×

ทุกเรื่องก้าวไกล กับ ทิม พิธา: ม.112 ถึงผู้ว่าฯ กทม. ศึกใหญ่ ใจบางไม่ได้

26.01.2021
  • LOADING...
ทุกเรื่องก้าวไกล กับ ทิม พิธา: ม.112 ถึงผู้ว่าฯ กทม. ศึกใหญ่ ใจบางไม่ได้

HIGHLIGHTS

  • พรรคก้าวไกล ชัดเจนแล้วกับมติพรรค ให้มีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พิธาปฏิเสธว่า พรรคไม่ได้วนอยู่แค่เรื่องนี้เท่านั้น เพราะการทำงานนิติบัญญัติพรรคยังมีร่างกฎหมายอีกหลายประเด็นที่มุ่งมั่นผลักดัน
  • พิธา เผย ผู้ว่าฯ กทม. พรรคต้องส่งแน่นอน เพราะประชาชนควรมีสิทธิเลือก และพรรคก็มีวิธีคิดต่อการบริหารเมืองใหญ่ที่ต่างจากพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ
  • เมื่อถามถึงความหวัง ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน พิธายังเห็นถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ ยืนยันว่ามีเรื่องที่ก้าวหน้าหลายเรื่องอยู่ในสภา

พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ที่เสนอแก้ไขและผลักดันร่างกฎหมายสำคัญๆ หลายร่าง ขณะที่เวลาก็ยังไล่บี้ ให้ต้องเตรียมวางคนลงสมัครในสนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ตามโรดแมปของรัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งใกล้จะมาถึงภายในปีนี้หากไม่มีการเลื่อน หลังจากที่สนามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. จบไป และสนามเทศบาลกำลังจะเริ่มต้นในเดือนหน้า 

 

ท่ามกลางการจับตาของคอการเมือง ที่หวังว่าพรรคฝ่ายค้านจะถอดบทเรียนการตัดคะแนนกันเอง จนทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคอื่นๆ กลายเป็น ‘ตาอยู่’ ได้ชัยชนะไป 

 

ขณะที่ศึกไกลยังไม่น่าห่วงเท่าศึกใกล้ อีกบทพิสูจน์ศักยภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน ที่ต้องผนึกกันจัดทัพใหญ่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งล็อกตารางแล้ววันที่ 16-19 กุมภาพันธ์นี้ 

 

THE STANDARD ได้รวบรวมประเด็นคำถามร้อนเพื่อมาหาคำตอบจาก ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังเข้าสู่ขวบปีที่สอง หลังพรรคอนาคตใหม่ที่เคยสังกัดถูกยุบ   

 

 

เข้าสู่ปีที่สองหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พรรคก้าวไกลเตรียมเปิดประเด็นเรื่องแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่สภภาฯ เตรียมรับดอกไม้และก้อนอิฐอย่างไรบ้าง เตรียมใจไว้แค่ไหน

 

ก็ต้องรับอย่างตรงไปตรงมา นักการเมืองใจบางไม่ได้ ก็ต้องยอมรับมีคนเห็นด้วย เห็นต่าง ต้องชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล เมื่อความรู้สึกของยุคสมัยมันเป็นแบบนี้ เวลานี้ทุกอย่างก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ทั่วโลกมองเราอยู่ มองหาความเป็นนิติรัฐ ทูตหลายประเทศ เท่าที่ได้พูดคุยกันมาในช่วงปีใหม่สิบกว่าประเทศ ก็กำลังสนใจในประเด็นนี้พอสมควร ในการกลับมาใช้มาตรา 112

 

ส.ส. ในพรรคเห็นตรงกันไหม

 

ก็ต้องรับอย่างตรงไปตรงมา นักการเมืองใจบางไม่ได้

 

มีออกมาเป็นมติพรรคว่าเห็นความจำเป็นต้องแก้ไข เราเปิดพื้นที่พูดคุยกัน การไม่เห็นด้วย ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราต้องพูดคุย ใช้วิธีอย่างไหน เราต้องการทำให้มีความชัดเจน กระบวนการมีความโปร่งใส มีการพิจารณาถึงความได้สัดส่วน ไม่ถูกใช้รังแกกันทางการเมือง และในมุมมองของสิทธิเสรีภาพในการพูด เราคิดถึงเรื่องมาตรา 112 ในเรื่องของการแก้โทษอาญา เราคิดว่าไม่ควรมีใครถูกจำคุกจากเรื่องเสรีภาพในการพูด คืออาจจะต้องรับโทษหรือรับผิดชอบ แต่เป็นโทษปรับ เป็นโทษทางแพ่งไป 

 

แน่นอนว่าเราอยากให้มันมีความเป็นสากล เราศึกษาเกี่ยวกับมาตรา 112 ในหลายประเทศ โทษไม่ได้หนักขนาดนี้ ไม่ใช่มีการลงโทษจากการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ทำผิด 29 กรรม ลงโทษครั้งละ 3 ปี เอา 3 ปีคูณ 29 อย่างที่เกิดขึ้นกับคุณอัญชัญ

 

ในส่วนการร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็ต้องมาจากนายกรัฐมนตรี กรมราชเลขานุการในพระองค์ หรือจากสำนักพระราชวัง การสู้คดีสามารถซักค้านได้อย่างเปิดเผย เหล่านี้เป็นสิ่งที่สากลทำกัน และเป็นการทำเพราะอยากให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ได้ และจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนนั้นดีขึ้น และเคียงคู่ประชาธิปไตย

 

 

แต่เวลาที่พูดถึงเรื่องมาตรา 112 หรือแตะเรื่องนี้ ผลกระทบที่ตามมาก็จะมีคนอีกกลุ่มที่ต่อต้าน มีคนถามว่า ทำไมพรรคก้าวไกลต้องย้ำคิดย้ำทำเรื่องนี้อยู่ตลอด ไม่มีเรื่องอื่นให้ไปทำมากกว่านี้หรือ สุดท้ายก็วนมาที่เรื่องนี้ จะชี้แจงอย่างไร

 

ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว เราต้องมีความรอบคอบในการนำเสนอ ภาษาที่ใช้ จังหวะเวลา แต่มองถึงความจำเป็น มันจำเป็นต้องใช้เวลาในการอภิปราย 

 

ส่วนประเด็นย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องนี้ ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง พรรคเรามีเรื่องเกี่ยวกับ LGBTQ เรื่องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ เป็นพรรคที่มี ส.ส. ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพรรคที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้านอีสปอร์ต เป็นพรรคที่มีตำรวจคอยสนใจเรื่องแรงงานต่างด้าว เรื่องบ่อน ซึ่งก็จะเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจ  

 

มีพี่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่พูดเรื่องระบบการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีก เรื่องเกี่ยวกับที่ดินการเกษตร กระดุม 5 เม็ด ก็เป็นผมที่อภิปรายอย่างเป็นระบบ มีการพูดถึงวิสัยทัศน์การจัดการโควิด-19 การบริหารจัดการวัคซีน หรือกระทั่งการเสนอร่างกฎหมายสิบกว่าฉบับ ทั้งกฎหมายสุราก้าวหน้า กฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ. ประมง ที่จะเสนอโดยพรรคเรา หรือกระทั่งร่างกฎหมายที่ถูกล้มตีตกไปจากฝ่ายรัฐบาล กฎหมายเรื่องการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือที่ทั่วโลกใช้และเรียกย่อๆ ว่า PRTR ซึ่งจะทำให้มีการรายงานการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษ และเปิดเผยให้ทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบได้ 

 

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 น้ำคลองเน่าเสีย หรือแม้แต่การแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมจะทำได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยมีความเป็นสากล จำที่การระเบิดของคลังเก็บสารเคมีที่ท่าเรือเมืองเบรุต เลบานอนได้ไหม มันเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก

 

ดังนั้น เราเป็นพรรคที่ทำเป็นสิบๆ เรื่อง เราไม่ได้ต้องการจะให้เรื่องนี้เด่นออกมาแล้วเรื่องอื่นด้อยค่า ซึ่งเรื่องของการทำงานในนิติบัญญัติ ตอนนี้เรามีร่างกฎหมายอีก 3 ร่างที่จะรอเสนอเข้าสภา หนึ่ง คือ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ ที่จะสร้างความเท่าเทียมการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของชาติพันธุ์ โดยที่ไม่ได้ไปลดทอนความเป็นอัตลักษณ์ สอง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อที่จะให้เกิดความเท่าเทียมในระบบการศึกษาไม่ว่าอยู่ในสังกัดไหน และพยายามคืนเวลาให้กับครูในการสอน ไม่ต้องมานั่งประเมินตัวเอง สาม พ.ร.บ. ประมง ที่ได้รับการละเลยมานาน ระหว่างประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ 

 

ส่วนอีกเรื่องในสภาคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคุยกับฝ่ายค้านแล้ว ที่จะไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอยกับในปีที่แล้ว ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนว่า ทุกคนต้องได้อภิปรายจนปิดสภาได้ ไม่ซ้ำรอยเดิม

 

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างคาเมื่อปีที่แล้ว ก็ยังต้องเดินต่อ และการเป็นปากเป็นเสียงเรื่องโควิด-19 ก็ต้องอาศัยบทบาทในพื้นที่สภาเป็นปากเป็นเสียงต่อไป

 

 

มองฝ่ายค้านจากการทำหน้าที่ที่ผ่านมา ก็ดูจะมีรอยร้าว ขัดแย้งกัน ประชาชนมองว่า ฝ่ายค้านอภิปราย ยกมือทีไรฝ่ายรัฐบาลก็ชนะเหมือนเดิม อภิปรายอย่างไรเขาก็ยังอยู่ต่อ จะเรียกความเชื่อมั่นอย่างไรบ้าง

 

การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องใช้เวลา การเปลี่ยนแปลงจึงต้องทำในสภา นั่นคือสาเหตุที่มีพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือสาเหตุที่ถึงแม้เขายุบอนาคตใหม่ก็ยังมีพรรคก้าวไกล

 

อยากจะสื่อสารว่านั่นคือส่วนหนึ่งของรัฐสภา พรรคฝ่ายค้านหน้าที่ของเราคือการพูด การตรวจสอบ แน่นอนว่าน้ำหนักของการพูดมันจะทำให้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล จนรัฐบาลลาออก ยุบสภา มันไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ในคราวเดียว จะเปลี่ยนแปลงแบบรัฐประหารปุบปับถามว่ามันจบไหม ไม่จบ การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องใช้เวลา การเปลี่ยนแปลงจึงต้องทำในสภา นั่นคือสาเหตุที่มีพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือสาเหตุที่ถึงแม้เขายุบอนาคตใหม่ก็ยังมีพรรคก้าวไกล และนั่นคือสาเหตุที่ถึงยุบพรรคก้าวไกลก็จะยังมีพรรคที่คิดเหมือนเรา ทำเหมือนเราต่อไปอยู่ดี ในการที่จะทำแบบนี้ไม่ใช่การที่จะไป Monopolize ทั้งสภา ทั้ง ส.ว. แบบที่เขาทำ

 

ฝ่ายค้านเอง ผมยังโทรคุยกับคุณสมพงษ์ คุณเสรีพิศุทธ์ อยู่ทุกอาทิตย์ ต้องเข้าใจว่าฝ่ายค้านคือ 7 พรรค มีความเชื่อมั่นในร่มใหญ่คือประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่นโยบายในแต่ละพรรคต่างกันอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้เป็นพรรคเดียวกัน วิธีคิดในหลายๆ เรื่องต่างกัน แต่เรามีความเป็นเอกภาพ

 

การทำงานแบบก้าวไกลตอนนี้มีอะไรอีกบ้าง มีระบบการทำงานอย่างไร

 

ก็จะเห็นมีการวางตัว ส.ส. แบ่งงานกันชัด เช่น ทีมที่จะมาติดตามสถานการณ์การชุมนุมเวลาถูกใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ แต่ละเรื่องเรามีทั้งทีมใหญ่ ทีมเล็ก มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค มีที่ประชุม ส.ส. แล้วก็มีการประชุมกับสมาชิกพรรค กับ ตัวแทนจังหวัด มีการพูดคุยกับตัวแทนปีกแรงงาน ตัวแทนชาติพันธุ์ 

 

แล้วก็ยังมีคณะทำงานเล็กๆ เรื่องโควิด-19 โดยทีมหมอ โดยคุณวรภพ ที่เพิ่งออกข้อเสนอเกี่ยวกับ SMEs แล้วก็มีคณะทำงานเกี่ยวกับการเมือง มี ส.ส. สุพิศาล ดูแลคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนที่คอยเก็บข้อเท็จจริง ลงพื้นที่ ช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ โดย ส.ส. อมรัตน์ ส.ส. เบญจา ก็จะเป็นท่านที่ทำ แล้วก็มีคณะทำงานเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน การทุจริตประพฤติมิชอบ เก็บข้อมูลเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

 

 

ภาพที่ถูกมองจากข้างนอกเข้ามา ระหว่างก้าวหน้า ก้าวไกล ก็ยังขี่กันอยู่ การถูกมองว่ามีความเป็นเนื้อเดียวกัน จริงๆ มีความแตกต่างกันไหม จะวางตำแหน่งแห่งที่อย่างไร

 

ผมว่าก็เหมือนรถที่อยู่บนถนนนคนละสาย แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ยังถูกเชื่อมกันด้วยอุดมการณ์ ยังถูกเชื่อมด้วยวิสัยทัศน์ แต่บทบาทต่างชัดเจน

 

ผมว่าก็เหมือนรถที่อยู่บนถนนนคนละสาย แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ยังถูกเชื่อมกันด้วยอุดมการณ์ ยังถูกเชื่อมด้วยวิสัยทัศน์ แต่บทบาทต่างชัดเจน กลไกสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ต่างกันชัดเจน ฝั่งนั้นน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ดังนั้น Mechanism คนละอันกัน แต่ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 

 

เข้าปีที่สองของการทำงาน เรามองเรื่องความเสี่ยงแบบอนาคตใหม่บ้างไหม ก้าวไกลก็เจอก้อนหินเยอะ

 

ตระหนักแต่ไม่ตระหนก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เป็นกันทั่วโลก เราต้องมีวุฒิภาวะมากขึ้น ไม่ประมาทมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่กลัวไปทุกอย่าง ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าความกล้า หรือวิธีคิดต่างไป แต่ก็ต้องรอบคอบมากขึ้นนั่นเอง 

 

แสดงว่าที่มีอยู่ 53 คน ถ้าจะพูดแทนประชาชนที่มองเข้ามา ทั้งหมด 53 คนนี้เป็นเนื้อแท้ หรือว่ายังมีความกังวลเรื่องงูเห่าอยู่ไหม

 

ผมว่าการทำงานเป็นทีม ถ้าเราไม่เชื่อใจตั้งแต่แรกมันก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ การที่ไม่สามัคคี ไม่มีเอกภาพมันก็ทำงานการเมืองไม่ได้ 

 

ผมเชื่อในศักยภาพ เชื่อใจในความคิด แน่นอนมันก็ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นคนที่หูเบา หูหนวกเหมือนกัน เวลามีใครมาพูดอะไรให้ฟังเราก็ต้องมีสติ แล้วก็เช็กข้อมูลให้รอบด้าน แล้วก็ตรงไปตรงมา ซึ่งแน่นอนในเชิงการเมืองมันมีคนใส่ยาพิษ ใส่ร้ายป้ายสีกัน 

