เว็บไซต์ Bnomics ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาราคาเนื้อหมูหน้าแผงในไทยที่ปรับตัวแพงขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี ผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขจากตัวอย่างในต่างประเทศ
โดยบทความดังกล่าววิเคราะห์ว่า หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนหน้าการเกิดโรคระบาดโควิด ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ให้เห็นว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกเนื้อหมูมูลค่ากว่า 3,533.9 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 104 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายน 2564 ยอดการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นไป 141.6% สะท้อนว่าไทยติดอันดับการส่งออกเนื้อหมูเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน
แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อไทยได้รับเชื้อจากการระบาดของโรค ASF ในหมูที่มาจากประเทศใกล้เคียงอย่างในอาเซียน ส่งผลให้หมูจำนวนมากป่วยและตายไป ทำให้ในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตหมูลดลงไปถึง 1 ล้านตัว คิดเป็น 5% ของการผลิตหมูทั้งหมด จนส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ไทยส่งออกเนื้อหมูไปในกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก กลับส่งไปได้น้อยลง เพราะไม่มีใครอยากซื้อหมูในราคาที่สูงกว่าหมูตนทั้งนั้น
ขณะเดียวกัน สภาพอากาศที่ร้อนของไทย รวมถึงการมีสภาพอากาศที่แปรปรวนยังส่งผลให้หมูกินอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลดลงไม่ถึงเกณฑ์ของมาตรฐานฟาร์ม ในเมื่อหมูมีสุขภาพที่ไม่ดี เกษตรกรจึงต้องเข้ามาเพิ่มอาหาร ติดตั้งพัดลมเพื่อระบายความร้อน ส่งผลให้ต้นทุนเนื้อหมูยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่อนำปัจจัยข้างต้นมารวมกันจึงทำให้ราคาเนื้อหมูสูงพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยราคาเนื้อหมูได้ปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 235 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2565) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 85% หรือคิดเป็น 71% ของรายได้ขั้นต่ำ นอกจากนี้หมูที่ราคาแพงยังส่งผลให้อัตราการนำเข้าเนื้อหมูลดลงไป 12% เพราะไทยมองว่าหากรับหมูของประเทศอื่นเข้ามาจะไปลดขีดความสามารถในการแข่งขันกับภายนอกประเทศในอนาคต
ราคาหมูที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยในมุมของผู้ประกอบการพบว่า ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารจะผลิตอาหารได้น้อยลง เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบที่ใช้เลี้ยงหมู อาหารหมู โปรตีนทางเลือกอื่น รวมถึงค่าน้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง
ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยบางส่วนบางส่วนจำเป็นต้องปิดกิจการลงด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ตัวเลขที่ขาดทุนสะสมมานาน ในขณะที่บางส่วนจำเป็นต้องลดจำนวนหมูที่เลี้ยงไว้ ส่งผลให้ปริมาณเนื้อหมูในท้องตลาดลดลงไปอีก
ขณะที่ผลกระทบต่อประชาชน ราคาหมูที่แพงจะซ้ำเติมครัวเรือนที่มีหนี้สูงจากผลของการระบาดโควิดที่ผ่านมา เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนลามไปถึงค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคอื่นในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางบ้างก็ปรับตัวไปซื้อโปรตีนชนิดอื่นแทน บ้างก็ยังคงมีความต้องการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ราคาหมูยิ่งพุ่งสูงขึ้น ลดทอนความสามารถในการบริโภคเนื้อหมูของคนกลุ่มรายได้ต่ำไปด้วย
บทความดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความไม่สัมพันธ์กันระหว่างค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นของไทยในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังคงที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างว่าในปี 2562 ค่าแรงไทยสามารถซื้อเนื้อหมูได้มากที่สุด และซื้อสามารถซื้อเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ได้ 0.2 กิโลกรัม ขณะที่ต้นปี 2565 ทำงาน 1 วัน จำนวนเนื้อหมูที่สามารถซื้อได้ลดลงจากปี 2562 ถึง 1.2 กิโลกรัม คิดเป็น 46% สะท้อนว่าคนไทยแทบจะไม่เหลือเงินเก็บไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ หากต้องการจะซื้อหมู 1 กิโลกรัมมาบริโภค
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าแรงขึ้นต่ำต่อวันของประเทศในกลุ่มอาเซียนว่าสามารถซื้อเนื้อหมูในประเทศนั้นๆ ได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ฟิลิปปินส์ซื้อหมูได้มากที่สุด โดยซื้อได้ 2.8 กิโลกรัม สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ค่าแรงมากเป็นอันดับ 2 ซื้อหมูได้ 2.6 กิโลกรัม ไทยซื้อหมูได้ 1.4 กิโลกรัม เวียดนามซื้อหมูได้ 1 กิโลกรัม ลาวซื้อหมูได้ 0.94 กิโลกรัม เมียนมาซื้อหมูได้ 0.87 กิโลกรัม และกัมพูชาซื้อหมูได้น้อยที่สุดเพียง 0.7 กิโลกรัม
โดยประเทศที่ราคาหมูสูงกว่าไทยและมีค่าแรงสวนทางกับราคาหมู มี 2 ประเทศ ได้แก่ เวียดนามและกัมพูชา
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาหมูราคาแพง ซึ่งเป็นผลจากการที่หมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาด้วยกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี หลายประเทศมีแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
โดยเวียดนามเลือกนำเข้าเนื้อหมูจำนวนมาก เพื่อทำให้ราคาเนื้อหมูในตลาดเริ่มทยอยปรับตัวลงไป แต่การนำเข้าหมูเข้ามาในปริมาณมากนั้นอาจเกิดความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดขีดความสามารถในการแข่งขันลงได้
ขณะที่สหราชอาณาจักรเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่รายได้ต่ำแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงได้เป็นอย่างดี และสามารถรับมือจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วย
บทความดังกล่าวได้สรุปว่า วิกฤตหมูแพงและเงินเฟ้อครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นในหลายประเทศอาเซียน ซึ่งผลกระทบในแต่ละประเทศมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้ การแก้ไขสามารถทำได้ทางฝั่งอุปทาน โดยกำหนดเพดานราคาหมู เพิ่มอุปทานหมู และจำกัดการส่งออกหมูออกจากประเทศ ส่วนทางฝั่งอุปสงค์ สามารถทำได้โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับสภาพเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP