×

พิจารณ์ อัดประยุทธ์ เสนอญัตติเพื่อฟอกขาวตัวเอง ขอยุติดำเนินคดีประชาชน วอนพรรคร่วมถอนตัว

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2020
  • LOADING...
พิจารณ์ อัดประยุทธ์ พรรคก้าวไกล

วันนี้ (26 ตุลาคม) ที่รัฐสภา พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ร่วมอภิปรายในญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชแผ่นดิน โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพยายามมาตลอดเพื่อขอให้มีการเปิดประชุม เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันและตรวจสอบการใช้กฎหมายและอำนาจของรัฐบาล ว่าเหมาะสมเป็นไปตามสัดส่วนหรือไม่ คาดหวังว่าจะมีการบรรจุวาระเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปเช่นนั้น และสำหรับการประชุมวิสามัญในวันนี้ ทาง ครม. เป็นผู้ขอเปิดประชุม ซึ่งเมื่อตนไปอ่านในญัตติก็พบว่าเต็มไปด้วยข้อความที่ไม่นำไปสู่ทางออก แต่กลับบอกเล่าข้อเท็จจริงที่บิดเบือน กลบเกลื่อนความผิด พยายามให้ร้ายต่อนักเรียนนักศึกษาประชาชนที่เห็นต่าง มีข้อความที่โยนความผิดแก่ผู้ชุมนุมโดยไม่ได้คำนึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี

 

พิจารณ์กล่าวว่า ญัตติระบุว่าการชุมนุมส่งผลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่าการชุมนุมไม่ว่าของกลุ่มใด หรือแม้กระทั่งการรวมตัวกันรับขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ไม่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรค การชุมนุมที่ผ่านมาในทั้ง 44 จังหวัดยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการไปชุมนุมแม้แต่คนเดียว และในเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจนั้นจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนในประเทศและนานาประเทศต้องเชื่อมั่นว่าความขัดแย้งได้ถูกแก้ไขแล้ว ไม่ใช่สงบลงแบบจอมปลอมเพราะการใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ตราบใดที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างไรก็ต้องลดลง และข้อต่อมา การที่นายกรัฐมนตรีให้เหตุผลถึงการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยระบุถึงการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลว่าอาจมีความต่อเนื่องในวันต่อๆ ไป เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะผู้ชุมนุมประกาศชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมในเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

 

พิจารณ์กล่าวว่า ส่วนเหตุผลว่ามีการขัดขวางและหยุดขบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ในการถวายอารักขาให้ขบวนไม่ผ่านในเส้นทางพิพาท และผู้ชุมนุมก็ได้เคลื่อนย้ายมวลชนเพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินที่ได้มีการออกหมายกำหนดการมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่จากที่ระบุในญัตติ รัฐบาลไม่ได้สำนึกถึงความผิดพลาดในการถวายอารักขาของตนเอง แต่โยนความผิดให้กับประชาชน นำไปสู่การดำเนินคดีมาตรา 110 ที่มีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต จนเป็นการเติมเชื้อไฟความรุนแรงและความรู้สึกอยุติธรมให้เกิดขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังอาศัยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล และเป็นการสร้างความเกลียดชังให้ผู้ชุมนุมมีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และญัตติยังระบุไว้ด้วยว่า รัฐบาลได้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมบางเรื่องแล้ว ซึ่งตนขอตั้งคำถามให้นายกรัฐมนตรีช่วยกรุณาตอบชัดๆ ว่า ที่ดำเนินการไปแล้วมีเรื่องใดบ้าง ความคืบหน้าเป็นอย่างไร

 

“การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีเจตนาเพื่อปัดความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่ท่านเป็นศูนย์กลางของปัญหา และกำลังใช้เวทีสภาแห่งนี้เพื่อฟอกขาวตนเอง เพื่อกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อปกปิดความผิดและปกป้องความล้มเหลวของตัวเอง แทนที่จะเป็นการหาทางออกของประเทศ ดังนั้น ท่านต้องทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมเสียใหม่ ถ้ายังอยู่บนฐานคิดว่าประชาชน, เยาวชน, นักเรียน, นักศึกษาเหล่านี้สามารถที่จะมีใครมาชักนำได้ ท่านคิดผิด เยาวชนเหล่านี้ เด็กรุ่นนี้ฉลาดเกินกว่าที่ใครจะมาชี้นำ มิเช่นนั้นแล้วค่านิยม 12 ประการที่ท่านเพียรใส่เข้าไปในสมองของพวกเขาเหล่านั้นมันคงจะอยู่ตรงนั้นไปแล้ว” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแม้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพูดถึงความไม่ชอบธรรม ต้องเรียนว่าตนไม่พบองค์ประกอบในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 9 และ 11 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเลย ที่ระบุว่าต้องมีการก่อการร้าย การประทุษร้าย หรือมีเหตุที่เชื่อได้ว่าจะกระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล รัฐบาลมักใช้คำว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ บ่อยครั้ง แต่ท่านต้องเข้าใจด้วยว่าความมั่นคงของรัฐไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล จะออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาลไม่ได้ ประกาศฉบับนี้ยังสร้างความกังวลต่อนานาชาติ จนโฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังออกมาแสดงความกังวลว่าขัดต่อหลักการการรับรองสิทธิในระดับสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ และหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เคยแสดงความเห็นคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตนจึงอยากให้ พล.อ. ประยุทธ์ ในวันนั้นนั่งไทม์แมชชีนมาบอก พล.อ. ประยุทธ์ ในวันนี้ ให้หยุดคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายพิเศษเสียที

 

“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 6 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะชอบธรรมหรือไม่ เป็นที่ชัดเจนว่าได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ก่อนที่นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ในรอบนี้ไม่มีสถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเลย หลายเดือนที่ผ่านมาการชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ กฎหมายที่มีอยู่เดิมสามารถใช้ควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยปกติเรียบร้อยได้ ดังนั้น ผมเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ท่านบอกว่าถอยคนละก้าว แต่ท่านก้าวเกินมาแล้วสามก้าว ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่เท่ากับเพิกถอน ผมเรียกร้องให้ท่านเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปล่อยตัว และยุติการดำเนินคดีทุกข้อกล่าวหาต่อประชาชนทั้งหมดที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก”

 

พิจารณ์กล่าวว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ตนกำลังจะเรียนว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนที่เสพติดอำนาจ ใช้อำนาจพิเศษมาตลอดตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร มีการใช้อำนาจมาตรา 44 มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งเอง เมื่อมาสมัยรัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้น แทบจะบริหารประเทศไม่ได้ พอเกิดโรคระบาดก็ใช้โอกาสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พอมีการประท้วงก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นี่คือพฤติกรรมที่ลุแก่อำนาจและเสพติดอำนาจโดยแท้ และถ้าจะพูดถึงเหตุผลที่ประชาชน, เยาวชน, นักเรียน, นิสิต, นักศึกษาออกมาชุมนุมกันในวันนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ล้วนแล้วแต่บิดเบี้ยว บิดเบือน ไม่ตอบสนองความยุติธรรมในสังคม ไม่ตอบสนองต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ที่นายกรัฐมนตรีถามว่าตัวเองผิดอะไร ท่านไม่ควรจะถามคำถามนี้เสียด้วยซ้ำ เพราะความแตกแยก, ยากจน, สิ้นหวัง, ลำบากของประชาชนในห้วงเวลานี้คือคำตอบที่ชัดเจน ทางออกของประเทศต้องเริ่มจากการที่นายกรัฐมนตรีต้องยอมรับว่าตัวเองคือต้นตอของปัญหา

 

“คนเราทำงานมากยิ่งผิดมาก เป็นเรื่องปกติ แต่ความผิดที่ร้ายแรงและน่าห่วงที่สุดคือการไม่รู้ตัวว่าทำผิด นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะยอมรับความจริง, สำรวจ, แก้ไข และพัฒนาสิ่งที่ทำผิดพลาดไป พล.อ. ประยุทธ์ มีความผิดทั้งในพฤติกรรมส่วนตัว ลุแก่อำนาจ พูดจาคุกคามประชาชน ในด้านการบริหารจัดการกับโรคระบาดโดยเสียสมดุลระหว่างด้านสาธารณสุขกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายผิดในฐานะเป็นผู้สร้างและกอบโกยจากสิ่งที่เรียกว่าระบอบประยุทธ์ ตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจโดยการรัฐประหาร จนวันนี้ระบอบประยุทธ์เต็มไปด้วยการครอบงำ แทรกแซงองค์กรอิสระ ใช้อำนาจพิเศษที่ไร้การตรวจสอบ ไม่มีการรับผิดรับชอบ และยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างอย่างไม่หยุดหย่อน” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องทบทวนท่าทีในการร่วมรัฐบาล ระบอบประยุทธ์จะไปต่อไม่ได้ หากไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในนั้น ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องหยุดเอาความจงรักภักดีมากอดไว้กับตัวเอง หยุดผูกมัดสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้กับปัญหาที่ตัวท่านเองเป็นผู้ก่อ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจและปกปิดความล้มเหลวของท่าน วันนี้ตนหวังว่าเราจะพบทางออก เพราะประชาชนต้องการความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย เขาไม่ต้องการเป็นผู้ถูกปกครองที่ยอมจำนนต่ออำนาจพิเศษของ พล.อ. ประยุทธ์ ท่านหยุดสะกดจิตตัวเองได้แล้วว่า ‘ผมไม่ผิด’ แล้วยอมลาออกได้แล้ว เปิดทางให้คนที่เห็นคนเท่าเทียมกันเข้ามาเป็นผู้นำในการพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่ทางออกที่สังคมมีฉันทามติร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจให้แก่ประชาชน 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X