วันนี้ (9 เมษายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อกรณีที่ทางการเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด โดยระบุว่า อย่างที่ได้สื่อสารไปหลายทิศทางว่าอยากเห็นความโปร่งใสและรายงานสถานการณ์ให้กับคนในพื้นที่ เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ก็ได้รายงานมาที่ สส. พรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อรัฐบาลไม่ได้มีการชี้แจง ตนเองและพรรคก้าวไกลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแถลง โดยรัฐบาลได้ตอบสนองมาทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ X ของ จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ, คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และโฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน
พิธากล่าวต่อไปว่า อยากย้ำสิ่งที่พูดกับ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าอยากให้เข้าสู่ปัญหาอย่างรอบด้านมากขึ้น เพราะกลุ่มในประเทศเมียนมามีหลายกลุ่ม และแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป ถ้าเข้าสู่ปัญหาไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็จะดูว่าเราทิ้งน้ำหนักไปให้ฝั่งนั้น และจะไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ รวมถึงเรื่อง Inter Agency Myanmar Task Force ในประเทศไทย หรือกองกำลังเฉพาะกิจที่จัดการเรื่องนี้โดยตรง เพื่อจะทำงานในเชิงรุกมากขึ้น
ส่วนที่ปานปรีย์ได้ชี้แจงแล้วว่า ในเที่ยวบินนั้นไม่มีคนหรืออาวุธ แต่ก็ยังไม่ตรงกับการให้สัมภาษณ์และแถลงของส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวาน พิธากล่าวว่า จะยิ่งไม่มีความชัดเจน บางทีจุดประสงค์ของการแถลงที่กระทรวงฯ ก็เพื่อจะลดข่าวลือ เพื่อจะให้ความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่และคนไทยว่าประเทศไทยจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ปานปรีย์ก็เป็นคนที่ 5 ที่ออกมาพูดแล้วไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีสิ่งที่ร่ำลือกันในพื้นที่ว่ามีคนในจังหวัดเมียวดีไปด้วยหรือไม่ มีผู้จัดการธนาคารไปหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้เชื่อ แต่ถ้าจะจบทุกเรื่อง รัฐบาลจะต้องแถลงเป็นเรื่องเป็นราว
พิธาเชื่อว่าปานปรีย์น่าจะเข้าใจ ถ้าไม่แถลงให้ชัดเจนก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากกว่านี้ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลควรต้องต่อสายไปที่คนในพื้นที่ ชนกลุ่มน้อย และกลุ่ม NUG อย่างน้อยต้องพูดคุยทั้ง 3 ฝ่าย คือ กลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่ม NUG และรัฐบาลทหารในปัจจุบัน
“การที่เราเข้าถึงทุกฝ่ายได้อย่างเท่าเทียมและไม่เลือกข้างคือโอกาสที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาในเมียนมามากขึ้น และทุเลาปัญหาที่มีอยู่ในบ้านเรา มันคือ Win-Win Situation การต่างประเทศเรียกว่า Front-Line State Diplomacy แต่ถ้าเราไม่พูดคุยกับเขาเลยก็อย่าหวังว่าปัญหาฝุ่น PM2.5, ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์, ปัญหายาเสพติด จะดีขึ้นได้” พิธากล่าว
สื่อมวลชนถามถึงกรณีนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเข้าไปพูดคุยเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะอาจจะเป็นจุดที่เขาอ่อนกำลัง พิธากล่าวว่า เห็นด้วย แต่ไม่น่าพูดออกสื่อ เรื่องพวกนี้เป็นยุทธศาสตร์การทูต ไม่ควรจะพูดว่าเขากำลังอ่อนแอ แล้วเราจะขอไปคุยกับเขา ถ้าท่านพูดจริงก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า การจะแก้ไขปัญหาของเมียนมา เราต้องรับฟังความเห็นที่รอบด้าน ถ้าคุยเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ไม่สามารถช่วยเขาแก้ปัญหาได้
“แต่ถ้าเป็นผมคงไม่สามารถไปพูดกับเขาได้ว่า ตอนนี้รัฐบาลอ่อนแอที่สุด ขอใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยด้วย แต่ให้เชิงอรรถไว้เป็นพยานด้วยกันว่าตามที่ผู้สื่อข่าวถามมา ผมยังไม่ได้อ่าน ท่านนายกฯ อาจจะไม่ได้พูดก็ได้” พิธาระบุ
พิธากล่าวด้วยว่า ต่างชาติทั้งในอาเซียนเอง และประเทศมหาอำนาจ ก็รอท่าทีที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น ไม่เช่นนั้นยุทธศาสตร์ 5 ข้อของอาเซียนจะไปไม่ได้ ตอนนี้ก็รอบทบาทไทยร่วมกับอาเซียนอยู่