วันนี้ (2 กันยายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วว่า คงตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งคงจะเป็นหลัก ตนคงไม่ได้ดูเป็นบุคคลสักเท่าไร แต่ดูวิธีในการเข้าสู่อำนาจ ดูเรื่องปัญหาเกี่ยวกับศรัทธาของพี่น้องประชาชนในการเตรียมมาเป็น ครม. ในการแก้ปัญหา
“สิ่งที่อยากฝากไว้ก็อยากจะให้รักษาสัจจะตามที่หาเสียงกับพี่น้องประชาชนไว้ เพราะหลายนโยบายเขาตั้งใจที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าการแถลงนโยบายประมาณวันที่ 8-9 กันยายนนี้ ก็คงจะเห็นว่าหลายเรื่องที่เคยหาเสียงไว้ และที่มีดิจิทัลฟุตพรินต์ เสนอนโยบายอย่างไรบ้างก็ต้องทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพราะไม่อย่างนั้นวิกฤตศรัทธาจะเกิดขึ้น ศรัทธาเกี่ยวกับการเมือง ศรัทธาเกี่ยวกับรัฐสภา ศรัทธาเกี่ยวกับการทำงานการเมืองของพี่น้องประชาชน ที่คิดว่าจะไปเลือกทำไม จะมีดีเบตกันไปทำไม เพราะไม่รู้ว่าที่พูดไปไม่เกิดขึ้นจริง ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ ความรับผิดชอบในคำพูด” พิธากล่าว
พิธากล่าวต่อว่า ส่วนฝ่ายค้านก็จะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกที่มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เข้มข้น ในขณะเดียวกันก็จะยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแน่นอน
เมื่อถามว่าในฐานะฝ่ายค้านจะให้ฝ่ายรัฐบาลทำงานกี่เดือนถึงจะรุกแบบเข้มข้น พิธากล่าวว่า ขณะนี้ช้ามาตั้ง 3 เดือน ตั้งแต่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม อย่างที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยพูดไว้ว่าไม่มีเวลาฮันนีมูนกัน ต้องรีบทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้สัญญาประชาคมที่แต่ละพรรคการเมืองทำร่วมกันไว้แล้วไม่น่าจะเป็นข้ออ้างได้ว่าเป็นพรรคร่วมแล้วทำไม่ได้
เมื่อถามว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะมีการวางเป้าหมายไว้อย่างไร พิธากล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ระบุว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรคที่มีเสียงมากที่สุดของฝ่ายค้าน แต่ปัญหาคือตนถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ ส่วนตัวก็ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นมติพรรคหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญบังคับให้จะต้องรับ ก็อาจจะต้องรออีกทีหนึ่ง ดังนั้นจึงยังไม่รีบตัดสินใจ เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือนกว่าที่ตนจะได้กลับไป ส่วนพรรคอื่นก็ขอไม่พาดพิง แต่เท่าที่ติดตามก็น่าจะติดเงื่อนไขว่าหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคเป็น สส. ในสภาหรือไม่ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องของพรรคอื่น
“ถ้าอ่านตามรัฐธรรมนูญผมก็ชัดเจนว่าต้องเป็นพรรคที่มี สส. อันดับหนึ่ง และหัวหน้าพรรคต้องเป็น สส. ซึ่งถ้าผมไม่ได้เป็นอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไหลไปที่พรรคอื่น เท่าที่อ่าน และหากอ่านวรรคสุดท้ายก็จะเห็นว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะสิ้นสุดลงเมื่อเงื่อนไขในย่อหน้าแรกเปลี่ยนไป หมายความว่าหากผมกลับไป มันก็ต้องไหลมาที่ผมที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ” พิธากล่าว
ดังนั้นส่วนตัวก็คิดว่ายังตั้งใจทำงานเป็น สส. คนหนึ่ง ก็ยังทำงานได้ ไม่ได้ยึดติดกับส่วนตัว แต่ถ้าเป็นเรื่องของกฎหมาย หรือเป็นมติของเพื่อน สส. และของพรรคมา ตนก็ต้องเคารพ และตอนนี้ก็ยังมีเวลาตัดสินใจอีกนาน
ทั้งนี้ ก็อยากให้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ตั้งใจทำงานในตำแหน่งรองประธานสภา ในช่วงเวลาที่ตนยังไม่ได้กลับเข้าไป อาจจะ 4-6 เดือน ซึ่งตนคิดว่ายังมีเวลาพอที่จะให้ปดิพัทธ์ได้ทำหน้าที่รองประธานสภาอย่างที่เขาหวังไว้ พร้อมย้ำว่ายังมีเวลาอยู่และยังรอได้