×

‘ปิยบุตร’ แนะวิธีพา ‘ทักษิณ’ กลับบ้านโดยไม่ต้องติดคุก

โดย THE STANDARD TEAM
13.08.2023
  • LOADING...
ปิยบุตร แสงกนกกุล

วานนี้ (12 สิงหาคม) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุช่วงหนึ่งถึงการเดินทางกลับประเทศไทยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากความวิปริตของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่แล้วเสร็จ

 

กรณีนี้ส่งผลให้เหล่าบรรดาพรรคการเมืองและวุฒิสภานำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง กำหนดตัวนายกรัฐมนตรีและกำหนดองค์ประกอบพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ จนทำให้ความฝันความหวังของประชาชนเกือบ 25 ล้านเสียงที่แสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งอยากเห็น ‘รัฐบาล 8 พรรค/312 เสียง’ ต้องดับสิ้นลง

 

ปิยบุตรระบุอีกว่า ประเด็นปัญหากลับบ้านของทักษิณอยู่ในสังคมไทยมาเกือบสองทศวรรษ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง เมื่อไรได้รัฐบาลใหม่จากขั้วเพื่อไทย ก็จะมีผู้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสมอ ซึ่งที่ผ่านมาผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้องนายกพระราชทาน มาตรา 7 ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงได้รวมตัวก่อตั้ง ‘คณะนิติราษฎร์’ ขึ้นมาพร้อมข้อเสนอ ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549’ ซึ่งหากข้อเสนอเหล่านี้สำเร็จ ผลที่ตามมาคือสามารถดำเนินการกับคณะรัฐประหารได้ทันที

 

“ส่วนคดีความของทักษิณและนักการเมืองอีกหลายคนที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 49 ก็ไม่ได้นิรโทษหรืออภัยโทษแต่อย่างใด เพียงแต่ลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นทิ้ง และสามารถดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการปกติ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย”

 

ปิยบุตรระบุอีกว่า วันนี้ประเด็นทักษิณกลับบ้านกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง การดำเนินคดีโดยใช้องค์กรและกระบวนการที่เริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่เป็นธรรมต่อทักษิณ ยังรวมไปถึงการออกกฎหมาย พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560

  • มาตรา 25 ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

  • ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

  • มาตรา 27 ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล และอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล เกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

  • และมาตรา 28 กำหนดว่า กรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด

  • ในกรณีที่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้

 

ปิยบุตรระบุว่า บทบัญญัติทั้ง 3 มาตรานี้ ส่งผลให้

 

  1. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาคดีอาญาของทักษิณแบบลับหลังจำเลยได้
  2. ทักษิณอยู่ต่างประเทศอีกนานเท่าไร ก็ไม่ทำให้คดีต่างๆ หมดอายุความ
  3. คดีที่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกทักษิณมีตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี ซึ่งทักษิณหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศเกิน 10 ปี โดยปกติจะได้รับประโยชน์จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ไม่ต้องรับโทษแล้ว แต่ในเมื่อ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25 วรรคสาม กำหนดไม่ให้นำอายุความมาใช้ในกรณีนี้ ทำให้คำพิพากษาที่ลงโทษจำคุกทักษิณต้องถูกบังคับคดีต่อไป

 

“จะเห็นได้ว่า พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ทั้งสามมาตรานี้ มุ่งหมายใช้กับกรณีทักษิณและยิ่งลักษณ์โดยเฉพาะ และผมเห็นว่าการเลือกวิธีกลับบ้านโดยการกลับมาติดคุกและหวังว่าจะได้อภัยโทษ ไม่เพียงไม่เป็นคุณกับทักษิณ แต่ยังไม่เป็นคุณกับการเมืองไทยด้วย”

 

ปิยบุตรระบุว่า จนถึงวันนี้มีอะไรรับประกันได้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าหากทักษิณกลับมาติดคุก ผ่านไปไม่นานจะได้รับอภัยโทษ ในเมื่อกำหนดการกลับประเทศไทยของทักษิณต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง จนมีการคาดการณ์ว่าการเจรจาตกลงยังไม่เป็นที่ยุติ และต่อให้เชื่อว่าเป็นที่ยุติจริง ทักษิณกลับมาติดคุกไปเรื่อยๆ และยังไม่มีการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะกรณีให้แก่ทักษิณ หรืออาจไม่มีการอภัยโทษเลย ทักษิณ พรรคเพื่อไทย สส. พรรคเพื่อไทย และมวลชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะออกมาต่อสู้เรื่องนี้ได้อย่างไร มีความชอบธรรมเพียงพอในการเรียกระดมมวลชนออกมาต่อสู้กับความอยุติธรรมได้อีกหรือไม่

 

“มวลชนจำนวนมากที่ผิดหวังกับกรณีพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มวลชนที่ตาสว่างจากการตั้งรัฐบาลในรอบนี้ จะยังคงออกมาร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ทักษิณและคณะอีกหรือไม่”

 

ปิยบุตรระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาการอภัยโทษเป็นรายบุคคลไม่เคยปรากฏในกรณีความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ยิ่งกรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองและเป็นที่จับตาของสังคมไทยอาจกระทบกับสถานะความเป็นกลางของพระมหากษัตริย์ได้

 

นอกจากนี้หากมีการนำประเด็นทักษิณกลับบ้านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาล บีบให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมละทิ้งจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตยและทำลายพลังของฝ่ายประชาธิปไตยที่ผนึกกันอย่างเข้มแข็งตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

 

“ผมเห็นว่าจนถึงวันนี้ทักษิณไม่ควรต้องติดคุก โทษจำคุกที่ทักษิณได้รับไม่เป็นธรรม ทักษิณคือเหยื่อผู้ถูกกระทำจากรัฐประหาร หนทางที่ถูกต้องเป็นธรรมต่อทักษิณและยืนอยู่บนหลักการ ก็คือลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอไว้เมื่อ 12 ปีก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรแก้ไข พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ในมาตรา 25, มาตรา 27, มาตรา 28 ให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์ปกติเหมือนคดีอาญาอื่นๆ ไม่จำเพาะเจาะจงตรากฎหมายโดยดูหน้าคน เพื่อเล่นงานทักษิณและยิ่งลักษณ์”

 

ปิยบุตรยังระบุด้วยว่า เมื่อทักษิณไม่ติดคุก ก็ไม่ต้องขออภัยโทษ ไม่ต้องตรากฎหมายนิรโทษกรรมทักษิณ แต่ลบล้างคำพิพากษาที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วเริ่มต้นดำเนินคดีกันใหม่อย่างเป็นธรรม ปล่อยตัวชั่วคราว ใช้ชีวิตตามปกติ และต่อสู้คดีกันใหม่ หนทางนี้อาจทำให้ทักษิณได้กลับบ้านล่าช้าออกไปเล็กน้อย แต่จะสร้างความยั่งยืน ความแน่นอนชัดเจนให้กับทักษิณได้มากกว่า นอกจากนี้ทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็จะไม่เสียความนิยมจากมวลชน และพลังของฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังคงเข้มแข็ง ต่อสู้กับพวกฝ่ายอำนาจนิยมได้ต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X