 

เราเข้าใจแล้วว่าคนทุกคนเคยเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของคนอื่นมาตลอดไม่ว่าใคร เพราะฉะนั้นหูเบาไม่ได้ 

 

ส่วนความแตกต่างมันก็มีวิธีจัดการ มันก็ทำงานเป็นทีมได้ ไม่ใช่ว่าเป็นความคิดของ พิธา แล้วคนอื่นไม่มีสิทธิมีเสียง 

 

 

เลือกตั้งท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร ก้าวไกลจะส่งแน่ไหม

 

ถ้าไม่ส่งคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความไว้วางใจที่คนกรุงเทพฯ ให้กับพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ไม่เป็นที่สองรองใคร เราไม่ส่งเป็นไปไม่ได้

 

แล้วกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เรื่องการมาตัดคะแนนกันมองอย่างไร

 

ถ้าเชื่อในระบบประชาธิปไตย และในอีกด้านหนึ่ง จะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าผมไม่ส่งแล้วอีกพรรคหนึ่งจะส่ง มีเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ที่เราไม่ส่งแล้วฝ่ายค้านพรรคอื่นก็ไม่ส่ง ทำให้ไม่มีใครแข่ง อันที่สองก็คือ ถึงเป็นพรรคฝ่ายค้านเหมือนกัน แต่มีความคิดต่อกรุงเทพฯ ต่างกัน ถึงแม้ว่าโอเค เราคิดว่าต้องยึดโยงกับประชาชน แต่วิธีคิดการบริหารเมืองใหญ่ ประชาชนควรได้มีสิทธิเลือกไม่ใช่หรือ

 

​เราต้องการที่จะเสนอตัวเลือกเพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ มากที่สุด คนกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการ Hard Infrastructure ไม่ได้ต้องการตึกใหญ่ๆ หรือถนนเพิ่ม แต่ต้องการความเข้าใจในการบริหารเมือง

 

แล้วอีกอย่าง จะรู้ได้อย่างไรว่าฝั่งตรงข้ามเขาก็ไม่ตัดคะแนนกัน ยิ่งตัวเลือกเยอะ ยิ่งแข่งขันกันเยอะ ยิ่งมีประโยชน์กับประชาชน

 

 

แต่ก็มีบทเรียนเป็นรูปธรรมให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเอาคะแนนฝ่ายค้านมารวมกันก็ชนะฝ่ายรัฐบาลไปแล้วด้วยซ้ำ มันก็มีความแตกต่างระหว่างความเชื่อกับทางปฏิบัติ

 

เราคืออุดมการณ์ เราคือความคิด เราพร้อมที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยในระยะยาว แน่นอนว่าเป้าหมายเราต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐ

 

อย่างที่เราบอกว่ามันก็มีอีกบทเรียนที่ฝ่ายค้านไม่ส่งกันแล้วก็ไม่มีใครลง มันก็มีทั้งสองตัวอย่าง ถ้ายึดแบบนั้นแล้วเราชนะแต่ประชาชนแพ้ กับอีกแบบหนึ่งที่ลงแข่งขันกันอย่างตรงไปตรงมาแล้วให้ประชาชนตัดสิน ทำอย่างไรให้ประชาชนออกไปเลือกตั้งมากที่สุด มาแข่งกัน เพราะนั่นคือสะท้อนความเข้มข้นของประชาธิปไตย ถ้ามีหลายพรรคลงแล้วประชาชนออกมาเลือกตั้ง 70% มันก็สะท้อนว่าได้ใช้ประชาธิปไตยเข้มข้น แล้วถ้าผมแพ้แต่มาจากการได้มีตัวเลือกที่สมศักดิ์ศรี ด้วยนโยบายที่หลากหลาย

 

เราเป็นพรรคการเมืองที่ต่างจากพรรคอื่น เราคืออุดมการณ์ เราคือความคิด เราพร้อมที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยในระยะยาว แน่นอนว่าเป้าหมายเราต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐ

 

ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไรกับการเลือกตั้งกรุงเทพฯ

 

อย่างน้อยสุดต้องได้คะแนนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าตอนที่เลือกตั้ง ส.ส. แล้วก็การที่จะได้ ส.ก. ก็ต้องเป็น ส.ก. ที่เข้าใจนโยบาย แล้วก็เข้าใจปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชน ส.ก. ที่เข้าใจเรื่องขยะ เรื่องน้ำท่วม เรื่องการมีสุนัขมาอยู่หน้าบ้าน เรื่องที่ประชาชนต้องการให้ทำ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมือง

 

 

ถามถึงตัวคุณทิม ถึงตอนนี้ ยังคิดว่าตัดสินใจถูกอยู่ใช่ไหม ที่มาเดินสนามการเมือง

 

ก็ตัดสินใจมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว และทุกอย่างก็ไม่ได้เจออะไรผิดไปจากที่คาด ไม่ว่าโดนโจมตี โดนไล่ออกจากประเทศ โดนคดี อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมืองทั่วโลก คาดไว้แล้ว เป็นนักการเมืองใจบางไม่ได้ 

 

ถ้าเป็นคำถามว่า แล้วสิ่งที่เจอ ทั้งที่คาดไว้แล้ว หรือที่คาดไม่ถึง มันคุ้มไหมกับสิ่งที่แลกไปเพื่อเข้ามาทำงาน

 

ประเทศไทยยังพอมีความหวัง ทั้งที่ความสิ้นหวังกำลังกัดกร่อนหัวใจของประชาชน ก็มีหลายเรื่องที่มีความท้าทายที่เราต้องคำนึงถึง

 

คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม อันนี้คือฝันที่เป็นจริง ผมไปเรียนการเมืองการปกครองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด การได้มาทำงานกับคนที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน อย่างคุณธนาธร คุณปิยบุตร หรือเพื่อน ส.ส. อีกหลายท่าน ในการสร้างประเทศไทย ให้สังคมดีขึ้น

 

และในมุมมองที่ถามเรื่องการเป็นคุณพ่อ ลูกของผม 4 ขวบ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำจะทำให้ชีวิตของลูกผม และลูกคนอื่นในสังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสู้ ก็เป็นการสู้เผื่อ ให้รุ่นลูกไม่ต้องสู้อีก

 

เหมือนที่พ่อผมสู้มา หรือพ่อใครบางคนสู้มา แล้วรุ่นลูกก็มาสู้ต่อในสภา เพราะฉะนั้นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเคยเจอศึกหนักมาก่อน เคยโดนรัฐประหารมาก่อน ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความน่าตื่นเต้นมันก็เกินคาดนะ 

 

ตอนที่ผมเดินออกมาจากสภาก็ได้ยินเรื่องการอภิปรายเรื่องทำแท้ง ที่ตอนนี้เกิดขึ้นในรัฐสภาไทย เราได้เห็นการพูดคุยเรื่องที่ว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากจะต้องท้องเพื่อมาทำแท้ง นอกจากคำถามว่าเส้นมันอยู่ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือ 20 สัปดาห์ อีกคำถามคือ ใครเป็นคนขีดเส้น มันมีใครที่ไปขีดเส้น เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า นี่เป็นเรื่องที่ ส.ส. เรากำลังอภิปราย

 

แน่นอนมันมีเรื่องน่าหนักใจเยอะ แต่มันก็มีเรื่องที่ก้าวหน้าหลายเรื่องอยู่ในสภา เรื่องของรัฐสวัสดิการ เรื่องของ Sex Worker มันมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประเด็น ซึ่งช่วงที่เราในวัยเรียนยังคิด แล้วตอนนี้มันก็มาถึง มันกลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ขึ้นมาสู่สาธารณะ ผมว่ามันเป็นหลักฐานว่า ประเทศไทยยังพอมีความหวัง ทั้งที่ความสิ้นหวังกำลังกัดกร่อนหัวใจของประชาชน ก็มีหลายเรื่องที่มีความท้าทายที่เราต้องคำนึงถึง

 

 

เท่ากับตอนนี้คนสิ้นหวังไม่ได้เลย แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้จะทำอย่างไรให้คนยังมีหวัง

 

ปีนี้สถานการณ์ยังมีความหวังกว่าช่วงที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว หนึ่งปีผ่านไปโควิด-19 รอบนี้ควรที่จะง่ายกว่าระลอกแรกที่ยังไม่มีบุคลากร ไม่มีโรงพยาบาลสนาม ไม่มีงบประมาณ ไม่มี พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และยังไม่มีกรรมาธิการโควิด-19 มาดูแล 

 

แต่ตอนนี้โครงสร้างต่างๆ พร้อมหมดแล้ว ไม่มีข้ออ้างอะไรเหลืออีก จึงควรที่จะรีบสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้าใจ ถ้าเราบริหารจัดการดีๆ อย่างที่เคยพูดถึงเรื่องวัคซีน คือเรามีความไม่แน่นอนอยู่เยอะ แต่ถ้าเราทำให้เกิดความโปร่งใสในการเปิดเผยเกี่ยวกับวัคซีนทั้งหมดทุกชนิด ที่มีองค์ประกอบ มีประเด็นความแตกต่างในหลายๆ เรื่อง ถ้าเราเอามาบริหารความเสี่ยง อย่างที่หลายประเทศเอาทั้งหมด อย่างละ 30% หรือ 20% เพื่อรู้ว่าวัคซีนบางชนิดเหมาะกับคนทำงาน วัคซีนบางชนิดเหมาะกับคนสูงอายุ หรืออย่างการเยียวยา ผมว่าขีดเส้นมาเลยว่า เราต้องเยียวยาไปถึงตอนไหน ถ้าเกิดมี 31 ล้านคน ก็เดือนละแสน ถ้าต้องทำอีก 7 เดือน ต้องใช้งบประมาณอีก 7 แสน เราก็จะรู้แล้ว ก็จะทำงบประมาณแบบเกลี่ยก่อนกู้ รู้ว่าจะทำงบปี 2565 อีกเท่าไร รู้แล้วว่าต้องเอางบส่วนไหนมาพยุงให้คนผ่านตรงนี้ไปได้ 

 

เรารู้แล้วว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่ตรงไหน เราบริหารความเสี่ยงโดยไม่ได้ผูกความมั่นคงไว้กับวัคซีน 90% ในโรงงานใดโรงงานหนึ่ง

 

เราไม่เอาไข่ใส่ตะกร้าไปใบเดียว แต่เราใส่หลายๆ ตะกร้า การที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งบอกว่า ประชาชนมาพูดหรือตั้งคำถามจากข้อมูลที่หาได้ตามสาธารณะมาแล้วประมวลว่าอย่างนี้คือการใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว 90% พอมีคนมาบอกแบบนี้ รัฐบาลก็บอกว่านี่คือมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ผมว่านี่คือการชี้ให้เห็นรอยรั่วของเรือ แล้วจะอุดรอยรั่วอย่างไร เพื่อให้เรือลำนี้พุ่งไปสู่น่านน้ำที่ไม่เคยมีใครผ่านไป กัปตันก็คงโดนตั้งคำถามเยอะหน่อย แต่โดนถามมาก็ต้องตอบไป ไม่ใช่มากระฟัดกระเฟียด เพราะงบประมาณจัดหาวัคซีนก็มาจากภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นเจ้าของเงินก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นก็ตอบมา ไม่ใช่สร้างความขมุกขมัว ไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำที่ดีจะทำ

 

มันกลายเป็นความไม่ชัดเจนในทุกเรื่อง อย่างเราไปเจอประชาชนถาม เราก็เอามาถามต่อ ว่ามาตรการเยียวยามันไม่มีตัวชี้วัดที่ทำให้ประชาชนมั่นใจ ก็ด้วยเหตุแบบนี้ความสิ้นหวังถึงกัดกร่อนใจคน เหมือนที่บอกว่าให้ซื้อมือถือมา คือเงินเติมอินเทอร์เน็ตยังไม่มีเลย กลายเป็นว่า เราชนะ แต่คนไม่มีมือถือคุณแพ้ หรือที่ ส.ส. เท่าพิภพ บอกว่า เราจ่ายภาษีแบบบังคับ รับสวัสดิการแบบชิงโชค คือไม่ควรเกิด และควรมีบทเรียนได้แล้วว่า การเยียวยาควรถ้วนหน้า

 

 

คำถามสุดท้าย อยากให้ฝากถึงประชาชนถึงการที่บอกว่า ความหวังมันยังมี ซึ่งตอนนี้คนอาจมองไม่เห็น

 

เพราะ “ความหวังไม่ได้สร้างจากอากาศ แต่มาจากการทำงาน”

 

ความหวังมันไม่ได้สร้างในอากาศ แต่มันมาจากข้อเท็จจิง มาจากวิทยาศาสตร์ มาจากข้อมูล แล้วก็ความหวังไม่ได้มาจากการเปลี่ยนเช้าเปลี่ยนบ่าย แล้วก็โควิด-19 มันกลับมาครั้งที่สองแล้ว มันไม่ควรมีความผิดพลาดในการสื่อสาร 

 

บางทีประชาชนไม่ได้อยากทราบว่าทำอะไร แต่อยากทราบว่า เพราะอะไรถึงทำแบบนี้  ทำไมคุณถึงจัดโซนแบบนี้ โซนเลือดหมู โซนแดง อยากทราบว่าเพราะอะไรถึงจัดแบบนี้ แล้วพอแบ่งโซนแล้ว รัฐบาลจะทำอะไร พอเป็นโซนแล้วเขาต้องเสียสละมากน้อยต่างกัน คุณจะเยียวยาเขาอย่างไร และก็พอไปแบ่งโซนแล้ว คุณได้ขีดเส้นไหมว่ามันจะใช้เวลาอีกกี่เดือน 

 

ถ้าสื่อสารกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ สื่อสารด้วยความจริงใจ สื่อสารโดยผู้นำ อย่างที่รัฐบาลเยอรมนี สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เขาทำ ถึงแม้ว่าทำไม่ได้ แต่เขาขอโทษประชาชนว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ด้วยเหตุอย่างไร 

 

ผมว่านี่คือการที่ผู้นำเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจประชาชน ไม่ได้นั่งอยู่บนหัวประชาชน ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกสิ้นหวังมันน้อยลง เพราะยังมีผู้นำที่รับรู้ว่า ประชาชนคนไทยเจออะไร เห็นอกเห็นใจ 

พรรคก้าวไกล ตอนนี้เราวางแผนได้แล้ว เราขีดเส้นย้อนกลับไปได้ว่า ต้องใช้เงินเยียวยาต่อเดือน สำหรับ 4-5 เดือนอยู่ที่เท่าไร ซึ่งทางพรรคก้าวไกลประเมินว่า น่าจะประมาณเดือนละ 140,000-180,000 ล้านบาท และเรารู้ว่าจะต้องนำเงินมาจากไหนบ้าง เพื่อพาประชาชนทั้งประเทศรอดพ้น 4-5 เดือนนี้ไปให้ถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้ได้ เพราะ “ความหวังไม่ได้สร้างจากอากาศ แต่มาจากการทำงาน”

 

ภาพ: ช่างภาพข่าว ประจำสำนักข่าว THE STANDARD

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X