×

ชีวประวัติฉบับย่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ : ตอน 2 ประเทศไทยสีส้ม

โดย THE STANDARD TEAM
06.09.2023
  • LOADING...

คลิกอ่านบทความตอนที่1 ได้ที่นี่: ชีวประวัติฉบับย่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’: ตอน 1 สร้างสังคมใหม่ให้ลูก

 


 

ย่อโลกทั้งใบในห้องเรียนเดียว 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง สาขาภาวะผู้นำ ที่ John F. Kennedy School of Government, มหาวิทยาลัย Harvard และด้านบริหารธุรกิจที่ MIT Sloan School of Management

 

ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่ในการหล่อหลอมความเป็นผู้นำให้กับพิธา ที่นั่นเขาได้เรียนรู้จากผู้นำระดับโลก อาจารย์ และเพื่อนร่วมคลาส เขาได้เรียนรู้ถึงประเด็นการพัฒนาใหม่ๆ ของโลก ลงลึกถึงสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ได้เข้าใจบริบท ได้ศึกษาเปรียบเทียบ และเก็บรับเพื่อเป็นชุดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศไทย

 

พิธาเล่าว่าที่ Kennedy School มีนักศึกษาจาก 90 ชาติทั่วโลก ‘เสมือนย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในห้องเรียนเดียว’ และ “ความหลากหลายนี้เองที่ส่งผลให้การเรียนสนุก โดยเฉพาะเวลาถกเถียง จะทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เมื่อพูดถึง Gender Gap หรือความไม่เท่าเทียมทางเพศ นักเรียนจากสวีเดนกับอิหร่านจะเห็นต่างกันแบบสุดๆ แต่ถ้าพูดถึงความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษา นักลงทุนจาก Wall Street และ NGO จากไนจีเรีย จะพูดกันราวกับว่าพวกเขามาจากคนละโลก

 

คลาสเรียนของที่นี่ไม่ได้มีเพียงอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเชิญผู้นำจากทั่วโลก ตั้งแต่ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี, ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล, ดาราฮอลลีวูด ไปจนถึงนักกีฬาที่มีชื่อเสียง มาบรรยายในคลาสเรียนอีกด้วย

 

“วิธีนี้ทำให้การเรียนสนุกและไม่น่าเบื่อ เพราะไม่ต้องท่องจำ มหาวิทยาลัยสอนว่า เอาเวลาท่องจำไปเรียนนอกห้องดีกว่า ไม่ต้องเรียนทฤษฎีมากมาย สำหรับโลกในบริบทใหม่ ทฤษฎีมีไว้ทำลาย”

 

 

ภาครัฐต้องเป็นโค้ชกับกรรมการ

 

ในหนังสือ ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน (2555) ที่เขียนโดยพิธา ทยอยตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ ‘จดหมายจากฮาร์วาร์ด’ ในนิตยสารสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 – สิงหาคม 2554 ถือเป็นบันทึกที่เขาได้จากห้องเรียน และการใช้ชีวิตที่อเมริกามีหลายตอนที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของพิธาต่อการพัฒนาประเทศไทย

 

ในคลาสเรียนกับ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ จาก Harvard Business School ซึ่งศึกษาเรื่องคลัสเตอร์ ทำให้พิธาเห็นความแตกต่างในหัวข้อนี้ระหว่างอเมริกากับไทย 

 

พิธาเสนอว่า อเมริกามีคลัสเตอร์หรือการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการที่หลากหลายและกระจัดกระจายทางภูมิศาสตร์มากกว่าไทย เช่น การเงินที่นิวยอร์ก, เทคโนโลยีที่แคลิฟอร์เนีย หรือพลังงานที่เท็กซัส แต่ที่ประเทศไทย การค้าส่วนมากจะอยู่ที่กรุงเทพฯ

 

เขาแนะว่า ภาครัฐต้องทำหน้าที่ผลักดันและป้องกัน นั่นคือผลักดันให้เอกชนเกิดการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ และป้องกันคอยตีระบบผูกขาดที่ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน

 

“ภาครัฐเป็นโค้ชกับกรรมการ ไม่ต้องเล่นเอง ไม่แทรกแซง ไม่ประกันราคา สมัยที่ผมยังทำงานเป็นข้าราชการ ก็เห็นว่ารัฐบาลและเอกชนเข้าใจว่าสิ่งที่ประเทศต้องทำคืออะไร แต่ทำไม่ได้ ก็เพราะการเมืองมันกินหัวเอา ผู้คนส่วนน้อยที่มีอันจะกินเขาเล่นกันมานานจนฝังรากลึก แต่กลับปิดกั้นไม่มีพื้นที่ให้คนส่วนมาก”

 

 

อย่าเพิ่งหมดหวังกับประเทศไทย

 

พิธาเล่าว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ สถานการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไม่มั่งคั่งและมีภาครัฐที่อ่อนแอ ต้องพึ่งพาประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง มีคำถามที่ถกกันมากที่ฮาร์วาร์ดคือ “ความช่วยเหลือในระยะฉุกเฉิน (Emergency Response) จะมีต่อเนื่องไปจนเป็นความช่วยเหลือในระยะยาว (Nation Building) ได้อย่างไร?”

 

พิธาเสนอว่า มีบทเรียนจากเฮติถึงไทยที่น่าสนใจนั่นคือ การเปลี่ยน The Worst Functions Country ให้เป็นประเทศที่ให้ร่มเงาแก่ชาวเฮติได้ด้วย 

 

  1. การสร้างสถาบันตำรวจ เพื่อควบคุมความเรียบร้อยและความรุนแรงของประเทศ
  2. สร้างสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคม
  3. สร้างฐานเศรษฐกิจและตลาดเสรี เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเสริมความมั่งคั่งให้ชาวเฮติ 

 

พิธาย้ำว่า “แม้ประเทศเราจะมีปัญหา แต่ก็นั่นแหละ ประเทศไหนบ้างไม่มีปัญหา อย่าเพิ่งหมดความหวังกับประเทศไทย ขอให้มองไปข้างหน้า”

 

 

ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด

 

ในการปาฐกถาของ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 42 ได้พูดถึงข้อดี-ข้อเสียของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น ความเฉื่อยของสภา ความล่าช้า และความไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า “แต่อย่างน้อยคุณยังมีสิทธิเลือก นี่แหละคือความสวยงามของมัน และยังมีอีกหลายประเทศในโลกที่ไม่ได้รับสิทธินี้”

 

สำหรับตัวพิธาแล้ว เขาชอบนิยามถึงระบอบประชาธิปไตยฉบับของ วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่บอกว่า “ประชาธิปไตยมีข้อเสียเยอะ เป็นระบบที่แย่มาก แต่ก็ดีที่สุดเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ ที่มนุษยชาติมีอยู่ตอนนี้” 

 

พิธาย้ำว่า ทางออกระยะยาวของทุกประเทศที่ใฝ่หาประชาธิปไตย โดยเฉพาะประเทศไทย คือ ‘การศึกษา’ 

 

“สำหรับผม ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด ต่อให้โครงสร้างกับกระบวนการเพียบพร้อมอย่างไร แต่จิตวิญญาณไม่ใช่ก็จบ จะแก้รัฐธรรมนูญ​ไปกี่ครั้งก็เปลี่ยนได้ เทียบกับรัฐธรรมนูญของอเมริกา ซึ่งมีอยู่ไม่ถึงหน้า ประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นว่าเป็นประเทศที่มีจิตวิญญาณ ซึ่งปลูกฝังและตอกเสาเข็มไปที่การศึกษา” เขายกตัวอย่างผ่านการเลือกตั้งประธานนักเรียน ซึ่งต้องทำอย่างจริงจัง “มีการหาเสียง ให้ข้อมูล มีดีเบตถาม-ตอบ จิตวิญญาณสำคัญมากและควรปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก”

 

 

พัฒนาการศึกษา

 

พิธาเล่าว่า ถ้ามองดูระบบการศึกษาของไทยจะพบปัญหามากมาย ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางโอกาสการศึกษา, คุณภาพโรงเรียน, บุคลากร, ครูที่ขาดแคลน, หลักสูตรที่เน้นท่องจำ และความเหลื่อมล้ำของคุณภาพในการจัดการศึกษา เขาสรุปรวบยอดความคิดถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ไว้ว่า 

 

  1. เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่เป็นวิธีการจัดการศึกษา เช่น การลดภาระของครู, การยกระดับคุณภาพครูเพื่อให้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ครูไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ มีหน้าที่สอนอย่างเดียว
  2. ปฏิรูปครู พิธายกตัวอย่างโครงการ ‘Teach for America’ เพื่อเพิ่มจำนวนและความหลากหลายของครู โดยรับเด็กที่จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นครุศาสตร์ มาเข้าในโปรแกรมอบรมพื้นฐาน แล้วส่งไปเป็นครูในพื้นที่กันดาร
  3. ปฏิรูปนักเรียน ด้วยการสร้างอีคิวผ่านอาหารและการใช้ชีวิต ให้เด็กฉลาดจากภายใน 

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องแก้เป็นปัญหาขององค์รวมทั้งระบบ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนรอบข้าง 

 

 

เงินเร็วแต่ยั่งยืน

 

พิธาเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก เช่น อเมริกา, ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, บราซิล, อาร์เจนตินา, เนปาล, คิวบา และเวียดนาม รวมทั้งหลายรัฐในอเมริกา หนึ่งในนั้นคือเซาท์บีช ไมอามี เขาเล่าว่า ไมอามีเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเมืองท่าที่ดูไม่ขัดตา มีตัวตนของเมืองที่ชัดเจน มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีสถานที่ที่เสียงดังและสงบ และมีระบบสาธารณูปโภครองรับ 

 

พิธาหันกลับมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย “จริงๆ เมืองท่องเที่ยวไม่ควรมีการทำอุตสาหกรรม เราควรกำหนดยุทธศาสตร์ของเมืองให้ชัดเจนว่าจะบริหารไปในทิศทางไหน ยกตัวอย่างเช่น พระนครศรีอยุธยา เพื่อนฝรั่งถามผมว่า ทั้งที่เป็นเมืองเก่า เมืองมรดกโลก ทำไมจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งติดกับวัด ซึ่งผมเองก็ตอบเขาไม่ได้ 

 

“การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมแบบเงินเร็ว หลังเช็กอินสามารถชาร์จเงินได้เลย เงินไหลเข้าประเทศเร็ว ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงได้เยอะ เมื่อเทียบกับการทำเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมที่กว่าจะกู้เงิน กว่าจะปลูก โต เก็บเกี่ยวมาขาย” เขาทิ้งคำถามไว้ด้วยว่า เมื่อไรเมืองไทยจะจัดการและบริหารการท่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจเงินเร็วแต่ยั่งยืนเสียที

 

 

พลังของคนรุ่นใหม่

 

พิธายกคำพูดของ บิล เกตส์ ที่ปลุกใจคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยว่า “คนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณเท่านั้นคือทางออก ปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ คนรุ่นผมเป็นคนทำ แต่รุ่นพวกคุณต้องมาเป็นคนแก้ ผมต้องขอโทษแทนคนรุ่นผมด้วย”​

 

ในเวลานั้น บิล เกตส์ อยู่ระหว่างเดินทางไปทั่วสหรัฐฯ เพื่อไปกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้ใช้พลังไปในทางสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาของโลก ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่น ตั้งแต่ปัญหาความยากจน โรคร้าย และภาวะโลกร้อน

 

พิธาเสนอว่า “ปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันภายในประเทศทำให้ประเทศไทยก้าวช้าลงมาก หรือแทบจะเรียกว่าก้าวถอยหลังก็ได้ ผมอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และคนหนุ่มสาวเอาพลังที่มีในตัวมาช่วยแก้ปัญหาที่ประเทศของเรากำลังประสบดีกว่า เพราะฉะนั้นอาศัยพลังคนหนุ่มสาวนี่แหละ ไม่ต้องรอให้ใครมาแก้”

 

 

ประเทศไทยสีส้ม 

 

พิธาตั้งคำถามถึงระบอบประชาธิปไตยไทยที่เปราะบาง มีทั้งการปฏิวัติ รัฐประหาร กบฏ และมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ 

 

พิธาเสนอทางแก้วิกฤตการเมืองไว้หลายประเด็น “ผมว่าถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ประเทศไทยต้องเป็นสีส้ม (แดงบวกเหลือง) ในการเปลี่ยนแปลงต้องมีผู้ได้และผู้เสีย”   

 

พิธาพูดถึงงานของ โรเบิร์ต อลัน ดาห์ล อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Yale ที่ระบุไว้ว่า มีเงื่อนไข 7 ข้อที่จะทำให้ระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ 

 

การเลือกตั้ง: การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม สร้างความชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย ไม่ควรมีบุคคลใดหรือคนกลุ่มใดมีสิทธิผูกขาดอำนาจเหนือกระบวนการเลือกตั้ง 

 

ขันติธรรมทางการเมือง: ขันติธรรมจะช่วยส่งเสริมฉันทมติที่สมดุลในสังคม ให้กลุ่มเสียงข้างน้อยได้รับผลประโยชน์ที่เที่ยงธรรมจากกระบวนการเลือกตั้ง 

 

หลักนิติธรรม: งดใช้ระบบ แนวทาง หรือมาตรฐานที่ต่างกัน หรือที่เรียกว่าสองมาตรฐาน ลงโทษคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เว้นโทษอีกคน

 

เสรีภาพในการแสดงออก: บุคคลสามารถกล่าว ตีพิมพ์ แจกจ่าย และนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดได้ 

 

ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส: สถาบันของรัฐและบุคคลในสถาบันเหล่านั้นต้องรับผิดชอบการกระทำของตน รัฐบาลต้องรับผิดชอบประชาชนที่เลือกรัฐบาลเข้ามา 

 

การกระจายอำนาจ: ลดการรวมศูนย์อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง ทำให้พลเมืองมีความตื่นตัวและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย

 

ประชาสังคม: การมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับรากหญ้า เวทีชุมชน กลุ่มนักรณรงค์เรื่องต่างๆ องค์กรการกุศล สหภาพ และสมาคม ซึ่งจะนำไปสู่การมีประชาธิปไตยในระดับรากหญ้าอย่างยั่งยืน

 

พิธาทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่เขียนมาไม่ใช่การฝันเฟื่อง โลกนี้ไม่มีอะไรที่จีรัง ความขัดแย้งก็เช่นกัน หวังว่าผู้อ่านจะมีโอกาสใช้เงื่อนไขประชาธิปไตยของดาห์ลวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเรา ใช้สติในการตัดสินใจแสดงบทบาทของพลเมืองที่ดี และเก็บพลังไปโชว์ในคูหาเลือกตั้ง

 

“ผมหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหมือนตะวันที่สุดขอบฟ้า ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของโลก ก็จะเห็นประเทศของเรายิ่งใหญ่เหนือใคร”

FYI
  • ข้อเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงจากหนังสือ ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน (2555) โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งทยอยตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ ‘จดหมายจากฮาร์วาร์ด’ ในนิตยสารสุดสัปดาห์ ทุกๆ สองอาทิตย์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 – สิงหาคม 2554 ถือเป็นบันทึกที่เขาได้จากห้องเรียนทั้งที่ Harvard และ MIT มีหลายตอนที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของพิธาต่อการพัฒนาประเทศไทย 
  • พิธาเล่าว่า “การเขียนหนังสือก็เหมือนปริญญาใบที่ 3 ผมเพิ่งรู้ว่าการเขียนหนังสือนั้นสนุก ช่วยเรียบเรียง ไตร่ตรอง และจัดแฟ้มในหัวสมอง”
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X