×

พิธาชวน ส.ส. โหวตคว่ำร่างงบฯ ปี 65 ทำสาธารณสุข-การศึกษา ได้งบเพิ่มให้ประชาชนทันที

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2021
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

วันนี้ (2 มิถุนายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.บ. ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระที่ 1 โดยระบุว่า ขอเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ‘ลึกลงไปในใจท่านนั้น’ หลังจากที่ฟังอภิปรายกันมา 3 วัน 3 คืน เชื่อจริงๆ หรือว่างบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาทฉบับนี้จะนำพาประชาชนออกจากวิกฤตที่หนักหนาสาหัสนี้ได้จริง ที่ต้องตั้งคำถามอย่างนี้เพราะในมุมมองของตนมองว่าจากนี้อาจจะไม่มีอีกแล้ว ประเทศไทยแบบเดิมๆ ที่เรารู้จักกัน หลายสิ่ง หลายอย่างจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว เราอาจจะต้องมาช่วยกันเก็บกวาดซากปรักหักพังของประเทศไทยยุคเก่า และเริ่มมานับหนึ่งกันใหม่ หยิบอิฐทีละก้อนมาก่อร่างสร้างประเทศของเรากันใหม่ 

 

“เราอาจจะต้องมานับหนึ่งกันใหม่กับระบบสาธารณสุขไทย ไม่ใช่เพียงแค่การรับมือกับโรคระบาดในปัจจุบัน แต่อาจจะเป็นการเตรียมรับมือกับเชื้อโรคอีกมากมายหลายชนิดในอนาคต ที่จะมาท้าทายความมั่นคงทางสาธารณสุขอย่างไม่หยุดหย่อน เราอาจจะต้องมานับหนึ่งกันใหม่กับระบบทุนนิยมไทย ไม่ใช่เพียงแค่ แก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันที่ต้องหยุดชะงักลงเพราะโควิด-19 แต่แก้ที่เค้าโครงเศรษฐกิจที่กระจุกตัวมากเกินไป พอเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ  กว่า 45% เมื่อกรุงเทพฯ เป็นอัมพาต เศรษฐกิจทั้งประเทศก็เป็นอัมพาต” พิธากล่าว

 

พิธาระบุว่า ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม ต้องยอมรับความจริงว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่พออ่านงบประมาณ 2 ลัง 2 หมื่นกว่าหน้าฉบับนี้ บอกได้คำเดียวว่า ไม่มีความหวัง ไม่มีทางเลยที่ประเทศไทยจะหลุดออกจากวิกฤตและความอึดอัดทรมานครั้งนี้ไปได้ 

 

“หากพรรคก้าวไกลจัดทำงบประมาณ พวกเราจะต้องเอาประชาชนมาเป็นที่หนึ่ง เหนือสิ่งอื่นใดหลักคิดของเราก็คือ เราต้องเริ่มจากคนที่เปราะบางที่สุดของสังคมไทย คิดจากมุมมองของเด็กที่หิวโหย คนแก่เฒ่าที่เจ็บป่วย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำงาน 2-3 งาน จนสายตัวแทบขาดเพื่อที่จะส่งลูกเรียนหนังสือ เราจะร่างจากฐานคิดที่ว่ารัฐจะโอบอุ้มคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร และฐานคิดนี้จะเป็นเสาหลัก เป็นอิฐก้อนแรกในการ ‘ฟื้นฟูประเทศไทย’ นับจากวันนี้เป็นต้นไป” พิธากล่าว

 

พิธาระบุว่า ในความเป็นจริงอิฐก้อนแรกคืองบประมาณสวัสดิการประชาชน แต่กลับถูกตัดลงถึง 35,000 ล้านบาท นี่คือฉากเริ่มต้นของความโหดร้ายของงบประมาณฉบับนี้ อิฐก้อนต่อไปในการสร้างบ้านใหม่ก็คือการดูแลเด็กๆ รัฐบาลนี้ประกาศตั้งแต่ปี 2563 ว่าจะให้สวัสดิการเด็กนั้นเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ก็ยังจัดมาแค่ 17,000 ล้านบาทเท่านั้น 

 

อิฐก้อนถัดมาคือด้านการศึกษา เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้พ่อแม่ตกงาน มีปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาตามมา แต่ที่รับไม่ได้มากที่สุดคือ ความไม่แยแสใดๆ ของรัฐบาลต่อวิกฤตทางการศึกษาในครั้งนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีภารกิจในการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา ในช่วงวิกฤตแบบนี้กลับถูกตัดงบ 400 ล้านบาท หมายความว่า เด็กกว่า 700,000 คนที่เคยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนนี้ในปีที่แล้ว จะไม่ได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ 

 

พิธากล่าวว่า อิฐก้อนต่อไปเป็นงบสาธารณสุข ในปี 2565 เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมคือ ‘วัคซีนเข็มที่สาม’ เพราะประมาทเลินเล่อมาหลายครั้ง แต่จะฟื้นฟูประเทศได้เพราะงบกระทรวงสาธารณสุขถูกตัดไป 4,000 ล้านบาท และงบบัตรทองถูกตัดไปอีก 2,000 ล้านบาท ทั้งที่คาดว่าจะมีผู้ตกงานมากขึ้น และจะมีผู้หลุดออกจากระบบประกันสังคมเข้ามาใช้บัตรทองมากยิ่งขึ้น ตรงกันข้าม ในสถานการณ์แบบนี้ควรจะขยับเพดานให้สวัสดิการของประชาชนธรรมดากับสวัสดิการข้าราชการให้ไม่แตกต่างกันมากอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

นอกจากนี้ ด้านการเกษตรยังจำเป็นต้องเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง ซึ่งกระดุมเม็ดแรกก็คือปัญหาที่ดิน มากกว่าครึ่งเป็นของรัฐบาลโดนประกาศพื้นที่ป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อน จนสร้างปัญหาตามมาเป็นคดีความหลายหมื่นคดี งบประมาณที่ดินจะต้องสะท้อนจินตนาการใหม่ของที่ดินไทย เป็นงบประมาณที่จัดแบบเชิงรุกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน ต้องเลิกแนวคิดแบบที่อังกฤษมาสอนในยุคล่าอาณานิคม โดยให้กรมป่าไม้ผูกขาดป่าทั้งหมดเพื่อให้สัมปทานกับเจ้าเดียว ต้องเลิกความคิดที่อเมริกาสอนช่วงสงครามเย็นว่าต้องไล่คนออกจากอุทยานให้หมด แต่ต้องทำตามโมเดลของโลกปัจจุบันที่ยกระดับไปให้ถึงการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร

 

พิธายังชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ‘บ้านงบประมาณใหม่’ แต่จะเป็นจริงไม่ได้เลยถ้าอำนาจการตัดสินใจ ทรัพยากร ยังกระจุกตัวอยู่กับ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ ซึ่งการกระจายอำนาจคือหัวใจสำคัญ แต่ต่อให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจทั้งสภาก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ หากไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับโครงสร้างอำนาจที่อยู่เบื้องหลังระบบราชการรวมศูนย์คือ นายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่ปรารถนาจะแช่แข็งประเทศไทยเอาไว้ในโครงสร้างที่ตนเองอยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิด 

 

พิธาย้ำว่า หากตนเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จะพยายามอย่างมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในการปลดปล่อยงบอาวุธภาระผูกพันเหล่านี้กว่า 20,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาที่เราต้องใช้งบเพื่อสุขภาพมากกว่าความมั่นคงต้องมีการเจรจา เช่น สหรัฐอเมริกา เราควรเจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในฐานะพันธมิตรประเทศแรกๆ ของสหรัฐฯ ในทวีปเอเชีย เพื่อขอยกเว้นภาระผูกพันการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีท่านหนึ่งเคยทำมาแล้วในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง

 

“ท้ายที่สุดนี้ ผมมีคำถามฝากถึงท่านประธานผ่านไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่า ที่ทุกท่านร่วมอภิปรายกับพวกผมตลอด 3 วัน 3 คืนที่ผ่านมา ร่วมวิพากษ์วิจารณ์การตัดงบกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ และสวัสดิการต่างๆ ท่านอยากได้งบประมาณเหล่านี้คืนไปจริงหรือไม่” พิธากล่าว

 

“ถ้าท่านอยากได้งบประมาณคืนให้กับประชาชนของท่าน ผมมีข้อเสนอในระยะสั้น คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทั้งหลายในสภาแห่งนี้ต้องร่วมกัน ‘คว่ำ’ ร่างงบประมาณปี 2565 เพื่อให้กรอบงบประมาณปี 2564 นำมาใช้ไปพลางก่อน แล้วเมื่อนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาทในทันที กระทรวงศึกษาธิการก็จะได้รับงบเพิ่มขึ้น 24,000 ล้านบาทในทันที” พิธากล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising