วันนี้ (1 พฤศจิกายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการผลิตสุรา ว่า มติดังกล่าวไม่เข้าใจจุดประสงค์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุราก้าวหน้า การที่มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. … ปลดล็อกการผลิตเพี่อการค้าและการผลิตเพื่อบริโภค ควบคู่กับการคุ้มครองสินค้าสุราให้ได้คุณภาพ มีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
“แม้ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะบอกว่าไม่ได้ปาดหน้า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล และอ้างว่าทำมานาน 6 เดือนก่อนสุราก้าวหน้าก็ตาม” พิธากล่าว
พิธากล่าวต่อไปว่า ตนต้องขอยืนยันว่าหากจะอ้างเหตุผลเช่นนี้ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว และทางพรรคได้ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ถูกยุบ และก่อนหน้าที่จะยื่นก็มีการเรียกกรมสรรพสามิตในกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเท่าพิภพเป็น กมธ. อยู่หลายครั้ง แต่ก็มีแต่คำสัญญาว่าจะแก้ไข แล้วเงียบหายไป จึงต้องใช้ช่องทางในเชิงนิติบัญญัติเพื่อแก้ปัญหา
“ชัดเจนว่าการมีมติ ครม. ก่อนการลงมติ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ออกมาเพียง 1 วัน เป็นการจงใจเพื่อให้ ส.ส.รัฐบาล อภิปรายเป็นเหตุผลกับสภาว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะกฎกระทรวงออกมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ยังคงจำเป็นในการประกันหลักเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจของประชาชน เนื่องจากเป็นกฎหมายลำดับชั้นสูงกว่าที่แก้ยากกว่ากฎกระทรวง ซึ่งผมเองก็ได้เตรียมตอบทุกข้อสงสัยในสภาอยู่แล้ว” พิธากล่าว
นอกจากนี้พิธาระบุว่า ตนได้ดูรายละเอียดกฎกระทรวงดังกล่าวตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อสัปดาห์ก่อนบนเว็บไซต์กรมสรรพสามิต และคิดว่าน่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง
แต่ก็ไม่คิดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วขนาดนี้ รู้สึกว่าพี่น้องประชาชนและพรรคก้าวไกลโดนหลอกมาตั้งนาน ที่แท้กฎกระทรวงก็แก้ไม่ยากอย่างที่อ้าง และเมื่อดูรายละเอียด มีการปลดล็อกกำลังการผลิตก็จริง แต่ก็มีการใส่ข้อจำกัดอื่น ทำให้ไม่ใช่การปลดล็อกการผลิตสุราให้รายย่อยจริง
แม้จะยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำออกทั้งหมด แต่ก็มีการมาตรการเรื่องระเบียบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมโรงงาน เช่น กรณีโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต หรือที่เราเรียกกันว่าบริวผับ (Brewpub) กฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนดให้ต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งก็คือจะต้องมีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานมากกว่า 50 คน ทั้งที่แต่เดิมบริวผับขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรน้อยกว่า 50 แรงม้า และจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน ก็จะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.๔)
“แต่กฎหมายใหม่เข้าใจว่าเร่งรีบ ก็เลยเขียนสั้นๆ ไปเลยว่าต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นได้ว่าบริวผับขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรจำนวนไม่มากจะขอใบโรงงานได้อย่างไร เพราะไม่เข้าเกณฑ์เป็นโรงงานอยู่แล้ว อาจทำให้รายย่อยหลุดออกจากตลาดไปอีก” พิธากล่าว
พิธาย้ำว่า การออกกฎกระทรวงนี้ไม่ได้ตอบโจทย์การปลดปล่อยอุตสาหกรรมสุราจากทุนผูกขาดที่แท้จริง และยังเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สนใจประชาชน แค่กลัวเสียหน้า กลัวขัดผลประโยชน์นายทุนที่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะผ่านในวันพรุ่งนี้เท่านั้น