วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีความเคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์ต่อกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (6 กุมภาพันธ์) ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์
สาเหตุของคดีเกิดจากมติของคณะอนุกรรมการ กสทช. ที่พิจารณาตามคำฟ้องร้องของผู้บริโภคว่า แอปพลิเคชัน TrueID แทรกโฆษณาระหว่างเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ดิจิทัล ขัดต่อหลักเกณฑ์ Must Carry ซึ่งกำหนดให้ต้องเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์โดยไม่มีเนื้อหาอื่นแทรก คณะอนุกรรมการจึงแจ้งให้ กสทช. ส่งหนังสือเตือนบริษัท ทรู
ด้านบริษัท ทรู มองว่าคำเตือนดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่บริษัทและอาจกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ ทำให้เนื้อหารายการบางส่วนถูกระงับ จึงมีการฟ้องร้องดังกล่าว
คดีนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักวิชาการและผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคมองว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างของการที่ กสทช. ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค
แวดวงวิชาการร่วมส่งกำลังใจ
วานนี้ (4 กุมภาพันธ์) คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ร่วมติดแฮชแท็ก #saveพิรงรอง #freeกสทช ส่งกำลังใจให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง และชวนร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ได้ทาง https://tally.so/r/3NbP4j
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความต่อกรณีดังกล่าวว่า “ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่รับผิดชอบด้วยความสุจริตจะกลายเป็นความผิดทางอาญาแล้วไซร้ ในระยะยาวจะเหลือใครทำงานให้กับส่วนรวม”
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ท่าไม้ตายของทุนใหญ่ในการจัดการกับผู้พยายามขัดขวางการครอบงำของทุนก็โดยวิธีนี้ นั่นคือข่มขู่ด้วยคดีอาญา ข้อหากระทำการโดยทุจริต และฟาดโบยด้วยคดีแพ่ง เรียกร้องสินไหมจำนวนเงินที่รู้ว่าฝ่ายต่อต้านจะไม่มีปัญญาชดใช้ได้
“นักวิชาการมีหน้าที่ใช้ปัญญาให้แสงสว่างแก่มวลชน นักสื่อสารมวลชนมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม ผู้กำกับดูแลนโยบายสื่อก็พึงดำรงตนอย่างอิสระ เพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชนในชาติ
“ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต หรืออาจารย์ขวัญ ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในฐานะนักวิชาการ อดีตนักสื่อสารมวลชน และกรรมการ กสทช.
“ยืนยันเสมอมาว่าอาจารย์ขวัญคือความภาคภูมิใจของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คณาจารย์ นิสิต นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และประชาชนผู้ปกปักผลประโยชน์ของส่วนรวม ร่วมให้กำลังใจแก่อาจารย์กันครับ #SavePirongrong”
ย้อนรอยที่มาของคดี
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ยื่นฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง โดยการฟังคำสั่งในวันนั้นฝ่ายโจทก์มีทนายความเดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการเดินทางมาฟังคำสั่ง
ศาลมีคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จากการไต่สวนได้ความว่า โจทก์ (ทรู) เป็นผู้ประกอบกิจการ OTT (Over-the-Top ซึ่งเป็นบริการสื่อที่นำเสนอโดยตรงกับผู้รับบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต OTT ข้ามแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) เป็นการให้บริการที่ กสทช. ยังไม่มีประกาศหรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล
และจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า การให้บริการของโจทก์ แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทางไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์จำนวน 127 ราย
มีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่โจทก์ส่งไปออกอากาศ
พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบมิชอบ คดีโจทก์มีมูล จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.167/2566
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือเตือนของ กสทช. เป็นการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาตามหลักเกณฑ์ Must Carry และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ทั้งนี้ ไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ
ในวันพรุ่งนี้ (6 กุมภาพันธ์) หากศาลตัดสินว่าศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง มีความผิด และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะถือว่าต้องสิ้นสภาพ กสทช. ทันที
จากอาจารย์ด้านสื่อสู่ผู้คุมกฎ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และรองอธิการบดี ด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2559-2563
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง มีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายสื่อและการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมถึงมีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 เคยเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยของ กสทช. ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)