รมว.คลัง หวัง กนง. ลดดอกเบี้ยในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพิ่มแรงส่งและปลุกความร้อนแรงให้เศรษฐกิจในช่วงที่ GDP เริ่มขยับเพิ่มขึ้น แจงข้อดีของการลดดอกเบี้ยช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า หนุนส่งออก พร้อมวอนแบงก์ชาติผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ด้วย ยืดหยุ่นการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เผยเล็งเพิ่มมาตรการแก้หนี้ช่วยปรับโครงสร้างได้ดีขึ้น
วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ว่า ทุกประเทศตอนนี้เรื่องของการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของการพิจารณาจากเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อของประเทศไทยถือว่าต่ำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากสามารถเพิ่มความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้บ้างก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า นอกจากการลดดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้แล้วจะช่วยเรื่องการส่งออกด้วย เนื่องจากการที่ค่าเงินที่อ่อนลงจะเป็นประโยชน์กับประเทศส่งออก โดยในขณะนี้ค่าเงินถือว่ายังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูย้อนหลังไปก็จะเห็นว่าแนวโน้มค่าเงินของเราแข็งขึ้น ซึ่งค่าของเงินเป็นผลลัพธ์ของมาตรการต่างๆ และเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขัน
การกล่าวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X โดยระบุว่า ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดภาระให้ประชาชน และขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนและเอกชน โดยเฉพาะ SMEs นำเงินไปลงทุนได้
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. กำลังได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ว่า แนะนำว่าให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง เพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ และปรับปรุงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ (Debt-Servicing Capacity) เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงจำกัดที่การกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งท่ามกลางการให้สินเชื่อที่เข้มงวด
วอนแบงก์ชาติผ่อนคลายเกณฑ์ LTV
พิชัยกล่าวอีกว่า ในเรื่องของอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ตนก็พยายามขอให้มีการผ่อนคลายมาตรการเช่นกัน ซึ่งคิดว่า ธปท. ก็มีข้อมูลเหล่านี้หมดแล้ว น่าจะมีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพิจารณาด้วย
พร้อมเผยอีกว่าได้หารือกับ ธปท. และสถาบันการเงินเพิ่มเติมเรื่องของการเพิ่มมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนและการปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีบางเรื่องที่สามารถที่ปรับโครงสร้างได้อัตโนมัติ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายในการทำงานที่สำคัญของรัฐบาล
“เรื่องของการแก้หนี้มีอยู่หลายล้านบัญชี ซึ่งในขณะนี้ก็ต้องดูว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้ อาจเป็นการลดเลยได้หรือไม่ เพราะลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยมากๆ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร การปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนนี้เป็นเรื่องวิธีการในการจะปรับแต่หลักการยังเหมือนเดิม” พิชัยกล่าว