วานนี้ (31 มกราคม) จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และพรรคก้าวไกล หาเสียงด้วยนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งยุติการกระทำ
ต่อมาพิธาโพสต์อินสตาแกรมภาพแถลงข่าว พร้อมระบุข้อความว่า
“แล้วมันจะผ่านไปด้วยดี…เดินหน้าทำงานต่อเพื่อพี่น้องประชาชน”
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ผมไม่ได้กังวลอะไรเกี่ยวกับตัวผมหรือพรรคก้าวไกลเลย สิ่งที่กังวลที่สุดก็คือ ผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในบริบทสากล ว่าโลกจะมองประเทศไทยอย่างไร”
ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ผ่าน X แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งห้ามแก้โดยเด็ดขาด ศาลรัฐธรรมนูญสั่งพรรคก้าวไกลห้ามยกเลิก และห้ามแก้โดยวิธีการซึ่งมิใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบได้ ดังนั้น หากต้องทำตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การแก้มาตรา112 ยังพอทำได้อยู่
“เพียงแต่แก้เพื่อย้ายหมวดไม่ได้ แก้เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษไม่ได้ แก้ให้เป็นความผิดยอมความได้ไม่ได้ และกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ได้”
ปิยบุตรระบุอีกว่า นั่นหมายความว่า แก้มาตรา 112 เพื่อลดโทษได้ ไม่มีโทษขั้นต่ำได้ แก้มาตรา 112 เพื่อแยกฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ออกจากกันได้ และแก้มาตรา 112 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสักหน่วยงานหนึ่งที่มิใช่สำนักพระราชวังทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษได้
โรมชี้แจง แก้ ม.112 ต้องการแก้วิกฤตการเมือง
ด้าน รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องคดีพรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ว่า ตั้งแต่เราตั้งพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล เจตนาของเราคือต้องการแก้ไขปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่มีมานานแล้ว ก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ มาตรา 112 ก็เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์และเห็นต่างทางการเมืองมาโดยตลอด และเราได้รับคำเสนอแนะจากต่างประเทศถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 มาโดยตลอด ต้องยอมรับว่ามาตรา 112 นำไปสู่คำถามมากมาย ก้าวไกลเชื่อว่าไม่เพียงจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น แต่ต้องทำให้วิกฤตการเมืองของสังคมหมดไป
ไม่มีกฎหมายห้ามแก้ ม.112
รังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ห้ามเสนอแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้น ขั้นตอนการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เราได้ทำไปแล้วนั้น เป็นกระบวนการตามปกติที่กฎหมายให้อำนาจ ส่วน สส. ในสภาจะเห็นอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายใช้อำนาจวินิจฉัยกันไป
รังสิมันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ ก็คงต้องพูดคุยกันในพรรคว่าจะมีแนวทางกันอย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยที่ออกมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า บรรทัดฐานการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้การพูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของ สส. ในที่สาธารณะเป็นอย่างไร รังสิมันต์กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนต้องไปคิด เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมสนใจ สื่อมวลชนจึงนำไปถามเพื่อให้รู้จุดยืนของพรรคการเมืองที่จะลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็นำไปสู่คำถามว่า การพูดเรื่องมาตรา 112 จะเป็นอย่างไร ดังนั้นสังคมต้องหาพื้นที่ในการแก้ปัญหาที่มีมานาน
เสียดายพื้นที่หาคำตอบ
รังสิมันต์กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจว่าสภาจะเป็นพื้นที่ให้ได้หรือไม่ เราเป็นคนที่ต้องอยู่ในสังคมไปอีกนาน หลายคนยังอายุยังน้อย และต้องการจะรู้ว่าสิทธิและเสรีภาพมีมากน้อยแค่ไหน แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีพื้นที่ในการหาคำตอบในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ตนไม่เชื่อว่าการห้ามคิดหรือห้ามพูดจะนำไปสู่ข้อยุติ
ห้ามคนร้องยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่รังสิมันต์เป็น 1 ใน สส. 44 คน ที่เคยลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 กังวลว่าจะถูกร้องจนนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ รังสิมันต์กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยหากสุดท้ายจะมีการดำเนินคดี ทั้งการยุบพรรคและการตัดสิทธิ สส. ทั้ง 44 คน ตนคงไปห้ามไม่ได้ และเชื่อว่าต้องมีคนไปร้อง ก็คงต้องสู้คดีกันต่อไป ส่วนผลจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต