×

พิธาเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ยุบ ศบค.-ปรับ ครม. ทลายทุกคอขวด ก่อนน้ำตาประชาชนจะลุกเป็นไฟ

โดย THE STANDARD TEAM
02.07.2021
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

วานนี้ (1 กรกฎาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาและผลกระทบของโรคติดเชื้อโควิด และเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 ยุบ ศบค. เพื่อมีมติส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินต่อไปจากนั้นจึงได้อภิปรายว่า 90 นาทีต่อหนึ่งคน คือ สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยใน 1 ปีที่ผ่านมา มากที่สุดในรอบ 24 ปี ยังไม่นับ 1,800 ชีวิตที่ต้องสูญเสียในช่วงที่ผ่านมา ต้องใช้น้ำตาอีกกี่หยด ใช้ชีวิตคนไทยอีกกี่ชีวิตกว่ารัฐบาลและนายกฯ จะตื่นและได้ยินเสียงร้องไห้ของพี่น้องประชาชนคนไทยเสียที และยังไม่นับว่าโควิดระลอก 3 มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วอีก 6,500 คน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท คนว่างงานและคนถูกลดชั่วโมงทำงานอีก 5,000,000 คน ร้ฐบาลมักอ้างว่าทุกประเทศก็เหมือนกัน ทุกประเทศก็ลำบาก ควรต้องเลิกอ้างได้แล้ว เพราะเวลานี้ไทยแย่กว่าสหรัฐอเมริกา แย่กว่าอินเดีย และแย่กว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียถึง 2 เท่า

 

พิธากล่าวต่อไปว่า ในช่วงเช้ามีความตั้งใจตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกฯ เป็นคำถามพื้นๆ ว่า ในปัญหาที่ตนกล่าวถึงข้างต้น รัฐบาลจะตั้งรับปัญหาอย่างไร ข้อสอง จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุก และข้อสามคือคำถามค้างคาใจของทุกคนเกี่ยวกับวัคซีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อวานนี้ ส.ส. รัฐบาลก็ไม่มาประชุม วันนี้พอสภาตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีก็ไม่มีใครมาตอบ ดังนั้น วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ตนจะอดทนแบบนี้ เพราะอดทนมามากพอแล้ว นายกฯ มีทั้งอำนาจ มีทั้งงบประมาณ แต่ปล่อยให้คนไทยตายเป็นใบไม้ร่วงกันแบบนี้รับไม่ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนเสนอให้ยุบ ศบค. ไปเสีย

 

“หลักการบริหารในภาวะวิกฤต ถูกต้องที่ต้องมีการรวมศูนย์เพื่อลดคนตัดสินใจ จะได้มีความไว มีเอกภาพ และมีทั้งคนรับผิดและคนรับชอบ ไม่ใช่มีอำนาจแล้วไม่รับผิดชอบ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือตัวเลขต่างๆ ที่พูดไป สะท้อนว่าทุกอย่างกลับตาลปัตรหมด กลายเป็นว่า ศบค. มีไว้ทำไม กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ งบซ้อนงบ ที่ต้องไปตามตรวจสอบกันต่อ นอกจากไม่ทำตามหลักบริหารในภาวะวิกฤตที่ผู้นำควรทำแล้ว การสื่อสารยังสับสน ไม่รู้ใครตัดสินใจ ช้าเกินไป สายเกินไป น้อยเกินไป ทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น ดังนั้นจึงต้องยุบ ศบค. เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติที่ตรวจสอบได้ เป็นทิศทางเดียวกัน และแก้ปัญหาได้”

 

อย่างไรก็ตาม พิธาอธิบายต่อว่า ถึงแม้จะมีการยุบ ศบค. วงจรอุบาทว์ก็จะยังไม่หายไป จะต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยการหารัฐมนตรีเก่งๆ มาดูแล ต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่สามารถติดต่อหาวัคซีนได้ ต้องหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ไม่ใช่ใช้วิธีกระจายความเสี่ยงช่วงที่มีโรคระบาดด้วยการผลักคนกลับบ้าน สถานการณ์แบบนี้ต้องตรึงให้คนอยู่ในพื้นที่ แต่ต้องแยกน้ำออกจากปลาให้ได้ ต้องหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่รู้เรื่องสาธารณสุขจริง ต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่รู้เรื่องแรงงานจริงๆ ต้องรู้ว่าเงินจากกองทุนประกันสังคมไม่ใช่เงินที่จะเอาไปใช้เพื่อเยียวยา เพราะท่านมีเงินกู้อยู่แล้ว และต้องรู้ว่าจะดูแลแรงงานให้ครอบคลุมอย่างไรทั้งในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ต้องเข้าใจสิทธิแรงงาน ต้องมองเห็นว่าต่อไปการบริหารด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก จากนี้ไป ถ้าทำกับเขาเหมือนแบ่งแยก ต่อไปพอถึงเวลาที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะกลายเป็นไม่มีแรงงาน ต้องคิดร่วมกัน ต้องเอาคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ มีความจริงจัง เข้าใจ อยู่กับประชาชน เข้ามาทำงานให้สำเร็จ

 

“ประชาชนบอกว่าเธอไม่ทำตามสัญญาให้เวลาไปตั้งนาน วันนี้ถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหา ปรับ ครม. ได้แล้ว เราอยู่กับ ครม. ที่ไม่มีประสิทธิภาพมา 2 ปีแล้ว และถ้าได้ ครม. ชุดใหม่ คอขวดแรกที่ต้องทลายคือ คอขวดระบบสาธารณสุข ตอนนี้ต่อให้มี Pfizer มากองตรงหน้าก็ไม่ทัน ไม่ทันขนาดไหน ก็ขนาดที่รองปลัด สธ. ร้องไห้ จากเตียงที่เต็มตอนนี้ถึงได้ฉีดจะทำอะไรได้ ตอนเหตุทองหล่อแล้วไปฉีดลัดคิวผู้สูงอายุ ถามว่าได้อะไรขึ้นมา คอขวดนี้ต้องทลายให้ได้ คิดว่าพอผมพูด นายกฯ คงหูดับทันที ไม่ฟัง ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้ฟังแค่คำเดียวคือคำว่า Antigen”

 

พิธากล่าวว่า ลำดับแรกที่ต้องทำให้ได้คือการคัดกรองเพื่อแยกปลาจากน้ำ หรือก็คือการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนให้ได้ ซึ่งจะต้องใช้การตรวจ Antigen จากนั้นจะตรวจด้วย PCR ซ้ำก็ได้ จากตัวอย่างกรณีพื้นที่ของ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ซึ่งเป็น ส.ส. เขตบางแค ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาด เขาได้นำเอาการตรวจ Antigen ไปตรวจในพื้นที่ได้มากกว่าพันกรณี ทำให้ตรวจพบการติดเชื้อทันที 60 คน แล้วจึงนำไปตรวจแบบ PCR  ต่อจนได้ผลยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อร้อยละร้อย การพบเร็วสามารถทำให้แยกคนออกจากชุมชนได้

 

“เพราะในชุมชนแออัด ถ้ารอตรวจแบบ PCR จะมีช่วงเวลาที่ต้องรอนานมาก คือจากที่รู้ว่ามีความเสี่ยง อย่างตอนผมเองต้องหาโรงพยาบาลที่รับตรวจใช้เวลา 4 วัน รอที่สองคือรอผลตรวจอีก 2-3 วัน รวมเป็น 6 วัน รอหาเตียงอีก 6 วัน เป็น 12 วัน พอผู้ป่วยมาถึงกลายเป็นต้องเข้าห้องแดง ICU แทนที่จะแยกได้เร็ว ได้พบหมอ หากประเมินว่าต้องให้ยาเพื่อกันเชื้อลงปอดก็ให้ได้เลย ถ้าหายก็กลับบ้าน โรงพยาบาลก็ไม่กดดัน การตรวจทั้งสองแบบแน่นอนว่าต่างกัน การตรวจ PCR  เพื่อให้ชัวร์ แต่การตรวจ Antigen ก็เพื่อทำให้แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุด ความสำคัญของเรื่องนี้ อย่างเกาหลีใต้ ขณะนี้มีการจ้างสถาบัน MIT เพื่อหาวิธีวินิจฉัยการติดเชื้อจากลมหายใจผ่านโทรศัพท์ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่จะพยายามคิดเครื่องตรวจจากลมหายใจให้ได้ นั่นก็เพื่อลดความทวีคูณการติดเชื้อ คือ จาก 1 ติดต่อไป 4 จาก 4 ต่อไป 16 จาก 16  ต่อไปอีกทวีคูณ แต่ไทยยังติดที่การตรวจแบบ PCR ถ้าเราใช้การตรวจ Antigen เพื่อเจอผู้ติดเชื้อและแยกให้ได้ใน 10 นาที และมีการตั้งโรงพยาบาลแรกรับเพื่อรองรับก็จะลดผู้ป่วยหนัก เขาจะได้เข้าไปที่ห้องเขียวไม่ใช่ห้องแดง หรือคนที่เขากักตัวเองไม่ได้ เช่น ชุมชนแออัดหรือแคมป์คนงานก็จะถูกแยกออกมา ตอนนี้คลัสเตอร์เสี่ยงทั้งหมดจำเป็นต้องตรวจแบบ Antigen ให้หมด เพื่อแยกผู้ป่วยให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อหมอวินิจฉัยว่าต้องจ่ายยาก็สามารถจ่ายได้เลย ส่วนจะรอผลการ PCR เพื่อความชัดเจนอีกครั้งก็ค่อยว่ากันไป นอกจากนี้ในเรื่องการทำ Home Isolation ที่มี Telemedicine ควรต้องทำให้ได้ ไม่ต้องรอคนไข้ไปหา แต่ต้องทำให้ยาไปหาคนไข้ได้”

 

พิธายังกล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่รู้สึกหงุดหงิดและสะเทือนใจมากคือการอัปเกรดห้องพยาบาล ไม่ว่าห้องเขียว เหลือง หรือแดง เพราะสภาได้ผ่านงบประมาณไปให้แล้ว 1 ล้านล้านบาท โดยประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อนำไปอัปเกรดสิ่งที่สำคัญในการบริหารสถานการณ์สาธารณสุขในโรงพยาบาล แต่ผ่านมา 14 เดือน เบิกจ่ายได้แค่ 3% หรือราว 380 ล้านบาท ตอนแรกเห็นซื้อเครื่องช่วยหายใจแค่ 450 เครื่อง ก็โมโหแล้ว แต่พอซื้อมาจริงได้แค่ 37 เครื่อง สำหรับคน 60 ล้านคน ในสถานการณ์ที่คนตายเป็นใบไม้ร่วงแบบนี้

 

“รัฐบาลมีทั้งงบประมาณ มีทั้งเวลา มีทั้งอำนาจ ล่าสุดเงินกู้อีก 500,000 ล้านบาท ก็ให้อีก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็มี ทำไมทีเรื่องแบบนี้ต้องรอระบบราชการ ประชาชนที่ไหนจะด่าหรือถ้าท่านเอาเงินไปอัปเกรดโรงพยาบาลให้พร้อมกว่านี้ กลุ่มคนที่ต้องไปห้องแดงจะได้น้อยกว่านี้ ห้องเขียวอาจได้ใช้หรืออาจไม่แทบไม่ต้องใช้เลยถ้าสามารถทำ Home Isolation ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในอังกกฤษ จึงเป็นอะไรที่หงุดหงิดและรับไม่ได้ เพราะงบมีแต่ซื้อมาได้แค่นี้ รัฐบาลที่คิดได้แค่นี้ก็หมดคำพูด ท่านเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถคิดอะไรทั้งระบบได้เลย”

 

พิธาย้ำว่า เราจะชนะได้ก็ด้วยการบริหารจัดการ ด้วยวิทยาศาตร์ ด้วยข้อมูล แต่เราไม่สามารถชนะด้วยการทำมือชูสองนิ้ว หรือไม่สามารถชนะได้ด้วยการทำให้เรื่องวัคซีนหรือเรื่องเตียงผู้ป่วยเป็นเรื่องการเมือง เพราะนี่คือชีวิตของคน ของพ่อแม่ ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนฝูง จะต้องเอาการเมืองไปให้ห่าง เรื่องเตียงว่างหรือไม่ ความจริงยังมีปัญหาจากเพราะโรงพยาบาลอยู่คนละสังกัด ซึ่งภาวะปกติไม่เคยส่งข้ามหน่วยงานกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์วิกฤต ท่านมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และมีอำนาจตาม พ.ร.บ. อีก 31 ฉบับ ที่แก้ปัญหาให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่กลับมีคนต้องเสียชีวิตเพราะต้องรอเตียง มันทารุณเกินไปสำหรับประเทศที่ทรัพยากรพร้อมทุกอย่างแต่ไม่สามารถรักษาชีวิตพลเมืองของตัวเองไว้ได้ ถ้ามีคอขวดแบบนี้ในระบบสาธารณสุขที่แก้ไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดคอขวดของการเยียวยาและชดเชยมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องพูดทั้งสองระดับ คือการเยียวยาไปที่บุคคลในฐานะพลเมือง และการเยียวยาในภาคธุรกิจที่ต้องแยกให้ชัด

 

พิธายังชี้ว่า ถ้าบริหารแบบนี้ไม่แปลกใจหากจะมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น คงต้องเตรียมเยียวยาแบบถ้วนหน้าสำหรับทุกคนไว้ การเยียวยาแบบเสี่ยงโชคได้บ้างไม่ได้บ้างเหมือนที่ผ่านมาต้องเลิกให้หมด ในภาคส่วนธุรกิจต้องบริหารกระแสเงินสดให้เขามีสายป่าน ต้องคิดเหมือนเป็นผู้ประกอบจริงที่มีค่าเช่า ค่าแรง หนี้สิน ต้องช่วยลดต้นทุน ลดค่าเช่า และชะลอหนี้แบบที่ไม่ใช่พักเงินต้นแต่ดอกยังวิ่ง

 

“ผมหวังว่าจะไม่ซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา ต้องมีนักดนตรีเสียงไพเราะ คนที่เคยสร้างความสุขที่ต้องปรับตัวแล้วปรับตัวอีก จนไม่ไหวและตัดสินใจกระโดดลงมาเสียชีวิต ผมได้รับอนุญาตจากครอบครัวเพื่อขอนำมาเล่าต่อสภาว่าพูดจะเรื่องของเขา เพื่อหวังว่ากรณีนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการสูญเสียเกิดขึ้น” พิธากล่าว

 

ในประเด็นวัคซีน พิธากล่าวว่าล้มเหลวในทุกมิติ ขณะที่ประเทศอื่นคิดเรื่องวัคซีนเข็มที่สาม หรือมีทางเลือกหลายชนิดเพราะแต่ละชนิดมีข้อดีต่างกันไปเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือบางประเทศอาจคิดไปถึงเรื่องอำนาจอ่อนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปรมาณู เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่มองว่าจะบริจาคให้ใคร อย่างไร เป็นอำนาจใหม่อันทรงพลังที่รัฐบาลยังคิดไม่ถึง เพราะถ้าคิดถึงป่านนี้จะต้องมีวัคซีนแล้ว 200-300 ล้านโดส แต่ในเมื่อย้อนเวลาไปไม่ได้ ขั้นต่ำที่สุดที่จะต้องหาวัคซีนชนิด mRNA มาให้ได้คือ 200,000- 300,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ เพราะพวกเขาคือปราการด่านสุดท้าย ถ้าเขาติดเชื้อเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในเชียงราย นี่คือชีวิตของทุกคนที่เราต้องเดิมพันอยู่

 

“ตอนนี้ผมกำลังค้นหาที่อยู่ Founder ของ Pfizer และ Moderna พบว่าเป็นรุ่นพี่ที่ MIT ทั้งสองคน เราเป็นฝ่ายค้านก็จริง แต่ต้องหาทุกวิธีที่ทำให้ได้ 200,000-300,000 โดส ควรเป็นขั้นต่ำที่นายกฯ ไทยควรทำได้ เพื่อให้ด่านหน้าที่ต่อสู้กันจนเหนื่อยล้ามีขวัญกำลังใจ ทุกวันเขาต้องออกไปเสี่ยงและเขามีลูกรอที่บ้านเหมือนกับเรา วัคซีนจำนวนเท่านี้ถึงทลายคอขวดไม่ได้ก็นำพาไปสู่อนาคตได้ อยากจะฝาก ถ้าไม่ยุบ ศบค. ไม่ปรับ ครม. ก็ถึงเวลาที่ท่านต้องถอยให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและทำงานเป็นเข้ามาแทน ถ้าท่านรักครอบครัวของท่าน จงกลับไปดูแลครอบครัว กลับไปดแลลูกหลาน แล้วให้คนที่มีความพร้อมได้ทำงาน เพราะน้ำตาของคนเวลามันไหลออกมามันเป็นน้ำ แต่ถ้ามันหยดลงพื้นเมื่อไร มันก็กลายเป็นไฟได้เช่นกัน” พิธากล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising