พิชัยสั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ลดดอกเบี้ย อุ้มภาคธุรกิจได้รับผลกระทบภาษีทรัมป์ พร้อมสั่งออมสิน ออกสินเชื่อ Soft Loan อีก 100,000 ล้านบาท เผยเตรียมถกแบงก์พาณิชย์-แบงก์ชาติให้ออกมาตรการช่วยเหลือที่ใกล้เคียงกัน เหตุประเมินว่า ผลกระทบจะทำให้เศรษฐกิจไทย ‘สะดุด’ อย่างน้อย 2 ปี
วันนี้ (15 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีศุลกากรและการค้าสหรัฐฯ เนื่องจาก ประเมินว่า ผลกระทบครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทย ‘สะดุด’ อย่างน้อย 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คำว่า ‘สะดุด’ หมายความว่า ห่วงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เลยหรือไม่ พิชัยตอบว่า อย่าเพิ่งไปเดาอย่างนั้นเลย ไม่มีผู้รู้คนไหนจะเดาได้ แต่เราต้องตื่นตัวให้มากที่สุด
โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่งที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการสินเชื่อ Soft Loan นี้แตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่
- ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา
- ธุรกิจ Supply Chain
- ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม
โดยเบื้องต้น วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อ Soft Loan ใหม่นี้ คือ การเอางบดุลของออมสินมาปล่อยสินเชื่อให้กับแบงก์พาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อให้แบงก์พาณิชย์ไปปล่อยต่อ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่แบงก์พาณิชย์จะปล่อยต่อได้คาดว่า จะใกล้เคียงกับโครงการสินเชื่อ Soft Loan ก่อนหน้านี้ คือไม่เกิน 3.5%
นอกจากนี้สถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น โดยมาตรการเหล่านี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
อย่างไรก็ดี พิชัยยืนยันว่า มาตรการเหล่านี้ จะไม่ทำให้กำไรของแบงก์รัฐลดลงในระดับที่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของแบงก์ เนื่องจากความแข็งแรงของแบงก์รัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เตรียมหารือแบงก์พาณิชย์-แบงก์ชาติ ให้ออกความช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนี้พิชัยยังเปิดเผยว่า เตรียมหาโอกาสหารือกับแบงก์พาณิชย์เอกชนและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับความช่วยเหลือจากแบงก์รัฐ
โดยกล่าวว่า “แบงก์พาณิชย์ไทย 5 อันดับแรกใหญ่เบ้อเร่อเลย โดยวิธีการที่แบงก์พาณิชย์สามารถช่วยได้ก็คงคล้ายๆ กับที่แบงก์รัฐจะช่วย แต่ถามว่า แบงก์พาณิชย์ทำได้หรือไม่ ผมมองว่า น่าจะทำได้ ด้วยเหตุผลคือ แบงก์เอกชน 5 รายแรกใหญ่กว่าแบงก์ออมสิน และแบงก์ออมสินนี้ยังช่วยได้เยอะเลย เหตุผลข้อที่ 2 คือ แบงก์พาณิชย์แข็งแรง คนแข็งแรงก็ต้องมีแรงช่วยได้เยอะ”