วันนี้ (17 พฤศจิกายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดเส้นทางสัญจรปกติโดยรอบอาคารรัฐสภาวันนี้ เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะเดินทางมาเพื่อติดตามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับว่า วันนี้การเดินทางมีความยากลำบาก เนื่องจากมีการรักษาความปลอดภัยที่หนาแน่น ห้ามรถโดยสารสาธารณะเข้า เปิดช่องการจราจรเพียงหนึ่งช่อง ซึ่งอาจทำให้การสัญจรไม่สะดวกเท่าที่ควร
โดยขณะนี้สถานการณ์ยังคงปกติอยู่ กลุ่มผู้ชุมนุมและมวลชนยังไม่ได้เข้ามายังบริเวณหน้าพื้นที่อาคารรัฐสภา ในกรณีที่ผู้ชุมนุมเดินทางมาติดตามการทำงานของตัวแทนพวกเขาในวันนี้ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ตนในฐานะ ส.ส. ไม่รู้สึกกดดัน และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งนี้ขอวิงวอนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะควบคุมการชุมนุมรอบรัฐสภาว่าขอให้มีความเห็นอกเห็นใจประชาชน ใช้มาตรฐานเดียวกันในการดูแลประชาชนไม่ว่าฝ่ายใด
อีกอย่างหนึ่งการประชุมรัฐสภาในวันนี้เป็นวาระของสังคมที่ประชาชนต้องการเข้ามาติดตาม โดยเฉพาะร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (iLaw) ที่จะเข้าสู่การพิจารณาใน 2 วันนี้ที่ประชาชนเข้ายื่นเสนอรายชื่อกว่า 1 แสนคน ซึ่งคนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมที่รัฐสภาคงเป็นผู้ที่ยื่นรายชื่อในร่างดังกล่าว
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้เตรียมความพร้อมในอภิปรายอย่างเต็มที่ทั้งในส่วนของการรับทราบรายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการของรัฐบาล และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และจะสนับสนุนให้ร่างของประชาชนเป็นร่างหลักเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปในวาระ 2-3 ซึ่งแน่นอนนอนว่าพรรคก้าวไกลได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับอย่างถี่ถ้วนแล้ว
พิธากล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นพรรคก้าวไกลจะลงมติรับทั้ง 7 ร่าง ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. มีความพยายามที่จะอภิปรายถึงข้อเสียของร่างประชาชน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้อภิปรายเหตุมีผลเพื่อทำความเข้าใจต่อสาธารณะไว้อย่างเต็มที่เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง
“ผมจึงอยากฝากไปถึงฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ว่าอย่าเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของประชาชนด้วยนิติวิธีหรือเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องของ ป.ป.ช. ไป หรือเรื่องที่จะบอกว่าการใช้ร่างรัฐธรรมนูญของฉบับประชาชนมีนักการเมืองฝ่ายค้านได้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด อยากจะให้ทุกท่านดูเจตจำนงของประชาชนเป็นที่ตั้ง“ พิธากล่าว
ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลจะรับร่างเพียง 2 ร่างคือของรัฐบาลและฝ่ายค้านนั้น พิธากล่าวว่าในกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อยากให้ทุกท่านมองเห็นถึงการทางออกให้ประเทศในการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และให้มองถึงมิติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขณะนี้เป็นเพียงวาระแรกในการรับหลักการ หาก ส.ส. รัฐบาลและ ส.ว. เห็นด้วยกับหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของร่าง 1 (ร่างของรัฐบาล) และร่าง 2 (ร่างของฝ่ายค้าน) นั้น ท่านก็คงต้องเห็นด้วยกับหลักการของร่างที่ 7 (ร่างของ iLaw) ที่เป็นร่างของประชาชนด้วย โดยเพื่อเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตนคิดว่ารัฐบาลและ ส.ว. ควรจะรับในหลักการทั้ง 3 ร่าง ซึ่งในเรื่องของภาพรวมที่ต้องใช้ระยะเวลาในแก้ไขรัฐธรรมนูญพอสมควร แต่ในเรื่องของมิติระยะสั้น หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง กรณีนายรัฐมนตรีลาออก คณะรัฐมนตรีทั้งหมดก็ต้องสิ้นสภาพ แต่ ส.ว. ไม่ได้สิ้นสภาพไปด้วย โดยในกรณีสำคัญที่จะเป็นกุญแจปลดล็อกคือการแก้ไขในมาตรา 272 ที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคก้าวไกลเสนอเพื่อเป็นทางออกในแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองของคนในประเทศ
ทั้งนี้ พิธากล่าวถึงความสำคัญที่รัฐสภาต้องรับร่างฉบับ iLaw ว่าร่างของ iLaw มีความครอบคลุมและครบถ้วน และที่สำคัญที่สุดคือเป็นร่างที่มาจากข้อเรียกร้องประชาชนโดยแท้จริง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์