×

ประวัติศาสตร์ Pictogram ของโอลิมปิกเกมส์

08.07.2024
  • LOADING...

โอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ โดยเจ้าภาพครั้งนี้ได้นำเสนอ Pictogram ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการออกแบบที่โดดเด่นที่สุดของมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

 

วันนี้ THE STANDARD SPORT จึงอยากพาทุกท่านไปย้อนดูประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการออกแบบ Pictogram ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นการออกแบบเพื่อเป็นเครื่องมือทลายกำแพงภาษา และมาถึงปัจจุบันที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจที่ปารีส 2024 

 

ภาพ: Organizing Committee for the Games of the XVIII Olympiad / Organizing Committee of the Games of the XIX Olympiad, Mexico 68 / Sydney 2000, Organizing Committee for the Games / Beijing Organizing Committee for the Games of the XXIX Olympiad / International Olympic Committee, 2023

 

1. Tokyo 1964 จุดเริ่มต้นของ Olympic Pictogram 

 

 

โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 1964 นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากนี่เป็นโอกาสสำคัญในการเปิดประเทศในระดับสากล หลังจากที่พวกเขาพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น 

 

โจทย์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ชาติแรกจากทวีปเอเชียคือ การต้อนรับผู้คนเกือบ 100 ประเทศจากทั่วโลก และอำนวยความสะดวกในแง่ของการสื่อสาร ซึ่งพวกเขาได้นำนวัตกรรมที่เรียกว่า Pictogram เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก 

 

ปกติแล้วสำหรับโอลิมปิกเกมส์ก่อนหน้านั้น ข้อมูลสำคัญทุกอย่างจะถูกแปลออกมาหลายภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักข่าว นักกีฬา และนักท่องเที่ยว ซึ่งการต้องแปลหลายภาษาทำให้เกิดความหมายที่คลาดเคลื่อน และญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารภายในประเทศ 

 

แต่เมื่อ Pictogram ถูกนำเข้ามาใช้ กำแพงภาษาจึงได้ถูกทำลายลงอย่างง่ายดาย และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการออกแบบในโอลิมปิกเกมส์

 

คัตสึมิ มาซารุ และ โยชิโนะ ยามาชิตะ คือสองศิลปินที่ร่วมกันออกแบบ Pictogram ในครั้งนั้นด้วยรูปแบบที่มีชื่อว่า Isotype (International System of Typographic Picture Education) หรือรูปแบบที่สื่อถึงสังคม เทคโนโลยี และประวัติศาสตร์ ผ่านการสื่อสารด้วยรูปที่เรียบง่าย ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของสัญลักษณ์ ไอคอน และอีโมจิต่างๆ ในปัจจุบัน

 

ซึ่งภายในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว เมื่อปี 2021 ฝ่ายจัดได้นำเสนอเรื่องราวการเริ่มต้นของ Pictogram เมื่อปี 1964 เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เพื่อยกย่องตำนานบทสำคัญบทหนึ่งของประวัติศาสตร์โอลิมปิกเกมส์อีกด้วย

 

2. Mexico 1968 Pictogram ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Application Icon ในปัจจุบัน 

 

 

แม้ว่า Pictogram จะเพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 ปีก่อนในโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่เม็กซิโก ซิตี้ เจ้าภาพครั้งต่อมา ก็ไม่รอช้าที่จะปฏิรูป Pictogram ให้เข้ากับธีมของเจ้าภาพในครั้งนั้นทันที 

 

โดยเม็กซิโกปีนั้นจัดเต็มในแง่มุมของการสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของการแข่งขันที่กลายเป็นที่จดจำอย่างมาก ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติลาตินอเมริกา ชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เข้ามาใส่ในโลโก้ ธีม และโปสเตอร์ 

 

Pictogram ในปีนั้นได้นำเอาแค่บางส่วนของร่างกายและอุปกรณ์กีฬามาเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชนิดกีฬา แทนที่จะใช้รูปนักกีฬา และเลือกใช้สีที่เข้ากับธีมของการแข่งขัน 

 

การเลือกใช้ไอคอนเข้ามานำเสนอและสื่อสาร 19 ชนิดกีฬาด้วยสีสันสดใสและแตกต่างกัน ยังเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการออกแบบวิธีสื่อสารด้วยไอคอนเป็นครั้งแรก

 

การออกแบบครั้งนั้นเชื่อว่ากลายมาเป็นต้นแบบของการสื่อสารผ่านไอคอน ที่เติบโตมาสู่รูปแบบของแอปพลิเคชันในปัจจุบันที่เราเห็นในสมาร์ทโฟนของเราทุกวันนี้ 

 

ซึ่งโอลิมปิกฤดูร้อนที่เม็กซิโกยังเป็นปีแรกที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านโทรทัศน์จอสีเป็นครั้งแรก ซึ่งการออกแบบของฝ่ายจัดการแข่งขันที่นำเสนอสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของเม็กซิโก ถูกถ่ายทอดด้วยสีสันที่สวยงามผ่านโทรทัศน์ไปยังทั่วทุกมุมโลก 

 

3. Barcelona 1992 จุดเริ่มต้นของความโค้งมนตามลายเส้นพู่กัน 

 

 

โจเซฟ มาเรีย เทรียส ศิลปินผู้ออกแบบโลโก้ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ได้ยึดหลักการออกแบบที่เรียบง่าย เมื่อเขาต้องการใช้เทคนิคพู่กันในการวาดโลโก้ไปจนถึงการออกแบบ Pictogram สำหรับการแข่งขัน 

 

เมื่อเขานำเทคนิคนี้เข้ามาใช้ จึงเกิดเป็น Pictogram แรกของโอลิมปิกเกมส์ที่ละทิ้งความสมดุลแบบ Geometry มาใช้ ลายโค้งมนแบบพู่กันวาดในการทำสัญลักษณ์ของกีฬาชนิดต่างๆ ซึ่งตรงกับความเป็นจริงของร่างกายมนุษย์ระหว่างการแข่งขันกีฬามากขึ้น เช่นเดียวกับภาพของกีฬาทางน้ำ ที่ลายเส้นแทนน้ำมีลักษณะเป็นเส้นคลื่นที่หลากหลายขึ้น โดยในครั้งนี้มี Pictogram ทั้งหมด 32 แบบ 

 

4. Sydney 2000 เมื่อบูมเมอแรงกลายเป็น Pictogram 

 

 

นับเป็นหนึ่งในการออกแบบ Pictogram ที่สร้างสรรค์ที่สุดครั้งหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เมื่อซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตัดสินใจนำเอาบูมเมอแรง สัญลักษณ์ประจำชาติออสเตรเลีย มาออกแบบร่วมกับ 34 Pictogram สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้น 

 

ซึ่งนับเป็นการใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ผ่านสัญลักษณ์ที่ทุกคนใช้สื่อสารระหว่างการแข่งขัน และกลายเป็นสิ่งที่หลายประเทศเลือกใช้พื้นที่ Pictogram ในกีฬาโอลิมปิกนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศเช่นเดียวกัน 

 

5. Beijing 2008 จากตัวอักษรโบราณ​ของจีน สู่การสื่อสารกีฬาผ่าน Pictogram 

 

 

ปักกิ่ง ประเทศจีน นับเป็นชาติที่ 3 ในเอเชียต่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และแน่นอนว่าด้วยประวัติศาสตร์หลายพันปี พวกเขาย่อมมีวัฒนธรรมและศิลปะที่สามารถนำเสนอผ่านมหกรรมกีฬาโอลิมปิกได้หลากหลายรูปแบบ 

 

โดย Pictogram ของจีนได้เลือกใช้สิ่งที่เรียกว่า The Beauty of Seal Character หรือความสวยงามของตัวอักษรบนตราประทับจีน ซึ่งมาจากการวาดตัวอักษรพู่กันโบราณบนตราประทับ 

 

โดยผลที่ออกมาคือ ได้ Pictogram ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน 

 

6. Paris 2024 คิดใหม่ทำใหม่กับ Pictogram อีกครั้ง 

 

 

ในฐานะเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนสมัยที่ 3 และนับเป็นหนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบ ปารีส 2024 จึงได้นำเสนอ Pictogram ที่มีรูปแบบใหม่โดยสิ้นเชิง เพราะในอดีตที่เม็กซิโกเคยเปลี่ยนแปลงมาใช้เพียงอุปกรณ์กีฬา แต่ปารีส 2024 เปิดมิติใหม่ด้วยการใช้อุปกรณ์กีฬามาออกแบบในลักษณะของ Badge หรือเข็มกลัดสัญลักษณ์

 

ที่นำเอาอุปกรณ์กีฬามาจัดในรูปแบบของโล่เกียรติยศ ซึ่งแสดงถึงคุณค่า ความภาคภูมิใจ และครอบครัวของแต่ละชนิดกีฬา รวมทั้งเพื่อให้คนที่ได้สวมใส่โลโก้นี้บนเสื้อรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในการนำเสนอกีฬาของตนเอง 

 

โดยผู้ออกแบบต้องการนำเสนอไอเดียใหม่ให้กับ Pictogram ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือทลายกำแพงภาษาที่โตเกียวเมื่อปี 1964 และนำเสนอ Pictogram ให้เป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจต่อกีฬาแต่ละชนิดที่ลงแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X