วานนี้ (16 กุมภาพันธ์) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ระบุใจความว่า การยกเว้นการรัดเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ
รถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ ให้บรรทุกคนโดยสารในที่นั่งตอนสองแถวได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้สำหรับรถแต่ละประเภทนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ บรรทุกคนโดยสารในตอนท้ายกระบะได้ไม่เกิน 6 คน รถกึ่งกระบะบรรทุกคนโดยสารในตอนพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (Space Cab) ได้ไม่เกิน 3 คน การโดยสารนั้นต้องไม่มีการยืนหรือนั่งโดยสารในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัย ดังนี้
รถนั่งสองแถว และรถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ ต้องจัดให้ผู้โดยสารปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ตลอดการโดยสาร นั่งโดยสารในที่นั่งที่กำหนดสำหรับรถประเภทนั้น ห้ามนั่งโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ห้ามนั่งบนอุปกรณ์ที่เพิ่มเติม นอกเหนือที่นั่งที่กำหนดไว้ ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร
รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ ต้องจัดให้ผู้โดยสารปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ตลอดการโดยสาร กรณีนั่งในบริเวณกระบะ ต้องปิดฝากระบะท้าย ห้ามนั่งริมขอบกระบะ ห้ามนั่งซ้อนผู้โดยสารอื่น หรือนั่งบนสิ่งของที่บรรทุกในรถ ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร
ในขณะที่มีการบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับขี่ต้องใช้อัตราความเร็วดังต่อไปนี้
- รถนั่งสองแถว ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถกระบะและรถกึ่งกระบะ กรณีที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายกระบะ ให้ใช้อัตรา ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้าย เว้นแต่ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวาง หรือถูกปิดการจราจร หรือจะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก หรือเมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ในวันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ. 2566
ระบุใจความว่า การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของคนโดยสารที่เป็นเด็ก อายุไม่เกิน 6 ปี คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร และผู้ขับขี่หรือคนโดยสารที่มีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และการโดยสาร
ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ต้องมีลักษณะและมาตรฐานดังต่อไปนี้
- ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถ ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ
ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย ต้องมีลักษณะและมาตรฐานดังต่อไปนี้
- ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat)
วิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีนั่งในที่นั่งพิเศษ ให้ถือปฏิบัติตามที่กำหนด ดังนี้
ต้องขับรถด้วยความเร็วช้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้าย เว้นแต่ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร หรือจะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก หรือเมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
- ต้องจัดให้เด็กนั้นนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง เว้นแต่เป็นรถกระบะหรือรถกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารที่นั่งตอนหน้าได้ ทั้งนี้ ห้ามมิให้นั่งตอนท้ายกระบะ
- ต้องจัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก
ในกรณีที่คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ปฏิบัติตามที่กำหนดดังนี้
- ต้องขับรถด้วยความเร็วช้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับให้ใกล้ ขอบทางเดินรถด้านซ้าย เว้นแต่ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร หรือจะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก หรือเมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
- ต้องจัดให้ผู้นั้นนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง เว้นแต่เป็นรถกระบะหรือรถกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารที่นั่งตอนหน้าได้ ทั้งนี้ ห้ามมิให้นั่งตอนท้ายกระบะ