×

สว. 67 : “ทุกฝ่ายต้องด้นสด” พิเชษฐ กลั่นชื่น กับเกมชิงเก้าอี้ สว.

09.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พิเชษฐนิยามตัวเองว่าเป็นนักตั้งคำถามกับวัฒนธรรมแบบประเพณี และมองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรผลิตซ้ำ แต่ควรสังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้
  • เขาตัดสินใจลงสมัคร สว. เพื่อ ‘ขีดเส้นให้อนาคตของตนเอง’ และใช้ตัวเองเป็นตัวชี้วัดว่ากติกาการเลือก สว. ครั้งนี้ สามารถคัดกรองคนที่มีคุณภาพได้จริงหรือไม่
  • พิเชษฐเปรียบการเลือก สว. ครั้งนี้ เหมือนการ Set and Improvisation คือมีโครงสร้างกว้างๆ แต่ทุกคนต้องด้นสดไปเรื่อยๆ เหมือนกัน ไม่เว้นแม้ฝ่ายที่เป็นผู้เขียนกติกาก็ต้องด้นสดไปพร้อมกัน

วงการศิลปะการแสดงได้เกิดเสียงฮือฮาขึ้นมา เมื่อ พิเชษฐ กลั่นชื่น ประกาศตัวว่าพร้อมลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ชุดใหม่ ในกลุ่มอาชีพศิลปะ วัฒนธรรมฯ

 

ไม่ต้องสงสัยว่าเขาเป็นศิลปินที่อยู่ในระดับแนวหน้าคนหนึ่ง การันตีความสามารถด้วยรางวัลจากทั้งในและนอกประเทศ แต่นั่นยังไม่เท่าตัวตนของเขา ในฐานะผู้ฝึกฝนนาฏศิลป์ไทยตามจารีตดั้งเดิม แต่ได้นำมาตีความใหม่ในรูปแบบศิลปะการแสดงร่วมสมัยอันโฉบเฉี่ยว

 

เขาเน้นย้ำเสมอว่า การอนุรักษ์วัฒนธรรมไม่ใช่การรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่คือการต่อยอดและเชื่อมโยงให้วัฒนธรรมมีชีวิตชีวาจากอดีตถึงปัจจุบัน และสร้างสรรค์สู่อนาคต

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น ให้สัมภาษณ์พิเศษ THE STANDARD

ที่โรงละครช้าง ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

แม้พิเชษฐจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ประกาศตัวลงแข่งขันในกติกาซับซ้อนที่สุดในโลก แต่น่าเสียดายที่เขามาพบภายหลังว่า ตัวเองขาดคุณสมบัติลงสมัคร เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเมื่อครั้งที่ผ่านมา

 

THE STANDARD ได้โอกาสเยี่ยมเยือนโรงละครช้าง ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่ ที่ซ้อม ที่แสดง ของพิเชษฐ เพื่อสนทนาถึงสาเหตุที่เขาตัดสินใจลงสมัคร สว. และช่วงนาทีอกหักเมื่อรู้ตัวว่าไม่ได้ไปต่อ ตลอดจนความคาดหวังของศิลปินคนนี้ ที่มีต่อการเมืองไทยและวุฒิสภาชุดใหม่

 

นิยามของ ‘พิเชษฐ กลั่นชื่น’

 

ผมเป็นนักค้นคว้า นักตั้งคำถาม นักขับเคลื่อนศิลปะไปสู่อนาคต ผมเติบโตมากับศิลปะแบบประเพณี ผมจึงตั้งคำถามกับประเพณีตลอดเวลา เพราะศิลปะแบบประเพณีเกิดขึ้นมาเมื่อ 500-700 ปีที่แล้ว

 

ผมทำหน้าที่เป็นแค่ผู้สืบทอดหรือผู้จดจำ แต่ผมไม่ใช่ผู้สร้าง แสดงว่าผมไม่มีความเข้าใจในจุดกำเนิดของมันอย่างจริงจัง ผมจึงต้องตั้งคำถามกับศิลปะ

 

และการตั้งคำถามกับศิลปวัฒนธรรมที่เป็นแบบประเพณีคือข้อต้องห้าม แต่ผมสนใจที่จะตั้งคำถามเพื่อพาไปสู่อนาคตให้ได้

 

ตราบใดที่โครงสร้างหลักของการเมืองการปกครองของเรา ยังให้ความสำคัญกับระบบอนุรักษนิยมแบบไร้เหตุผล สิ่งที่ผมต่อสู้มาก็ยังต้องสู้ต่อไป

 

ศิลปะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่เมื่อใด

 

มันไม่เคยแยกออกจากกัน เมื่อไรที่คุณบอกว่าเราจะต้องขึ้นภาษีของสีที่ใช้วาดรูป เรียบร้อย ก็เป็นการเมืองแล้ว เรายังคงมีทัศนคติว่าศิลปะคือศิลปะ การเมืองคือการเมือง ไม่ใช่การเมืองการปกครองครอบคลุมทั้งระบบของประเทศนี้ ถ้าบอกว่าศิลปะไม่เกี่ยวกับการเมือง คุณต้องยุบกระทรวงวัฒนธรรมเดี๋ยวนี้

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น บนลานแสดงในโรงละครช้าง

มีจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีอยู่ด้านหลัง

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมควรทำอะไรในสายตาพิเชษฐ

 

สิ่งแรกเลยคือต้องรับรู้ว่าวัฒนธรรมทำหน้าที่อะไรในสังคม วัฒนธรรมไม่ได้ทำหน้าที่ด้วยการเก็บเอาไว้เฉยๆ แต่วัฒนธรรมทำหน้าที่บันทึกสถานการณ์และประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานั้นๆ ไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำ คือผลิตซ้ำสิ่งที่ผลิตไว้แล้วเดิมเอามาวางไว้ใหม่ นี่คือปัญหา

 

อีกเรื่องคือเขาไม่ยอมวิเคราะห์และสังเคราะห์ชุดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมให้ออกมาเป็นความภาคภูมิใจ แต่ไปบังคับว่านี่คือวัฒนธรรม คุณต้องภาคภูมิใจ โดยไม่อธิบายว่าความภาคภูมิใจนั้นคืออะไร แต่ใช้คำว่า ‘มันคือสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้’

 

นี่ไม่ใช่ความรู้ นี่คือความภาคภูมิใจ คือเรื่องเล่า คือการบังคับ บังคับในฐานะที่ ‘คุณเกิดมาแล้ว คุณต้องยอมรับ’

 

ปัญหาของการเมืองไทยเวลานี้

 

ประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศที่เริ่มต้นด้วยประชาธิปไตย เราหยิบยืมเอาชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยมาจากประเทศต่างๆ เพื่อมาประกอบรวมเป็นเราได้เหมาะสมที่สุด

 

แต่เรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนไม่ได้ตระหนัก คือเราสร้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยยอมรับกติกาการปฏิวัติว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษ THE STANDARD

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

คุณคิดว่ามีประเทศไหนบ้างที่บ้าเลือดขนาดประเทศนี้ ที่การเมืองถึงทางตันแล้วมีคนไปถามทหารว่าจะปฏิวัติไหม แสดงว่าคุณยอมรับการปฏิวัติว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว เพราะมันเกิน 5 ครั้งแล้ว และเกือบจะทุกๆ 10 ปี

 

เท่ากับเรายอมรับกติกานี้เป็นส่วนหนึ่งของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว มันเป็นการสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ผิดปกติที่สุด

 

แล้วใครก็ตามที่เป็นสื่อ เมื่อไปถามทหารว่าจะปฏิวัติไหม คนนั้นต้องถูกจับแล้วเอาไปตรวจสอบเดี๋ยวนี้เลย เพราะคุณกำลังชี้นำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลยว่าต้องไม่มีเรื่องนี้ การปฏิวัติคือความผิด เป็นการล้มกระดานของระบอบการเมืองการปกครองทั้งหมด

 

เมื่อเรายอมรับกติกานี้เป็นส่วนหนึ่งของเรา เราจึงทำให้มันเกิดขึ้นอีกครั้งและอีกครั้ง ที่เรายอมรับมันเพราะคนที่ทำไม่เคยมีใครได้รับความผิดเลย แต่กลับได้อวยยศ เป็นที่ยอมรับในสังคมหลังจากนั้น เราบวกรวมเอาทฤษฎีของการปฏิวัติเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยของเราโดยไม่รู้ตัว

 

คำถามยอดฮิต สว. มีไว้ทำไม

 

ผมคิดว่าระบบ สว. ไทย คือการจับทฤษฎีจากอังกฤษมาวางไว้เพื่อไม่ให้ชนชั้นปกครองสูญเสียอำนาจ หลังจากนั้นก็ลองผิดลองถูกกันมาเรื่อยๆ

 

ลอง สว. แต่งตั้งมาทั้งหมด เขาก็ว่าเอา งั้นลองให้ประชาชนเลือก แต่อำนาจก็เสียอีก งั้นประนีประนอม ลองเลือกครึ่งไม่เลือกครึ่ง จะเห็นได้ว่ามีการลองทุกวิถีทาง

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษ THE STANDARD

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ผมจะสรุปง่ายๆ ว่าการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเรามันเด็กมาก เรายังลองผิดลองถูกกันอยู่ ถ้าเราเทียบกับการเมืองการปกครองของอังกฤษที่มันยาวนานมาในระบบประชาธิปไตย เราคือ 1 ใน 3 ของอังกฤษเท่านั้นเอง และกำลังพัฒนาอยู่

 

สำหรับการทำงานของพวกเราผู้สมัคร สว. ตอนนี้ เราก็กำลังลองผิดลองถูกกันอยู่ ผมคิดว่าคนที่พยายามจะกุมอำนาจเอาไว้ และพยายามจะเขียนกติกามา ส่วนใหญ่กติกาที่ผิดเพี้ยนจะเกิดจากคณะปฏิวัติทั้งหมดเลย เมื่อสร้างกติกาที่ไม่ตรงไปตรงมา คุณก็ต้องมานั่งแก้ใหม่ไปเรื่อยๆ ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขียนแบบไม่ตรงไปตรงมา

 

ผมพบว่ามันเป็นกติกาที่น่าสนใจ คำว่าน่าสนใจของผมคือมันประหลาด ไม่ได้แปลว่ามันดี คือเวลาเราจะเลือกใครสักคน เราจะเขียนคัดกรองเพื่อให้เราได้คนที่ต้องการ

 

แต่กติกาครั้งนี้เขียนเพื่อคัดกรองเอาคนที่ไม่ต้องการออกไปก่อน เอาคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับตัวเองออกไป

 

ยกตัวอย่าง อายุ 40 ปีขึ้นไปแสดงว่าต้องเป็นคนแก่เท่านั้น และกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวกับส่วนราชการมีถึง 7 กลุ่มอาชีพ จาก 20 กลุ่ม แสดงว่าเอื้อประโยชน์กับอำนาจเก่า เราเห็นวิธีการเขียนกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้กับอำนาจตัวเอง

 

แต่ที่ผมติดใจที่สุดคือ ค่าสมัคร 2,500 บาทนี่มาจากไหน งบประมาณที่จะไปใช้จัดการเลือก สว. ก็ไม่ใช่เพราะมีอยู่แล้ว แล้วค่าสมัคร 2,500 บาทนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย

 

พอเราเกิดมาเราได้สัญชาติเลย พอเราอายุ 18 ปีเราได้เลือกตั้งเลยทันที นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้ว 2,500 บาทนี่มาจากไหน เท่ากับว่าเรื่องนี้ขัดหลักการประชาธิปไตย

 

หากจะมีกติกาค่าสมัคร สว. ไว้ ต้องไปแก้กฎหมายว่าประชาชนชาวไทยทุกคนต้องมีเงินติดตัวมา 2,500 บาทตั้งแต่เกิด ถึงจะสมเหตุสมผล

 

พอเป็นแบบนี้จึงมีหลักการหนึ่งที่ถูกพูดถึง คือการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อให้ลึกลับซับซ้อนอย่างไร ถ้าเราอธิบายมันได้ แม้จะเป็นคำอธิบายที่ผิด มันก็เป็นการเมืองที่เราคุ้นเคย

 

แต่ถ้าเมื่อใดที่เราอธิบายมันไม่ได้เลย แปลว่ามันมีปัญหาแล้ว และการเลือก สว. ครั้งนี้มันคือกติกาที่เราอธิบายไม่ได้ เราจับหลักการ หาเหตุผลให้มันไม่ได้ แสดงว่าตัวกติกานี้ผิดปกติ

 

ตัดสินใจสมัคร สว. เพราะอะไร

 

เพราะว่าอนาคตเรายังต้องอยู่ใช้ชีวิตพรุ่งนี้ เรารู้ว่า สว. มีอำนาจในการบริหารจัดการบางอย่างที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญเลย แต่พอเรามองแล้วทั้งการเลือกองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ แสดงว่าคนกลุ่มนี้เอาจริงแล้วเป็นเหมือนกับเซียน กุนซือที่นั่งในที่ลับๆ และชี้นิ้วได้ว่าเอาอย่างไร ไปทางไหนต่อ พอดูๆ แล้วก็เห็นว่าสำคัญมาก

 

ผมมองว่านี่คือการขีดเส้นให้อนาคต เพราะต้องมีคนผ่านร่างกฎหมายอีก ผมเลือก สส. มาด้วยความไว้วางใจแล้วให้ไปแก้กฎหมายต่างๆ พอผ่านไป สว. กลับไม่เห็นชอบ จบเลย เออว่ะ มันคือคนเซ็นชื่อเลย

 

และอีกอย่าง สถานการณ์ที่ผ่านมา ทั้งเยาวชนทุกคนที่ออกไปประท้วง ผมมีลูกสาว ผมไม่ต้องการให้ลูกสาวผมลงถนน ผมไม่ต้องให้ลูกสาวผมต้องไปใช้ชีวิตบนถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิและอนาคตของเขา ผมในฐานะพ่อ ผมต้องทำ

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น กำลังลงคะแนนในกิจกรรมจำลองการเลือก สว.

ที่เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดขึ้น

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

นอกจากนี้ พอผมเห็นแล้วว่ากติกานี้ไม่สมบูรณ์ คำถามของผมคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เราได้ไปเป็นคนที่มีคุณภาพ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเอาตัวเราเองไปเป็นตัวชี้วัด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคนทำงานศิลปะมีใครบ้าง ถ้าคนที่ได้เราเห็นว่าเป็นคนทำงานเก่ง มีชื่อเสียง แบบนั้นโอเค ทฤษฎีที่กำลังเขียนกันอยู่ถือว่าใช้ได้

 

แต่ถ้าคนที่ได้แม่งเป็นใครวะ มึงเคยทำงานศิลปะอะไรมาบ้าง เมื่อเทียบกับอีกคนหนึ่งที่กระเด็นไป แปลว่ากติกานี้ไม่ได้ผล ครั้งหน้าต้องลบทิ้ง นี่คือเหตุผลที่ผมเข้าไป ให้มีตัวที่เป็นบรรทัดฐานว่ากติกาในการเลือก สว. ครั้งนี้ดีหรือไม่ดี

 

“ศิลปินไม่ควรลงไปยุ่งกับการเมือง?”

 

ผมขอโทษนะ แต่วิธีการคิดแบบนี้มันเป็นศิลปินแบบยุคพันปีที่แล้ว ยุคที่มันไม่ต้องทำอะไร มันอยู่ในวัด หลวงพ่อเอาข้าวมาให้กิน แล้วมันก็วาดจิตรกรรมฝาผนังอยู่โดยไม่ต้องมาเจอใคร

 

แต่บริบทสังคมเปลี่ยน คุณอย่ายกความเป็นศิลปินของคุณว่ายิ่งใหญ่เหลือเกินจนเข้ามายุ่งกับเรื่องการเมืองไม่ได้ ทัศนคติแบบนี้มันโบราณ

 

อย่างไรคุณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในสังคม คุณต้องจ่ายภาษี คุณต้องขึ้นรถไฟฟ้า คุณจะตัดมันออกได้อย่างไร

 

‘ศิลปิน’ ใน สว. ชุดปัจจุบัน ถือเป็นตัวแทนที่ดีหรือไม่

 

เขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่เขาทำหน้าที่เป็นภาพลักษณ์ ว่ามีมนุษย์ประเภทหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าศิลปินอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เอามาเติมให้ครบองค์ประกอบ

 

บรรดาศิลปินที่ลงแข่งขันครั้งนี้

 

ผมมองว่าพวกเรานี่ก็เป็นคนดีกันมาก (ลากเสียงยาว) มากเลย คือเราก็รู้อยู่ว่ากติกานี้เขียนมาโดยใคร แล้วมันผิดเพี้ยนขนาดไหน เราก็ยังทำตัวเป็นคนดี จะเล่นตามกฎ เดินตามกติกา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหา

 

ไม่เป็นไร มึงจะเขียนอะไรมาก็ตาม เดี๋ยวกูเข้าไปตามกติกาทุกอย่าง

 

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น ยืนอยู่ข้างหัวโขน

ที่หล่อด้วยต้นแบบจากใบหน้าของเขาเอง

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ทุกคนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตข้างหน้า แต่ผมคิดว่าทุกคนกำลังทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้คุณจะสร้างกติกาที่บ้าบอขนาดไหนก็ตาม ความเป็นประชาธิปไตยของเรา และการเคารพกติกาของเรา เราก็จะทำ ผมว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดตอนนี้

 

เมื่อรู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติ

 

ผมไปออกรายการกับ ปิงปอง-ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ จากนั้นก็มีน้องคนหนึ่งมาจาก iLaw หัวข้อรายการคือ คุณสมบัติของคนที่จะลงสมัคร สว. และระเบียบที่ว่าหากไม่ได้ไปเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะถูกตัดสิทธิด้วย

 

ผมก็ เฮ้ย ใจเสียนิดหนึ่งระหว่างรายการเลย ผมฉุกคิดขึ้นมาในใจว่าตอนนั้นผมติดงานอยู่ที่เยอรมนี แล้วผมก็ไม่ได้กลับมาเลือกตั้ง ตอนแรกผมคิดว่าจะกลับมาได้ พอเช็กคุณสมบัติในเว็บไซต์ก็แสดงผลว่าคุณไม่ได้ไปเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จึงถูกตัดสิทธิ ปิงปองก็โดนด้วยเหมือนกัน

 

ผมแม่งเสียใจว่ะ ผมรู้สึกอกหัก ผมโทษตัวเองด้วยว่าทำไมเราถึงพลาดตรงนั้น เรื่องนี้ผมบอกเลยว่าผมเสียใจมาก และโทษตัวเองด้วยว่าไม่ควรจะเกิดขึ้น

 

แต่ผมก็มองว่าส่วนหนึ่งก็เป็นการทำให้เกิดกระแสขึ้นในระหว่างที่ผมไปออกงานต่างๆ หรือลงชื่อใน senate67.com หรือร่วมแจมกับกลุ่มต่างๆ ก็ทำให้เกิดกระแสขึ้น หรือทำให้คนรู้สึกสนใจกับประเด็นการเลือก สว. ขึ้นมา

 

เกมที่ทุกฝ่ายต้องด้นสด

 

สำหรับผม ผมพยายามเปรียบเทียบกติกาครั้งนี้กับศิลปะ ผมเรียกมันว่า Set and Improvisation คือการวางโครงสร้างหลักๆ แต่ข้างในเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ไปด้นสดกันต่อโดยมีคนนั่งบริหารอยู่ด้านนอก คือคนที่เขียนกติกา คอยตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ และให้คำปรึกษา แต่เขาก็ไม่ได้รู้ทั้งหมดเพราะว่าเขาก็กำลังด้นสดกันอยู่เหมือนกัน

 

ในเวลาเดียวกัน ฝั่งประชาธิปไตยเอง ผมใช้คำนี้อีกแล้ว ก็แก้เกมอยู่ ไปฟ้องศาลปกครองให้แก้ระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ก็ได้มา ฝั่งนั้นก็ต้องนั่งกันอยู่ในที่มืดว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ นี่คือเกมที่ต้องดีลกันอย่างหนักมากว่าต้องเอาอย่างไร

 

คนที่เขียนกติกาและคนที่สั่งให้เขียนกติกา มีแค่เพียงจินตนาการเท่านั้นว่า มันน่าจะออกไปในทางที่เขาต้องการ แต่พอเริ่มกระบวนการจริง คนเริ่มตื่นตัว เขาก็แก้เกมเป็นลำดับ ตัวเขาเองก็ด้นสดอยู่กับเราในกติกานี้

 

ผมก็ยังมีความเชื่อไปจนถึงว่า ส่วนตัวนะ สว. ชุดนี้ที่กำลังจะเลือกกันอาจไม่ประสบความสำเร็จ เราจะเห็นว่าต่อไปจะเจอข้อผิดพลาดในระหว่างทางตลอดเวลา มีการฟ้องร้องกัน ทำให้ล่าช้าไปเรื่อยๆ เพราะด้วยกติกานี้ไม่เคยถูกสร้างมาก่อน จึงมีความไม่คงที่อยู่สูงมากกับการที่จะได้ สว. ชุดใหม่มา

 

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น ยืนอยู่ด้านหน้างานศิลปะ

ในพื้นที่แสดงของโรงละครช้าง

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ถ้าได้ สว. ชุดใหม่มาจากกติกานี้ ผมเรียกมันว่าจะเป็น สว. แบบคละไซส์ เหมือนผลไม้แบบคละไซส์ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เอามารวมกันแล้วราคาจะถูกลง พอเป็น สว. คละไซส์ก็จะขาดความแข็งแรงในการบริหารจัดการอำนาจของ สว.

 

ผมมองด้วยว่าในเกมที่ไกลกว่านั้นอีก อาจมีการตัดสินใจว่า ในเมื่อวุฒิสภาเป็นปัญหาก็ยกเลิกเลย ไม่ต้องมี สว. อีกเลยต่อจากนี้ หรือไม่ก็กลับไปเหมือนเดิม คือพอเห็นว่าเลือกกันเองแบบนี้มีปัญหาก็แต่งตั้งให้หมดเลย นี่คือสิ่งที่เขาจะฉกฉวยสถานการณ์แล้วต่อยอดไปได้ตลอดเวลา

 

ความคาดหวังต่อการเลือก สว.

 

คนที่ลงสมัคร สว. เข้าไปเท่าที่ผมติดตามอยู่ จะเห็นว่ามีความซับซ้อนและมึนงงกับวิธีการเลือกอย่างมาก ประเด็นสำคัญสุดคือผมอยากให้ทุกคนต้องใจเย็นๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ไปตามกติกา

 

จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ลงสมัครด้วยเจตนาและความบริสุทธิ์ใจ ผมอยากจะบอกว่าถ้าเป็นคนกลุ่มนี้ใครชนะก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเอาคนอื่นก็ได้ แต่ให้มีจิตวิญญาณเดียวกับเรา เขาก็จะเข้าไปทำหน้าที่

 

แต่ระบบเลือก สว. ครั้งนี้มีความประหลาดอยู่ คือในการเลือกต้องมีผู้เลือกและผู้ถูกเลือก แต่อันนี้ผู้เลือกก็คือคนที่ถูกเลือก คนที่ถูกเลือกก็เป็นผู้เลือก เท่ากับว่าทั้ง 2 คนที่เลือกกันไปมาต่างเป็นศัตรูกัน

 

แล้วความเป็นอิสระและความเป็นปัจเจกของคนที่ได้เป็น สว. ในเมื่อคุณไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว คุณจะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ ใครจะมาซื้อคุณก็ได้ เพราะประชาชนไม่ได้เอาคุณเข้ามา แถมคุณก็ไปต่อสู้มากับไอ้พวกที่ก็ไม่เอาคุณ ก็จะเกิดความเห็นแก่ตัวได้ง่าย

 

สมัยก่อนคณะปฏิวัติไปเลือก สว. มา สว. ยังเกรงใจคณะปฏิวัติ แต่ครั้งนี้ไม่มีอะไรเลย 2,500 บาทก็เงินของกูเองด้วย กูจะเข้าไปเอาเงินเดือนจริงไหม ดังนั้นถ้าเราได้คนที่ไม่ได้มีจิตวิญญาณจริงๆ มาเป็น สว. ก็เละ ใครซื้อก็ได้ ให้ไปไหนก็เอา

 

 

 

พิเชษฐ กลั่นชื่น นั่งบนเก้าอี้ไม้ในโรงละครช้าง

ซึ่งซ่อมแซมจากเก้าอี้เก่าในโรงภาพยนตร์เมียนมา

ภาพ: ฐานิส สุดโต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising