิปรายในวันนี้มีการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภาหลายคนว่าร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง หรือเปิดช่องทางให้มีการล้มล้างการปกครอง ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ใช่

 

เพราะเนื้อหาทั้งหมดที่อยู่ในร่างฯ ไม่มีอะไรที่ไปเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งสิ้น ประเทศจะยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอำนาจนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจบริหารโดยคณะรัฐมนตรี มีอำนาจตุลาการโดยศาล

 

ปิยบุตรยังระบุว่า การเข้าชื่อโดยประชาชนเสนอร่างกฎหมาย เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวที่ให้ปวงชนชาวไทยซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้แสดงออกซึ่งการใช้อำนาจได้บ้าง นอกจากการรอเลือกตั้งใหม่อย่างเดียว

 

“ในเมื่อสิ่งนี้มันเป็นเศษเสี้ยวที่เขาได้ใช้ เขาก็ขอใช้บ้าง แม้หลายท่านจะรู้ว่าอนาคตของร่างนี้อาจจะไม่ผ่าน แต่เขาก็พยายามที่จะใช้ ความพยายามแบบนี้หรือคือการล้มล้างการปกครอง? ผมขอเรียนเพื่อนสมาชิกว่า ท่านอาจจะกล่าวหาว่าผมร่างด้วยความอคติอะไรต่างๆ นานา ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ใช่เช่นเดียวกัน ผมขอให้ทุกท่านลองพิจารณาร่างนี้ด้วยความไม่อคติ ลองดูจากบทบัญญัติรายมาตรา อย่าดูที่หน้าผม” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวทิ้งท้าย โดยระบุว่า ความพยายาม ความคิดความอ่านของพวกเรา หรือแม้กระทั่งของพี่น้องประชาชนที่กำลังรณรงค์ ไม่ได้มีความคิดจะล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด พวกเรามีความคิดแต่เพียงอยากทำให้ประเทศไทยดีขึ้น อยากจะทำให้คนไทยอยู่ร่วมกันได้ในความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

“อย่ากังวลกับเรา อย่ากลัวเราจนเกินไป อย่ากังวลกับเราจนเกินไป ความคิดแบบพวกเรานี่แหละที่จะรักษาประชาธิปไตยได้ ที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงต่อไปได้ ผมขอความสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิก ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกท่าน มาร่วมกันลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 มาร่วมกันเปิดประตูแห่งความหวัง เปิดประตูแห่งการปฏิรูป เปิดประตูแห่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามระบบ เพื่อแก้ไขปัญหา ร่วมกันเปิดประตูแห่งการแสวงหาฉันทามติ” ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย

 

ขณะที่หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นในเวลา 01.40 น. ประธานในขณะนั้นได้สั่งปิดการประชุม และนัดการประชุมต่อในวันนี้ (17 พฤศจิกายน) เวลา 10.00 น. เพื่อโหวตลงมติต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X